ชื่อ SCB 10X (เอสซีบี เท็นเอกซ์) อาจจะไม่ใช่ชื่อใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะย้อนกลับไปเมื่อราว 2 ปีก่อน เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศใช้นโยบาย ‘กลับหัวตีลังกา’ ในการผ่าตัดองค์กรใหญ่อีกครั้งเพื่อยกระดับความสามารถในการทรานสฟอร์มองค์กรให้เข้มข้นมากขึ้น ก็ปรากฎชื่อของทีม 10X ในฐานะกองรบสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน SCB ให้รอดพ้นจากกระแส Disruption ที่กำลังถาโถมเข้ามาในธุรกิจธนาคารอย่างรอบด้าน และสามารถนำพาทั้งองคาพยพให้ขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย
แต่ในวันนี้ 10X กลับมาอีกครั้ง จากที่เคยเดบิวต์เป็น Business Unit ของธนาคาร เติบโตมาสู่การเป็นอีกหนึ่งบริษัทลูกที่ธนาคารถือหุ้นทั้ง 100% ภายใต้ชื่อ SCB 10X ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และมาพร้อมภารกิจสำคัญคือ Moonshot Mission หรือการสร้างเครื่องยนต์ใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนให้กับ SCB ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร หรือโครงสร้างการบริหารงานแบบที่เคยทำมา แต่ถือเป็น New Paradigm ของธุรกิจธนาคาร เพราะเปลี่ยนไปถึงวิธีคิดของคนในสายงานธนาคารที่แตกต่างจากระบบวิธีคิดเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง
สร้างกันชน Disruption ให้ธนาคาร
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB พร้อมตำแหน่งใหม่ล่าสุดในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ให้ข้อมูลถึงการตั้ง SCB 10X เป็นอีกหนึ่งบริษัทย่อยของธนาคาร เพื่อความคล่องตัวในการหาโอกาสหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดดและในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับความท้าทายที่อยู่รอบด้าน
โดยเฉพาะการทดลองรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างไปจากวิถีเดิมๆ ที่ธนาคารเคยทำมา ซึ่งแน่นอนว่าการทดลองสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ย่อมมาพร้อมความเสี่ยง โอกาสที่จะล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จก็มีอยู่สูงตามวิถีของสตาร์ทอัพ ซึ่งต่างไปจากคัลเจอร์ของธนาคาร โดยเฉพาะองค์กรใหญ่อย่าง SCB ที่มีอายุกว่า 110 ปี หากต้องลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงจนส่งผลกระทบต่อรายได้ ค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นและความคาดหวังต่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อธุรกิจย่อมไม่เป็นผลดี การแยก BU ที่ต้องทดลองสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นนี้ มาเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่แยกตัวเลขทางบัญชีออกไปจาก SCB อย่างชัดเจน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
“การตั้ง SCB 10X เป็นการดึงความเสี่ยงจากการถูก Disruptions ออกมาจากแบงก์ให้มาอยู่ที่ SCB 10X เพราะการสร้างมูนช็อต หรือการมองหานวัตกรรมอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สามารถดิสรัปในธุรกิจได้นั้น จะต้องก้าวข้ามช่วงเริ่มต้นที่ต้องแบกภาระการขาดทุนไปในระยะหนึ่ง เพื่อแลกกับการสะสมฐานลูกค้า การพัฒนาเทคโนโลยี หรือการสร้างความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจต่างๆ จนกว่าจะสามารถระดมทุนและเติบโตได้ ซึ่งภารกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่แบงก์ไม่สามารถทำได้ และเป็นหน้าที่ของ SCB 10X ที่จะเข้ามาสนับสนุนบรรดาสตาร์ทอัพ หรือกลุ่มทาเลนท์ต่างๆ ให้สามารถก้าวข้ามพีเรียดเหล่านี้ จนสามารถไประดมทุนจาก Public Venture ในสเตปต่อไป ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และกลายมาเป็นกำลังเสริมความแข็งแรงใน Ecosystem ของ Core Business ในส่วนของธุรกิจธนาคารที่เป็น Holding Company ดังนั้น หากในอนาคตแม้จะเกิดการดิสรัปในธุรกิจธนาคารขึ้น ก็ยังมีธุรกิจอื่นๆ ใน Ecosystem ที่เข้ามาช่วยพยุงให้ธนาคารยังยืนหยัดต่อไปได้”
ภารกิจเพิ่ม “ยานแม่” ใน Ecosystem
SCB 10X มาพร้อมกระสุนจากยานแม่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อใช้ในการสร้างยานบริวารลำใหม่ให้เข้ามาอยู่ในวงโคจรเบื้องต้น 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 3 ปี นับจากนี้ โดยภารกิจที่ต้องทำคือ การเข้าไปสนับสนุนหรือเป็น Holding Company ในธุรกิจที่อยู่ช่วงเริ่มต้น หรือกลุ่ม Seed ที่มีโอกาสขยับสเตทของการทดลอง หรือ Experiment ไปสู่ Exponential หรือการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งสามารถแยกตัวออกไปเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แข็งแรง และสามารถระดมทุนจาก Public Venture ในอนาคตต่อได้ โดยมีเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การปั้นยูนิคอร์นไทยตัวแรกได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งหากไปถึงจุดนั้น อาจจะเพิ่มธุรกิจใน Ecosystem ที่มีขนาดธุรกิจหรือ Market Cap เทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าขนาดธุรกิจของแบงก์ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นไปได้
หากไปถึงจุดนั้นได้ เท่ากับว่าใน SCB Universe จะมี “ยานแม่” ลำใหม่ เกิดขึ้น พร้อมด้วยยานบริวารลำใหม่ๆ อีกหลากหลายลำ เกิดขึ้นภายใน Ecosystem ซึ่งคอนเซ็ปต์ในการสร้างยานลำใหม่ๆ ของ SCB 10X ไม่ได้เน้นการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อให้ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งขยายสเกลได้อย่างรวดเร็ว แต่จะเน้นกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ธุรกิจที่มีโอกาส ในรูปแบบ Venture Builder หรือการลงทุนร่วมสร้าง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยกับสเกลธุรกิจขนาดใหญ่เช่นนี้
ที่สำคัญความแตกต่างจาก Venture Capital ทั่วไป อยู่ที่การสนับสนุนมากกว่าแค่ในรูปแบบของเงินทุน เพราะ SCB 10X ยังมาพร้อมฐานลูกค้าจากธุรกิจธนาคารกว่า 16 ล้านราย และอีกกว่า 10 ล้านราย ที่เป็น Digital Customers รวมทั้ง Network และระบบหลังบ้านต่างๆ ที่จำเป็นในการทำธุรกิจ ทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสรอด และลดเวลาเพื่อขยับสเตปการเติบโตไปสู่การระดมทุน หรือไปสู่การเป็น Listed Company ในอนาคตได้เร็วมากขึ้นด้วย
“เกมที่ SCB 10X กำลังเดิน ถือเป็นโมเดลเดียวกับ Global Company หลายๆ ราย เช่น กลุ่มผิงอัน ในธุรกิจประกัน ที่แม้รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจาก Core Business ที่ทำอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่เติบโตจนเป็นยูนิคอร์นอยู่ใน Ecosystem ด้วย ดังนั้นในอนาคต แม้จะเกิดดิสรัปชั่นกับธุรกิจหลักแต่ภาพรวมของธุรกิจก็ยังไปต่อได้ เช่นเดียวกันอเมซอนที่เติบโตจากธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ มาสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และขยายมายัง Cloud Computing เพื่อการเติบโตในอนาคต ขณะที่ใน Pipeline ของ SCB 10X ก็มีธุรกิจที่มีโอกาสขยับสเตทในการเติบโตไปจนถึงขั้นระดมทุนจาก Public ในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน”
โอกาสจาก 3 Pillars
ดร. อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB 10X และผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า การทำธุรกิจธนาคารในปัจจุบันแวดล้อมด้วยความผันผวนที่เข้ามาลดทอนความสามารถในการทำธุรกิจให้ยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะการเผชิญกับ Technology Disruption ทำให้จำเป็นต้องมองหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ หรือขยับไปทำในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่การเป็นคนแรกที่ทำได้สำเร็จ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้าง Exponential Growth ให้กับธุรกิจได้เช่นกัน และถือเป็นภารกิจสำคัญของ SCB 10X
ขณะที่แนวทางในการสร้างการเติบโตของ SCB 10X มี 3 Pillars สำคัญ คือ
1. Venture Builder (VB) หรือการลงทุนร่วมสร้าง Tech Startup ที่เป็นเรื่องใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมธนาคารเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนไอเดีย หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่มีอนาคต ทั้งการสนับสนุนกลุ่ม Talent ทีม เทคโนโลยี การแนะนำธุกิจสู่ตลาด รวมทั้งแชร์เซอร์วิสต่างๆ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจโฟกัสการทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ และเมื่อโปรเจ็กต์สำเร็จ เจ้าของไอเดียก็จะมีโอกาสในการเป็น Fouder หรือ Share Ownership ในธุรกิจด้วย
2. Strategic Invest หรือ Partnership สำหรับการทำ JV กับธุรกิจกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งมุ่งหาโอกาสในการ Collarborate เพื่อร่วมมือในการหาโอกาสสร้างธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ
3. Venture Capital (VC) หรือการลงทุนใน Tech Company หรือสตาร์ทอัพจากทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเหล่านั้นมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น
“ในธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในไทยและทั่วโลก มีหลายธุรกิจที่อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า ซอมบี้ (Zombie) เพราะไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ขณะที่บางธุรกิจมีโอกาสที่จะสร้าง Exponential Growth ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางที่ SCB 10X จะเข้ามาเป็นโซลูชั่นส์หนึ่งเพื่อช่วยชุบชีวิตให้กับธุรกิจเหล่านี้ โดยมองแนวทางในการเข้าไปสนับสนุนแต่ละรูปแบบไว้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันราวๆ 1 ใน 3 โดยเฉพาะ Venture Builder ที่ต้ังเป้ามีสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจอย่างน้อย 60-70%”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน SCB 10X ได้ดูแลธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่มของธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งหมด ได้แก่ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ดำเนินธุรกิจในกลุ่ม Global Supply Chian และ บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ซึ่งเน้นการพัฒนาด้าน AI Technology ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ในกลุ่ม VB และต่างมีโอกาสในการเติบโตในระดับสูง รวมทั้งยังมีแนวโน้มจะสามารถเข้าไประดมทุนจาก Public Venture ได้ราวปลายปี รวมทั้งรูปแบบ VC ในบริษัท มันนิกซ์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจ Digital Lending ให้กับกลุ่ม Under Bank Target รวมทั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีในเครือ SCB ที่กำลังจะจัดตั้งหรือมีการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดยคาดว่าในปีแรกจะเห็นธุรกิจในกลุ่ม Venture Builder จากไปป์ไลน์เพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 1-2 บริษัท รวมทั้งการหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วยการลงทุนในธุรกิจจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง