ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าวิกฤติไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดเป็นไฟลามทุ่งในขณะนี้ได้กลายเป็นความท้าทายรอบใหม่ของวงการอีคอมเมิร์ซโลกไปเสียแล้ว กับยอดการสั่งซื้อหน้ากากอนามัยจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์ แถมธุรกิจขนส่งในบางประเทศก็ไม่สามารถรองรับการจัดส่งหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้นนี้ได้ทันแล้วด้วย
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่คือบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น JD.com หรือ Taobao ต่างเจอสถานการณ์สินค้าขาดตลาดกันทั่วหน้า ซึ่งผลของการไม่มีสินค้าทำให้เกิดภาพภาพคนจีนจำนวนหนึ่งต่อคิวยาวอยู่หน้าร้านค้าปลีกเพื่อรอซื้อหน้ากากอนามัย ขณะที่รายงานจาก South China Morning Post ระบุว่า การที่หน้ากากอนามัยมีจำนวนจำกัด ทำให้ผู้บริโภคบางคนไม่สามารถซื้อได้ตามที่ต้องการ หนทางสุดท้ายของพวกเขาคือการสั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น การสั่งผ่าน Amazon Japan หรือ Amazon Germany
หนึ่งในบริษัทด้านโลจิสติกส์ที่ออกมายอมรับก็คือ Buyandship ของเกาะฮ่องกงที่โพสต์ทางเฟซบุ๊กว่า ยอดคำสั่งซื้อที่บริษัทได้รับในช่วงนี้สูงกว่าช่วงเทศกาล Black Friday เสียอีก
โดยบริษัทดังกล่าวเผยว่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาต้องจัดส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 15,000 กล่องจากทั่วโลกมายังประเทศจีน รวมถึงต้องแจ้งให้ลูกค้ายกเลิกการส่งคำสั่งซื้อมายังโกดังของบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในขณะนี้ โกดังดังกล่าวไม่มีพื้นที่มากพอจะรองรับได้แล้วนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งในธุรกิจที่ออกมาขอโทษก็คือ “ไปรษณีย์ของญี่ปุ่น” ที่บอกว่าการจัดส่งสินค้าข้ามประเทศมานั้นอาจต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากในขณะนี้บริษัทมียอดสั่งซื้อจำนวนมากจากจีน มาเก๊า และฮ่องกง
หน้ากากอนามัยขาดตลาด ดัน “Work from home” พุ่ง
สถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดตลาดนี้ยังทำให้ชาวจีนเลือกที่จะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการออกไปพบปะผู้คน ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกัน โดยในขณะนี้ พบว่าบริษัทของจีนมีการทดลองใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ตนเองสามารถทำงานได้เหมือนเข้าไปที่ออฟฟิศ ซึ่งบริษัทที่ได้รับประโยชน์นี้มีตั้งแต่ WeChat ที่มีแพลตฟอร์มชื่อ WeChat Work หรือจะเป็น Bytedance ที่มีแพลตฟอร์มเพื่อการทำงานชื่อ Lark เตรียมไว้รองรับนั่นเอง
ส่วนธุรกิจที่เตรียมดิ่งเหวอาจเป็น Co-Working Space เนื่องจากหัวใจของธุรกิจดังกล่าวคือการสร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งรวมตัวของผู้คน แต่เมื่อผู้คนไม่ออกจากบ้าน ก็ย่อมส่งผลต่อบรรยากาศภายในไม่น้อย ซึ่งจากสถานการณ์นี้ ได้ทำให้ Co-Working Space บางเจ้า เช่น Beeplus ตัดสินใจระงับแผนเปิดสาขาใหม่ในกรุงปักกิ่งแล้ว
แต่ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า นอกจากความสูญเสียที่มีมากมายมหาศาลแล้ว “วิกฤติไวรัสโคโรนาจากจีน” ยังกลายเป็นกรณีศึกษาให้ภาคธุรกิจได้มองเห็นความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน