เป็นหนึ่งใน “นักธุรกิจ” ที่มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในวัย 80 ปี “ไบรอัน แอล มาร์การ์” แห่งบีอีซี-เทโร ยังลงทุนธุรกิจไม่หยุด ขอเกาะเทรนด์ตลาดสุขภาพและสังคมสูงวัยไทย ร่วมทุน Fordays ธุรกิจอาหารเสริมและสกินแคร์จากญี่ปุ่น ที่มาของดีลนี้เผอิญว่า “ใช้แล้วชอบ” เลยอิมพอร์ตมาทำตลาดขายตรง (MLM) เจาะตลาดไทย
นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นหลัก “บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” ร่วมกับ ช่อง 3 ทำธุรกิจสื่อบันเทิง ทั้งผลิตรายการทีวี, จัดโชว์-คอนเสิร์ต, ธุรกิจเพลง, วิทยุ ส่วนตัว คุณไบรอัน แอล มาร์การ์ ยังทำธุรกิจ อีกหลายอย่าง เช่น สโมสรฟุตบอลโปลิศ เทโร และล่าสุดมาจับธุรกิจขายตรงจากญี่ปุ่น Fordays ไม่เพียงทำตลาดไทยแต่มองไกล ขอไลเซนส์เจาะตลาดจีนและเมียนมา อีกด้วย
เกาะเทรนด์สูงวัยไทย
คุณไบรอัน แอล มาร์การ์ ประธานกรรมการ บริษัท ฟอร์เดย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าแนวโน้มผู้บริโภคยุคนี้สนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ทำให้สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังมีโอกาสไปได้ จึงได้ลงทุน “ส่วนตัว” กับบริษัท ฟอร์เดย์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) ธุรกิจขายตรงอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น จัดตั้ง บริษัท ฟอร์เดย์ (ประเทศไทย) เพื่อทำตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและและบำรุงผิว นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
“ผมเองอายุ 80 ปีแล้ว ลองใช้ฟอร์เดย์มากว่า 1 ปี จากการแนะนำของเพื่อนชาวญี่ปุ่น ใช้แล้วรู้ดีต่อสุขภาพ จึงตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจนี้ในไทย”
รูปแบบการทำตลาดจะเป็นขายตรงระบบสมาชิก (MLM) เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น จากจุดขายสินค้ากลุ่มเสริมอาหารและสกินแคร์ แบรนด์หลัก เครื่องดื่ม DN Collagen พระเอกเบอร์หนึ่งในญี่ปุ่น ตามด้วย “มูซ่า เอสเซ้นส์ ดริ้งค์ สโนวี่” และกลุ่มสกินแคร์แบรนด์หลัก “มูซา แอลยู เซรั่ม มาย” โดยมีสินค้าขอขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 19 รายการ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 11 รายการ และ สกินแคร์ 8 รายการ
กลุ่มลูกค้าหลักของฟอร์เดย์อายุ 35 ปีขึ้นไป ที่จะดึงเข้ามาเป็นสมาชิกฟอร์เดย์ รวมทั้งกลุ่มสูงวัย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่มีฐานสมาชิกในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น จากการใช้ผลิตภัณฑ์เองและบอกต่อ โดยธุรกิจขายตรง MLM มี 6 ระดับ คือ Member, Leader, Director, 1 star director, 2 star director และ 3 star director กำหนดสัดส่วนผลตอบแทนตามที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนด ซึ่งระดับ 3 star director ในญี่ปุ่นทำรายได้ 1 ล้านบาทต่อเดือน
ด้วยธุรกิจขายตรงระบบสมาชิก จึงไม่มีหน้าร้านขายปลีก ผู้บริโภคที่สนใจต้องซื้อผ่านสมาชิกเท่านั้น แต่หากเป็นสมาชิกจะได้ราคาที่ถูกกว่า
นอกจากโอกาสทำตลาดในประเทศไทยแล้ว คุณไบรอัน ยังมองโอกาสการขอไลเซนส์ จากฟอร์เดย์ เพื่อเข้าไปทำตลาดในจีนและเมียนมา ภายในปีนี้อีกด้วย
วางเป้าหมาย 3 ปีตลาดไทย 3,500 ล้าน
คุณเคอิโกะ วาดะ ประธาน บริษัท ฟอร์เดย์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวว่า ฟอร์เดย์ ก่อตั้งในปี 2540 เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัททำรายได้ไปกว่า 42,000 ล้านเยน เป็นอันดับ 3 ในธุรกิจขายตรงญี่ปุ่น ที่มีมูลค่ากว่า 640,000 ล้านเยน ปีที่ผ่านมาภาพรวมขายตรงญี่ปุ่นอยู่ในภาวะหดตัว ลดลงราว 4% จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว
ฟอร์เดย์จึงมองโอกาสการลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันทำตลาดอยู่แล้ว 6 ประเทศเอเชีย และไทยเป็นประเทศที่ 7 เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง จากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนญี่ปุ่น ผู้บริโภคจึงหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ธุรกิจขายตรงระบบสมาชิกจะทำให้มีลูกค้ามาซื้อซ้ำต่อเนื่อง ในญี่ปุ่นมีสมาชิกซื้อซ้ำ 1 ใน 3 ของฐานสมาชิก 280,000 ราย
สำหรับแผนธุรกิจฟอร์เดย์ ในประเทศไทย วางเป้าหมาย 3 ปี มีรายได้ 3,500 ล้านบาท ฐานสมาชิก 80,000 คน ปีแรกวางไว้ที่ 30,000 คน สินค้าที่จะนำมาทำตลาดนำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งหมด 54 รายการ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 85% และสกินแคร์ 15%