เอสซีจี แถลงผลประกอบการปี 2562 พร้อมเผยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ สู้ศึกดิสรัปท์ชันจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ในปี 2563 ด้วยการเร่งทรานสฟอร์มทุกปัจจัยภายใน พลิกโฉม 3 กลุ่มธุรกิจ และติดอาวุธพัฒนาคน โดยเปลี่ยนจากผู้ผลิต มาเป็นผู้ส่งมอบโซลูชันและนวัตกรรมสินค้า-บริการครบวงจร (Solution & Services Provider) อย่างฉับไว เหนือความคาดหมาย พิชิตใจลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อมุ่งรักษาการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2562 มีรายได้จากการขาย 437,980 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับปีก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 34,049 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24 จากปีก่อน ทั้งนี้ หากรวมรายการดังกล่าวมูลค่า 2,035 ล้านบาท จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับปี 32,014 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 จากปีก่อน จากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์
โดยปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 179,181 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 3 จากปีก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 5,663 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม
สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 106,177 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และกระดาษบรรจุภัณฑ์ปรับตัวลดลง และลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 7,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากไตรมาสนี้มีเงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น แต่ลดลงร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ จากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามการค้าและความผันผวนของตลาดที่ส่งผลกระทบทำให้ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง โดยไตรมาสนี้มีขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,060 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอสซีจียังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในปี 2562 ทั้งสิ้น 180,004 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกจากประเทศไทย 102,152 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีมูลค่า 634,733 ล้านบาท โดยร้อยละ 36 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2562 แยกตามรายธุรกิจ เป็นดังนี้
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2562 มีรายได้จากการขาย 184,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของยอดขายจากธุรกิจค้าปลีกและจัดจำหน่าย โดยมีกำไรสำหรับปี 5,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อน
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 45,135 ล้านบาท คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายในตลาดนอกภูมิภาคอาเซียนลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในปี 2562 มีรายได้จากการขาย 89,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 5,268 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าของสายธุรกิจเยื่อและกระดาษลดลง ต้นทุนทางการเงินและค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 23,096 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการรวมผลประกอบการของ Fajar และ Visy Thailand โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,196 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปี 2562 มีรายได้จากการขาย 177,634 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 15,480 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46 จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้า และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง
ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 41,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง และผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,801 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “จากความผันผวนของปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลกอย่างมากในปีที่ผ่านมา ทำให้ปี 2563 เป็นปีที่เอสซีจีต้องเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สู้ศึกดิสรัปท์ชันเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที และสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการทรานสฟอร์มปัจจัยภายในทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ (Business Transformation) จากเดิมที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว มาเป็นผู้ส่งมอบโซลูชันและนวัตกรรมสินค้า-บริการ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้อย่างครบวงจร และสามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้สูง ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร (People Transformation) ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลง ให้มีทักษะที่จำเป็น สามารถเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าทุกกลุ่มทั่วภูมิภาคได้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์การแข่งขัน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที
สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จะมุ่งยกระดับวงการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร ด้วยโซลูชันสินค้าพร้อมบริการ ผนวกกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น Construction Solution ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ช่างและผู้รับเหมาทำงานได้ดี รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ที่ช่วยวางแผนการใช้งานวัสดุและเทคนิคในการก่อสร้างผ่านโมเดลสามมิติ จึงลดการเกิดวัสดุก่อสร้างส่วนเกิน Living Solution ที่ช่วยประหยัดพลังงาน เพิ่มความสะดวกสบาย และความปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยทุกเพศทุกวัย พร้อมรุกธุรกิจค้าปลีก ที่เชื่อมต่อร้านค้ากับช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ scghome.com เพื่อให้ผู้ที่ต้องการสร้างหรือปรับปรุงต่อเติมบ้าน สามารถเข้าถึงสินค้าวัสดุก่อสร้างชั้นนำได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา พร้อมมีบริการให้คำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง พร้อมการรับประกัน ด้วยเครือข่ายจัดส่งสินค้ากว่า 840 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเร่งยกระดับกระบวนการผลิตให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) โดยล่าสุดได้ร่วมกับเอไอเอส ในการนำเครือข่าย 5G มาทดลองใช้ขับเคลื่อนรถยก (Forklift) ระยะไกล ก่อนมีแผนต่อยอดไปใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านอื่น ๆ พร้อมพัฒนาศักยภาพให้พนักงานได้ต่อไป
ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตอย่างสดใสโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกนั้น จะยังเดินหน้าสร้างสรรค์โซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อีกทั้งมุ่งเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตและความต้องการสูง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง สินค้าอุปโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ พร้อมการให้โซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการพิเศษที่แตกต่างกันของลูกค้าในธุรกิจต่าง ๆ เช่น โซลูชันด้านการออกแบบและการพิมพ์ โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ โซลูชันสำหรับการจัดแสดงสินค้าและส่งเสริมการตลาด และโซลูชันสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และรักษาความเป็นผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาค
ด้านธุรกิจเคมิคอลส์ เน้นการเพิ่มสัดส่วนสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าประเภทคงทน (Durable Products) เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น เม็ดพลาสติก PE112 สำหรับผลิตท่อทนแรงดันสูง ซึ่งผลิตจากเทคโนโลยีที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตร สามารถทนต่อแรงดันได้มากกว่า จึงได้รับความไว้วางใจในการผลิตท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลจาก จ.สุราษฎร์ธานี ไปยังเกาะสมุย และ HDPE เกรดพิเศษจาก SMXTM Technology ที่เอสซีจีคิดค้นขึ้น สามารถใช้กับงานหลากหลายชนิด อาทิ การปรับปรุงคุณภาพพลาสติกรีไซเคิลให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น และยังได้เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก อาทิ Norner ประเทศนอร์เวย์ และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม I2P (ไอทูพี: Ideas to Products) ที่ จ.ระยอง เพื่อเร่งกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง จึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น ระบบการคาดการณ์ราคาสินค้าที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปรแกรมอัตโนมัติสำหรับการวางแผนกระบวนการผลิตของธุรกิจโอเลฟินส์เพื่อใช้ในการจัดอันดับแหล่งวัตถุดิบที่ดีที่สุด
ขณะที่ตลาดสำหรับการลงทุนนั้น เอสซีจีจะยังเดินหน้าส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียที่มีโอกาสและการเติบโตสูง นอกเหนือจากการมองหาตลาดใหม่ ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ ที่สามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจได้เช่นกัน ผ่านการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มคน องค์กร สถาบัน และภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามคำมั่นสัญญา “Passion for Better” ให้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น”
อนึ่ง คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 14.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 16,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 7.00 บาท เป็นเงิน 8,400 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 7.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 8,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี