การประมาท “เชื้อโรคตัวเล็ก ๆ” สามารถทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ฉันใด บทเรียนแห่งการเอาตัวรอดท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 (ชื่ออย่างเป็นทางการของไวรัสโคโรนา) ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการมองเห็น “โอกาสเล็ก ๆ” ในจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน
โดยหลังจากไวรัส Covid-19 คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบสองพันราย และมีผู้ติดเชื้อทะลุกว่าเจ็ดหมื่นรายไปแล้ว การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในจีนและนอกประเทศจีนก็เกิดขึ้นตามมา ซึ่งจากการสังเกตของทีมงาน Brandbuffet เราพบว่า มีเรื่องน่าติดตามจากการปรับตัวในครั้งนี้ 6 ด้านด้วยกัน นั่นคือ
1. การครองตลาดจีนได้ไม่ใช่ทุกอย่างอีกต่อไป
ยักษ์ใหญ่หลาย ๆ รายในโลกทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะกำลังซื้อจากจีนแผ่นดินใหญ่ หนึ่งในตัวอย่างนั้นก็คือ Tujia แพลตฟอร์ม Home-Sharing ที่มีรูปแบบคล้าย ๆ Airbnb
อย่างไรก็ดี การมีรายได้หลักมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เห็นได้จากกรณีไวรัส Covid-19 แพร่ระบาดที่แพลตฟอร์มจองที่พักอย่าง Airbnb แทบไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เนื่องจากบริษัทมีที่พักในภูมิภาคอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก การเสนอการคืนเงิน (รีฟันด์) ให้กับผู้ที่ต้องการแคนเซิลที่พักจึงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ตรงข้ามกับ Tujia ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้บริการด้าน Home-Sharing ที่ใหญ่ที่สุดของจีน เนื่องจาก 80% ของที่พัก Tujia นั้นอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้บริษัทไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ได้เลย
ด้วยเหตุนี้ กลยุทธ์อย่างการมองหาตลาดขนาดใหญ่เพื่อเข้าไปยึดครองในยุคที่โรคระบาดใหม่ ๆ หรือความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจึงอาจเป็นความเสี่ยงมากกว่าจะเป็นโอกาสก็เป็นได้
2. คนอยู่ที่ไหน เงินยังอยู่ที่นั่น
ทุกครั้งที่มีการแพร่ระบาดของโรคร้าย จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งหนึ่งในพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือการหลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่าน เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน บางประเทศอาจมีการหยุดงาน ฯลฯ ตามมา
ดังนั้น เมื่อคนอยู่ที่บ้าน ธุรกิจไหนที่สามารถเจาะเข้าไปหาคนได้ถึงบ้าน พวกเขาก็ยังเติบโตได้ต่อไป
เห็นได้จากผู้ให้บริการ Food Delivery ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยทาง Foodpanda ยอมรับว่ามียอดสั่งซื้ออาหารเพิ่มขึ้นถึง 80% ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ค่าย Deliveroo อีกหนึ่งคู่แข่งของ Foodpanda ในฮ่องกงเผยว่า บริษัทมียอดสั่งอาหารในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะมื้อเย็น ซึ่งทำให้เห็นว่า ชาวฮ่องกงเปลี่ยนมารับประทานอาหารเย็นที่บ้านในช่วงที่ไวรัสกำลังแพร่ระบาดนั่นเอง
3. การมีเทคโนโลยีคือความได้เปรียบ
สถานการณ์ไวรัส Covid-19 ระบาดในจีนตอนนี้กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า การมีเทคโนโลยีคือความได้เปรียบ เห็นได้จากการที่โรงเรียนในจีนหลาย ๆ แห่ง เริ่มเปิดการเรียนการสอนออนไลน์แทนเนื่องจากนักเรียนไม่สามารถเดินทางมาเรียนได้ หรือคนที่มีอาการป่วย ก็สามารถติดต่อแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยได้ผ่านแอป WeChat นอกจากนั้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายก็ยังนำบ้านที่มีมาขายผ่านแว่น VR ได้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei ที่เพิ่งยกเลิกการจัดงานประชุมสำหรับนักพัฒนา หรือ Developer Day ไปเนื่องจากวิกฤติไวรัส ก็ยังเปลี่ยนการจัดงานดังกล่าวมาอยู่บนโลกออนไลน์และถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ในชื่องาน “HUAWEI GLOBAL PRODUCT LAUNCH & DEVELOPER DAY ONLINE SUMMIT 2020” เช่นกัน โดยงานจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์นี้แล้ว
4. ทำเงินจากความเบื่อหน่าย รายได้ที่ซ่อนตัวอยู่ในแอป
การถูกกักตัวอยู่ในเมืองที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส เชื่อว่าอาจทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อที่จะต้องถูกขังอยู่ในห้องพักแคบ ๆ ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้อย่างใจคิด ความเบื่อที่ก่อตัวขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบางรายตัดสินใจนำความบันเทิงเคาะประตูให้ถึงหน้าจอโทรศัพท์มือถือ และทำรายได้เป็นกอบเป็นกำกลับมาเป็นการแลกเปลี่ยน
โดยสิ่งที่ธุรกิจหัวใสเลือกทำก็คือการจัดคอนเสิร์ตผ่านการ Live Streaming ขึ้นภายในแพลตฟอร์มอย่าง Douyin (TikTok เวอร์ชันจีน) ติดต่อกันหลายชั่วโมง ซึ่งพบว่าบางรายสามารถทำเงินได้มากถึง 700,000 หยวนผ่าน Virtual Gift ที่ผู้ใช้งานจ่ายให้กับดีเจ หรือศิลปิน
แต่ไม่เฉพาะการจัดคอนเสิร์ตบน Douyin บริการอย่าง Virtual Gym และเกมออนไลน์ก็กลายเป็นเทรนด์ที่คนจีนหันมาเล่นแก้เบื่อ และทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน
5. ได้เวลาท่องยุทธจักรแสวงหา “อนาคตใหม่”
ความยากลำบากอีกประการหนึ่งของคนทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ในตอนนี้ก็คือ “สินค้าขาดตลาด” เพราะปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ในตลาดบ้านเราถูกส่งมาจากจีน
แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้พ่อค้า-แม่ค้าชาวจีนที่กำลังบุกเข้ามาในแพลตฟอร์มของไทยต้องหายหน้าไปเช่นกัน ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ของไทยจะหาสินค้าใหม่เข้ามาทดแทน รวมทั้งใช้เวลานี้แย่งชิงพื้นที่ในใจของลูกค้ากลับมาจากพ่อค้า-แม่ค้าจีนบ้างนั่นเอง
6. ให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องกันดีกว่า
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด มีธุรกิจจำนวนมากที่มีรายได้หดหาย หรือเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัททัวร์ ที่ปัจจุบันต้องเจอกับการแคนเซิลทริปจำนวนมาก แต่ก็มีรายงานว่า Ctrip แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ได้ตั้งงบประมาณจำนวน 10,000 ล้านหยวนให้กับบริษัททัวร์ – โรงแรม – โฮสเทลบนแพลตฟอร์มของตนเองกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อต่อชีวิตให้ธุรกิจเหล่านั้นยังคงอยู่รอดได้กันแล้ว
โดยส่วนหนึ่งพวกเขามีการอ้างอิงจากวิกฤติโรค SARS ระบาดเมื่อสิบกว่าปีก่อน (2002-2003) ว่าธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะประสบปัญหาขาดทุนในช่วงแรกจากการแคนเซิลทริป แต่ไม่ได้หมายความว่าความต้องการที่จะท่องเที่ยวนั้นหมดไป ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แรงซื้อเหล่านั้นจะกลับมา พวกเขามีหน้าที่ต้องทำให้บริษัทรายย่อยอยู่รอดให้ได้จนกว่าจะถึงวันนั้น
และทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งภาพของการดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากเรื่องเหล่านี้ก็คือ การเอาตัวรอดของพวกเขา หลาย ๆ ครั้งไม่ได้รอดแค่ตัวเองลำพัง หากแต่ยังสามารถดึงพาร์ทเนอร์ – คนในชุมชนขึ้นมาได้พร้อมกันด้วย