HomeBrand Move !!ถอดรหัสวิธีคิด ทำไม Motorola RAZR ยังอยู่ในใจผู้ใช้มือถือตลอดกาล

ถอดรหัสวิธีคิด ทำไม Motorola RAZR ยังอยู่ในใจผู้ใช้มือถือตลอดกาล

แชร์ :

หากย้อนอดีตไปเมื่อ 15 – 20 ปีที่แล้ว หนึ่งในภาพของโทรศัพท์มือถือในยุคนั้นก็คือ มันไม่ได้ถูกพัฒนาให้เป็นสินค้าแฟชั่นเหมือนสมาร์ทโฟนในยุคนี้ ตรงกันข้าม มันถูกพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสารเป็นหลัก ส่งผลให้แนวคิดของบริษัทผู้ผลิตมือถือเน้นไปที่การใส่ฟีเจอร์ต่าง ๆ ลงไปให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวเครื่องให้รองรับหน้าจอสี หรือกล้องดิจิทัลที่คมชัด ซึ่งผู้ผลิตที่เดินเกมในลักษณะดังกล่าวมีหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น Nokia, Samsung หรือค่าย Sanyo โดยพวกเขายอมแลกกับผลลัพธ์ที่ว่ามันอาจทำให้ตัวเครื่องดูเทอะทะขึ้น และห่างไกลจากความสวยงามออกไปเรื่อย ๆ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ผลิตสัญชาติเกาหลี ญี่ปุ่น หรือฟินแลนด์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดแล้ว ในยุคนั้นก็ยังมีผู้ผลิตสัญชาติอเมริกันอย่าง Motorola ที่มีโทรศัพท์มือถือฝาพับอย่าง StarTAC อยู่ด้วย แต่น่าสนใจที่ว่า Motorola ในยุคนั้นไม่ได้นั่งมองคู่แข่งสร้างมือถือใหม่ ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะ Motorola เองก็กำลังหาทางพัฒนาโทรศัพท์มือถือของตนเองขึ้นมาแทนที่รุ่น StarTAC ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1996 เช่นกัน และสิ่งที่ทีมวิศวกรของ Motorola ในยุคนั้นเห็นตรงกันก็คือ โลกไม่ควรมีโทรศัพท์มือถือรูปทรงอวบอ้วนอีกต่อไปแล้ว

“เป้าหมายของเราคือ 10 มิลลิเมตร”

ผู้ที่กล่าวประโยคนี้ก็คือ Paul Pierce นักออกแบบคนสำคัญของ Motorola และเป็นหนึ่งในทีมงานผู้ออกแบบ Motorola RAZR เมื่อ 15 ปีก่อน โดยเขาเล่าว่า การตั้งเป้าหมายให้ RAZR มีความบางเพียง 10 มิลลิเมตรนั้น เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และสร้างแรงบันดาลใจมาก ๆ สำหรับทีมออกแบบทุกคน ในขณะที่คู่แข่งต่างพากันพัฒนาโทรศัพท์ที่มีความหนาไม่ต่ำกว่า 20 มิลลิเมตรกันทั้งสิ้น

การสร้างโทรศัพท์แห่งอนาคตของ Motorola จึงเริ่มขึ้น โดยพวกเขามีการศึกษาวิธีการใช้งานโทรศัพท์ของชาวอเมริกันที่พบว่า คนส่วนใหญ่นิยมส่งข้อความ ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายอันดับแรกของ Motorola คือ “แป้นพิมพ์ต้องใหญ่”

ต่อมาคือเรื่องของหน้าจอ เพราะ Motorola เห็นเทรนด์ว่า ผู้บริโภคเริ่มสามารถท่องเน็ตได้ผ่านหน้าจอมือถือ และเริ่มดาวน์โหลดเกมมาเล่นบนโทรศัพท์ได้แล้ว ดังนั้น หากจะออกแบบให้มันรองรับอนาคตได้ หน้าจอก็ต้องใหญ่เช่นกัน

แต่หน้าจอใหญ่อย่างเดียวไม่พอ มันยังต้องมีหน้าจออยู่ด้านนอกเพื่อบอกข้อมูลเบื้องต้น เช่น เอาไว้ดูเวลา หรือดูว่าใครกำลังโทรเข้ามาด้วย และปัจจัยข้อสุดท้ายที่ทีมออกแบบเห็นว่าจำเป็นก็คือ ขนาดของตัวเครื่อง ที่ต้องใส่กระเป๋าเสื้อด้านหน้าได้

ขอบคุณภาพจาก Motorola

สัมผัสบนแป้นพิมพ์ สิ่งเล็ก ๆ ที่ RAZR ไม่มองข้าม

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พวกเขาต้องเปลี่ยนไปใช้วัสดุอย่างอลูมิเนียม และแก้วแทน เพราะเป็นวัสดุที่ทนทานกว่าพลาสติกในความหนาที่เท่ากัน

แต่นอกจากรูปร่างของ RAZR ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งเล็ก ๆ ที่ทีมออกแบบ RAZR ไม่ยอมมองข้าม นั่นคือสัมผัสบนแป้นพิมพ์ เพราะเดิมที แป้นพิมพ์ของ RAZR นั้น ถูกออกแบบให้มีพลาสติกหยุ่น ๆ มาเคลือบทับ คล้าย ๆ กับปุ่มกดของเครื่องไมโครเวฟ แต่ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตของทีมออกแบบอีกเช่นกันที่มองว่า พลาสติกจะทำให้ RAZR กลายเป็นมือถือราคาถูกไปหรือเปล่า

ความท้าทายข้อนี้ผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อ Pierce ได้ไอเดียจากการใช้แผ่นกันลบ หรือ Eraser shield โลหะแผ่นบางที่เขาเคยใช้ในการออกแบบชิ้นงานเมื่อในอดีต ผลก็คือพวกเขาเปลี่ยนไปใช้โลหะแผ่นบางมาครอบแป้นพิมพ์แทน ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้สัมผัส RAZR รู้สึกได้ถึงความเรียบหรูของโลหะ และยกระดับการสัมผัสไปอีกขั้นในทันที

ส่วนการออกแบบตัวเครื่องด้านนอกก็มีการเปรียบเทียบกันระหว่างพลาสติกกับแก้ว ซึ่งทีมออกแบบของ Motorola เคยทำกระทั่งสร้างตัวม็อคอัพขึ้นมาสองตัว ตัวหนึ่งใช้แก้ว อีกตัวหนึ่งใช้พลาสติก ซึ่งตัวที่ใช้พลาสติกนั้นทำให้ตัวเครื่องมีความหนา 11 มิลลิเมตร และผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เราทราบกัน นั่นคือพวกเขาเลือกเดินตามเป้าหมาย 10 มิลลิเมตรต่อไปอย่างแน่วแน่

แต่มันยังไม่จบแค่นั้น เพราะพวกเขาใช้เลเซอร์สร้างลวดลายเส้นสายลงบนแป้นคีย์บอร์ดที่เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมา แสงสีฟ้าก็จะเปล่งประกายชนิดที่ว่าคนที่อยู่ไกลออกไป 10 ฟุตก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้

“หนึ่งในหัวใจของการออกแบบคือ การสร้างเซอร์ไพรส์” Pierce กล่าว “เราชอบไอเดียการทำให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็น หรือไม่เคยคาดหวังว่าจะได้เห็นมาก่อน และเมื่อเปิดเข้ามาด้านใน ก็ยังได้สัมผัสกับแป้นพิมพ์โลหะสุดหรู (แทนที่จะเป็นพลาสติก) และมีขนาดใหญ่มากด้วย”

ขอบคุณภาพจาก Motorola

Motorola RAZR งานออกแบบที่ต้องเติมในจุดที่จำเป็น

การเลือกวัสดุเกรดพรีเมียมของ RAZR ทำให้มันเป็นมากกว่าอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร แต่ Pierce ก็ยอมรับว่า ในตอนแรกนั้น เขาเองไม่ได้ชอบทุกส่วนของมันโดยเฉพาะส่วนด้านล่างที่ยื่นออกมา หรือที่ทีมออกแบบเรียกมันว่า Chin พวกเขาเลยออกแบบตัวม็อคอัพที่ไม่มี Chin แล้วลองเปรียบเทียบดูว่าเป็นอย่างไร

ผลก็คือ ทีมออกแบบทุกคนเห็นตรงกันก็คือ การมี Chin นั้นทำให้โทรศัพท์มีประสิทธิภาพเหนือกว่าโทรศัพท์ของคู่แข่ง เนื่องจากเป็นจุดที่เอาไว้ใช้เก็บเสาสัญญาณ และเก็บส่วนประกอบอื่น ๆ อีกทั้งเมื่อปิดฝาพับลงมาแล้วเรียบสนิท ก็ยังทำให้โทรศัพท์ของพวกเขาดูหรูหรามากขึ้นด้วย

RAZR พร้อมแล้ว การตลาดพร้อมหรือยัง

แน่นอนว่า ทีมออกแบบของ RAZR ทุ่มเทสุดตัวในการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่แค่นั้นคงยังไม่พอ หากพวกเขาไม่ได้ทีมการตลาดฝีมือฉมังที่เข้ามานำทาง RAZR ไปสู่จุดที่ควรจะอยู่ โดยเทคนิคการตลาดที่แยบยลก็คือการนำ RAZR เข้าไปเป็นหนึ่งในของที่ระลึกที่ดาราชั้นนำจากฮอลลีวู้ด (กลุ่ม A-Lists) ทุกคนจะได้รับเมื่อเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลออสการ์ในปี 2004

เวทีออสการ์จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของ RAZR จากสินค้าเทคโนโลยีไปสู่การเป็นสินค้าที่สามารถบ่งบอกสถานะของผู้ถือ และเมื่อความฮอตเข้ามาเยือน กลยุทธ์ที่ RAZR ใช้เพิ่มยอดขายก็คือการ Customize ตัวเองออกเป็นเวอร์ชันต่าง ๆ เห็นได้จากการปรับแต่ง RAZR ให้เป็นสีชมพูและส่งโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวให้กับ “มาเรีย ชาราโปวา” นักเทนนิสหญิงชื่อดังที่กำลังแข่งในศึกวิมเบิลดัน ซึ่งทีมการตลาดของ RAZR มองว่า ถึงเธอจะไม่ชนะในการแข่ง แต่เธอก็จะใช้โทรศัพท์ดังกล่าวโทรหาใครสักคนแน่ ๆ และความฮอตนั้นก็เกิดขึ้นจริง ในเวลาไม่นาน Motorola ก็สามารถผลิต RAZR สีชมพูชาราโปวา ออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้

RAZR ยังมีโปรเจ็คของ Bono, โปรเจ็ครอยสักของ David Beckham และอื่น ๆ อีกมากมาย และด้วยกลยุทธ์นี้ Motorola RAZR สามารถทำยอดขายได้มากถึง 130 ล้านเครื่องภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี จนเรียกได้ว่าเป็นยุคของ Motorola อย่างแท้จริง

ขอบคุณภาพจาก Motorola

ความท้าทายในยุค Foldable Phone

แต่สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เราทราบกัน นั่นคือความร้อนแรงของ RAZR และอนาคตของ Motorola ได้จบลงเมื่อสตีฟ จ็อบส์เปิดตัว iPhone ในปี 2007…

อย่างไรก็ดี Motorola RAZR กำลังกลับมาอีกครั้ง ในยุคของ Foldable Phone กับความกว้างหน้าจอ 6.2 นิ้ว (วัดเมื่อเปิดเครื่อง) ความละเอียด 2,142 x 876 พิกเซล สามารถเรียกใช้ Google Assistant หรือจะเปิด notification bar ได้โดยตรงจากหน้าจอด้านหน้าเครื่อง นอกจากนั้น Motorola ยังใส่หน่วยความจำมาให้ถึง 6GB พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูล 128GB กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และมีจุดสแกนลายนิ้วมือมาพร้อมกันด้วย สนนราคาของ RAZR อยู่ที่ 1,500 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 46,000 บาท และจะเริ่มวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้

แต่ยุคของ Foldable Phone อาจไม่ใช่สิ่งรับประกันว่า Motorola RAZR โฉมใหม่จะประสบความสำเร็จเหมือนในอดีต เพราะสิ่งที่เราทราบกันดีก็คือ สมาร์ทโฟนจากค่ายคู่แข่งที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้าต่างก็ประสบปัญหาในการใช้งาน ซึ่งอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไปแล้วระดับหนึ่ง อีกทั้ง Motorola ก็ห่างหายไปนานจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใช้งานรุ่นใหม่ ดังนั้น การกลับมาในปี 2020 ด้วยราคา 1,500 เหรียญสหรัฐของ RAZR จึงอาจเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ชื่อเสียงในอดีตมาช่วยชูโรงอีกเลยก็เป็นได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นี่เป็นงานวัดกึ๋นทีมการตลาดของจริงเลยทีเดียว

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like