ในยุค Digital Disruption สิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ คือ การบ่มเพาะและสร้างให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในองค์กร แต่ Innovation หรือนวัตกรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับให้เกิดขึ้นได้เองตามใจ จำเป็นต้องค่อยๆ สร้างและสะสม เพื่อให้องค์กรหรือสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจเอื้อต่อการเบ่งบานหรือเติบโตของการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการรีแบรนด์ธุรกิจครอบครัวอายุกว่า 7 ทศวรรษ อย่างแป้งหอมศรีจันทร์ สู่การเป็แบรนด์เครื่องสำอางอันดับต้นๆ ของไทย และสร้าง Hero Product ใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นให้ธุรกิจ หนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรมในองค์กร ที่มาแชร์ข้อมูลในหัวข้อ “The Innovator’s Mindset ชุดความคิดของนักนวัตกรรม” โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า นวัตกรรม คือวัฒนธรรมองค์กร เกิดขึ้นจากสิ่งที่คนในองค์กรยึดถือปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ ในทุกๆ วัน
ส่วนการจะดูว่าองค์กรใดเอื้อต่อการผลิดอกออกผลของนวัตกรรมมากน้อยอย่างไร ให้ดูจากการรับมือต่อความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร องค์กรที่สามารถ “Celebrate to Failure” หรือชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เป็นความผิดพลาดล้มเหลวได้ จะเป็นองค์กรที่สามารถเกิดนวัตกรรมได้ง่าย แต่องค์กรที่นวัตกรรมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย คือ องค์กรที่มีมาตรการลงโทษเมื่อเกิดความผิดพลาดต่างๆ ขึ้นในองค์กร หรือองค์กรที่พยายามจะหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความล้มเหลวต่างๆ ขึ้นภายในองค์กร
“ธรรมชาติของการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ในธุรกิจ 72% มักจะล้มเหลว อาจจะเกิดจากความรีบออกเกินไปเพราะความกดดันต่างๆ โดยที่ยังไม่มีความเข้าใจตลาดหรือเข้าใจผู้บริโภคจริงๆ การวางบทลงโทษหรือหาผู้รับผิดชอบจากความล้มเหลว จะทำให้ไม่มีใครกล้าคิด กล้าลองทำสิ่งใหม่ เพราะกลัวพลาด กลัวผิด องค์กรก็ไม่มีทางได้สิ่งใหม่ โซลูชั่นส์ใหม่ๆ ส่ิงที่ควรทำคือ การแบ่งความผิดพลาดเป็นระดับเหมือนกับ Spectrum สี เพื่อกำหนดระดับของความผิดพลาด ถ้าเป็นความผิดร้ายแรงที่กระทบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ อาจจะต้องกำหนดบทลงโทษ แต่ถ้าเป็นความผิดในโซนของการทดลองสิ่งใหม่ การหาวิธีการทำงานใหม่ๆ แม้จะทำให้บริษัทเสียหาย มีต้นทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ความผิดในลักษณะเช่นนี้ไม่ควรมีการลงโทษ เพราะข้อเท็จจริงของการทำส่ิงใหม่ที่โอกาสไม่สำเร็จสูงถึง 70-80% อยู่แล้ว ถ้าผิดแล้วถูกลงโทษสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้”
Balance ธุรกิจ Exploit VS Explore
การทำธุรกิจที่ในยุคปัจจุบัน ควรวางระบบทำงานแบบ Dual-Operating System ทั้งในขาของ Core Business หรือธุรกิจหลักที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว หรือในฟากของ Exploit ซึ่งเป็นฟากที่ต้องวัด KPI จาก Efficiency, Performance มีการวาง Business Plan ที่ชัดเจน เพื่อการเติบโตและแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ส่วน Explore จะเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองของใหม่ จึงยังไม่สามารถวัด Efficiency ในรูปแบบของตัวเลขการสร้างกำไร ยังไม่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน การวัดผลต้องใช้วิธีที่แตกต่างออกไป เพราะในช่วงเริ่มต้นทดลองยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ต้องอาศัยระยะเวลาที่ผ่านไปเพื่อดูผลตอบรับ ดูแนวโน้มความเสี่ยงที่ลดลง วิเคราะห์โอกาสในการเกิดขึ้นได้จริง และเมื่อแนวโน้มเป็นไปในทิศทางดี ความเสี่ยงน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะขยับไปสู่โพรเซสในการลงทุนเพื่อสร้างให้การทดลองนี้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป
โดยกฏเบื้องต้นของการทำสิ่งต่างๆ ในพื้นที่การทดลอง จะให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องต่อไปนี้
– เร็วและถูก คือ การเริ่มต้นเร็ว เพื่อรีบเรียนรู้ รีบทดลอง ภายใต้การใช้เงินในช่วงแรกที่ต่ำ
– การทดสอบสมมติฐาน เพื่อหาหลักฐานยืนยันว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง เช่น ก่อนทำโปรดักต์ใหม่ ต้องสำรวจตลาด และทดสอบความต้องการ หรือสามารถเปิดพรีออเดอร์ก่อนที่จะเริ่มทำการผลิต ไม่ใช่เลือกที่จะผลิตเพื่อมาทดลองขายเลย
– การทดลองบ่อยๆ ซ้ำๆ เพื่อให้ได้หลักฐานที่ยืนยันและทำให้มั่นใจได้มากยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่คิดนั้นถูกต้อง และให้เชื่อในหลักฐานที่ได้มากกว่าความรู้สึกของตัวเอง
– พยายามลดปัจจัย Uncertainty ให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ต้องทดสอบหลายๆ แบบ หลายๆ กลุ่มตัวอย่าง ตลาด โลเกชั่น หรือสเกล ต้องทดสอบซ้ำๆ ก่อนที่จะใส่เงินเพื่อสร้างจริง
ที่สำคัญยังมี คำต้องห้ามที่ไม่ควรใช้หรือถามถึงเมื่ออยู่ในพื้นที่การทดลองเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Business Plan ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับธุรกิจที่นิ่งและเติบโตได้แล้ว แต่ไม่เหมาะกับธุรกิจในกลุ่ม Innovation ที่ยังอยู่ในช่วงของการทดลอง หรือการอนุญาตให้ทดลองทำ แต่ให้เงื่อนไขว่า ห้ามล้มเหลวหรือห้ามเจ๊ง เพราะคำว่าการทดลอง กับความล้มเหลวเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือกทำสิ่งใด ต้องดูจากหลักฐานที่ปรากฏมากกว่าความชอบ หรือการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งมีหน้าที่เพียงแค่สนับสนุนให้องค์กรสร้าง Culture ที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม และสร้าง Innovator ขึ้นภายในองค์กร รวมทั้งพร้อมที่จะ Celebtrate และ Laerning กับทุกๆ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นได้
“พลังขององค์กรในเจนเนอเรชั่นต่อไป ไม่ใช่แค่ Knowledge ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ ต้องขับเคลื่อนด้วย Learning ในการ Drive องค์กรในยุคต่อไป เพราะความรู้จะหยุดอยู่นิ่งๆ แต่การเรียนรู้ คือสิ่งที่หมุนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และยังเร็วมากพอๆ กับสปีดของดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นข้างนอกอีกด้วย”