HomeBrand Move !!รู้จัก “Discovery Generation” นักช้อปไทยผู้ไร้การวางแผน ผ่านเลนส์ของ Facebook

รู้จัก “Discovery Generation” นักช้อปไทยผู้ไร้การวางแผน ผ่านเลนส์ของ Facebook

แชร์ :

Facebook ร่วมกับ Bain & Company เปิดผลการศึกษาในหัวข้อ “Riding the Digital Wave : Capturing Southeast Asia’s Digital Consumer in the Discovery Generation” คาดการณ์ตัวเลข Digital Consumers ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตะ 310 ล้านคนในปี 2025 พร้อมเปิดตัวผู้บริโภคกลุ่มใหม่ “Discovery Generation”  หรือนักช้อปผู้ไร้การวางแผน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยเหตุผลของการทำสำรวจดังกล่าวก็เพื่อให้แบรนด์สามารถมองเห็นภาพรวมของตลาดออนไลน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 6 ตลาด ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม รวมถึงการเติบโตของ Digital Consumers ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 250 ล้านคน (คำจำกัดความของ Digital Consumers ก็คือ ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และเคยเป็นผู้ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ บนโลกออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งในปีที่ผ่านมา) และคนกลุ่มนี้จะเติบโตจนมีจำนวน 310 ล้านคนภายในปี 2025 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 1.2 เท่าจากปีปัจจุบัน

ส่วนสินค้าอะไรบ้างที่ Digital Consumers สนใจซื้อนั้น Facebook พบว่า หลัก ๆ มี 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับต่าง ๆ
  • สินค้าหมวด Personal Care และความงาม
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและเฟอร์นิเจอร์
  • หมวดการท่องเที่ยว เช่น ตั๋วเครื่องบิน, จองโรงแรม
  • สินค้าหมวดเกม
  • สินค้าหมวดอาหาร, ของชำ
  • ของเล่นเด็ก, สินค้าสำหรับเด็ก

คนไทยใช้จ่ายออนไลน์โตเป็นเบอร์ 2 ของภูมิภาค

จากผลการสำรวจดังกล่าว Bain & Company ระบุว่า การใช้จ่ายของคนไทยบนโลกออนไลน์มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นถึง 4.9 เท่า จาก 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 เป็น 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตอันดับสองรองจากเวียดนาม

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงที่สุดในปี 2025 ก็คือ “อินโดนีเซีย” ที่คาดว่าตลาดออนไลน์จะมีมูลค่า 48,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 หรือโตขึ้น 3.7 เท่าจากปี 2018 เลยทีเดียว

สำหรับประเทศที่มีการเติบโตน้อยที่สุดตามการสำรวจนี้คือ “สิงคโปร์” โดยพบว่าอาจโตขึ้นเพียง 2.2 เท่า และมีมูลค่าตลาดราว 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 เท่านั้น

ชนชั้นกลาง ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

อีกหนึ่งเหตุผลของการศึกษาชิ้นนี้มีขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเติบโตของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีส่วนช่วยพัฒนา และสร้างอนาคตในตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างไร ซึ่งผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉลี่ย (ต่อคนต่อปี) มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 390 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 12,420 บาท) ภายใน 2025 หรือเพิ่มขึ้น 3.2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2019

ที่สำคัญ การสำรวจนี้ยังพบว่ามีผู้บริโภคกลุ่มใหม่เกิดขึ้นนั่นคือกลุ่มที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่าพวกเขาอยากซื้ออะไรจากแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้เกิดพฤติกรรมการไล่ดูสินค้าไปเรื่อย ๆ หรือที่การสำรวจนี้ให้ชื่อว่า “Discovery Generation”

เปิดพฤติกรรม Discovery Generation ชาวไทยที่นักการตลาดควรรู้

ข้อแรกก็คือ Discovery Generation ชาวไทยเป็นกลุ่มที่เช็คราคาเก่ง โดย 90% ของนักช้อปมีการเปรียบเทียบราคาทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์

ข้อสอง ประเทศไทยมีนักช้อปกลุ่มที่เป็น High Spender 35% (ยอดใช้จ่าย 386 – 618 เหรียญสหรัฐต่อปี), Mid Spenders 29% (ยอดใช้่จ่าย 270 – 386 เหรียญสหรัฐต่อปี) และ Low Spenders 36% (ยอดใช้จ่าย 193 – 270 เหรียญสหรัฐต่อปี) ดังภาพ

 

นอกจากนี้ Facebook พบว่า 71% ของ Digital Consumers ชาวไทยที่มีพฤติกรรมดังกล่าว และทำให้ 55% ของคนกลุ่มนี้มองหาแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ หรือทำให้เขาพบไอเท็มใหม่ ๆ ได้โดยง่าย รวมถึงพบว่า 58% ของกลุ่ม Discovery Generation ในประเทศไทย เคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย

ตลาดเป็นใจ ให้โอกาสแบรนด์เล็ก?

คุณจอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทย

จากลักษณะพิเศษนี้ คุณจอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทยให้ความเห็นว่า สำหรับแบรนด์ขนาดเล็กที่กำลังสร้างตัว นี่คือโอกาส เพราะมีคนเกือบ 60% ยอมซื้อของจากแบรนด์ที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อนบนอินเทอร์เน็ต ประกอบกับจุดเด่นอีกข้อที่ Facebook พบว่า 40% ของผู้บริโภคชาวไทยคุ้นเคยกับการทำ Conversation Commerce แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อาจไม่คุ้นเคยเท่า (เช่น สหรัฐอเมริกาที่พบว่าคุ้นเคยกับวิธีนี้แค่ 5% เท่านั้น) เมื่อปัจจัยทั้งสองข้อมาประกอบกันจึงถือว่าเป็นตลาดที่เอื้อต่อการเติบโตของแบรนด์ขนาดเล็ก

แต่สำหรับแบรนด์ขนาดใหญ่ ความเห็นจาก Facebook มองว่าเป็นความท้าทาย เนื่องจากการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า มีคนพร้อมจะเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ไม่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับที่ผ่านมา การขายสินค้าของแบรนด์ขนาดใหญ่ก็คือการส่งสินค้าให้ห้างค้าปลีกอย่าง BigC, Central ไปดำเนินการต่อ ซึ่งทำให้แบรนด์ขนาดใหญ่ขาดประสบการณ์ในการสร้างลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เช่น Lazada หรือ Shoppee และอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างที่ควรจะเป็น

โดยการสำรวจนี้มีผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามทั้งสิ้น 12,965 คนจากประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม รวมถึงผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุนอีกกว่า 30 คนในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจากประเทศไทยในการสำรวจนี้มีทั้งสิ้น 1,954 คน (จัดทำเมื่อเดือนมิถุนายน 2019)


แชร์ :

You may also like