เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงลึก ภายใต้แนวคิด Design Service Transformation เพื่อให้นักออกแบบไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวโดยไม่ตกยุค เปิดมุมมองให้เท่าทัน 5 เทรนด์โลกที่น่าจับตามอง อีกทั้งผลักดันนักออกแบบไทยเป็นสินค้าบริการโกอินเตอร์ บุกตลาด CLMV หรือประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง อาทิ เมียนมาและเวียดนาม ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของโครงการ Design Service Society ที่กรมการค้าระหว่างประเทศ จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015
“โครงการ Design Service Society จัดมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราจัดอบรมเชิงลึกในแง่มุมต่างๆ ให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ไปแล้วกว่า 100 คน ซึ่งมีประมาณ 10 % ที่ได้ลงสนามทำงานจริงร่วมกับผู้ประกอบการคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการนี้ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มให้เกิดการแมทชิ่งและทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการคนไทยภาคธุรกิจส่งออกกับกลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ ที่นำความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าส่งออกของไทย ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ แต่นักออกแบบจะต้องทำงานแบบเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เกิด New Idea จริงๆ โดยเป้าหมายของกรมฯ ตั้งไว้ 2 ประการด้วยกันคือ สร้างนักออกแบบมืออาชีพที่มีคุณภาพมาช่วยผลักดันอุตสกรรมการส่งออกไทย ขณะเดียวกันก็ปั้นกลุ่มนักออกแบบไทยขึ้นมาเป็นสินค้าบริการสำหรับส่งออกงานบริการด้านการออกแบบไปยังต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) 4 ประเทศ ประกอบไปด้วย กัมพูชา , สปป.ลาว , เวียดนาม และเมียนมา โดยเฉพาะเมียนมาและเวียดนาม ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้จะพานักออกแบบไทยไปให้บริการด้านการออกแก่กับผู้ประกอบการที่เมียนมาเป็นที่แรก ถือเป็น Business Matching รูปแบบหนึ่ง” นางสาวประอรนุช กล่าวถึงภาพรวมของโครงการฯ
ทางด้าน รศ.ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากร นายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ Industrial Designers Society (IDS) ซึ่งทำหน้าจัดการอบรมเชิงลึกในครั้งนี้ได้กล่าวว่า “ภายใน 2 ปีนี้คำว่า Transformation คือสิ่งที่ผู้ประกอบการจะหลีกหนีไม่ได้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง หากไม่มีการปรับตัวก็จะต้องล่มสลายหรือตกยุคไป เช่นเดียวกับนักออกแบบอุตสหกรรม เป้าหมายไม่ใช่แค่การออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สวยงามเท่านั้นแต่ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย ดังนั้นการอบรมเชิงลึกภายใต้ แนวคิด Design Service Transformation ในวันนี้จะเน้นเรื่องของ การปฏิรูปการทำงานให้เท่าทันยุคดิจิทัล ตัวอย่างเช่นการศึกษา 5 เทรนด์การออกแบบโลกที่น่าจับตามองเพื่อหลีกหนีคำว่า นักออกแบบตกยุค”
สำหรับ 5 เทรนด์การออกแบบโลกที่น่าจับตามองนั้น ได้แก่ 1. Transformative &Disruptive Technologies หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาให้บริการ เช่น การนำโดรนมาใช้ในการบริการส่งอาหารสด ตู้อัตโนมัติในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ หรือแม้แต่หุ่นยนต์ทำอาหาร 2. Advanced Data-Driven Design การออกแบบที่นำข้อมูลหรือ Data ไปประมวลผล แล้วนำผลที่ได้ไปใช้ในการออกแบบ 3. End-to-End Customer Journey Experience แนวคิดการออกแบบ “Circular Economy” หรือ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” กล่าวคือ การออกแบบต้องคำนึงถึงตั้งแต่กระบวนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตเป็นสินค้า โดยทุกกระบวนการปราศจากของเสียสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่รู้จับ 4. Not Just Impression and Implementation, but IMPACT การออกแบบที่ลดการสร้าง “ผลกระทบทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม” เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse หรือ Recycle) เพราะแนวโน้มบรรจุภัณฑ์จะเลิกใช้พลาสติกและหันมาใช้วัสดุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบที่ใช้จะต้องไม่ใช่ขยะ และสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตได้อีกด้วย และ 5. Not Just Mass Customisation, but Personalisation การออกแบบที่เน้นสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ “ประสบการณ์ส่วนบุคคล” เช่น เสื้อผ้าที่สามารถตอบโจทย์เรื่อง Health Tech หรือการออกแบบการออกกำลังกายเฉพาะตามกรุ๊ปเลือด เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วในการอบรมเชิงลึก ภายใต้แนวคิด Design Service Transformation ซึ่งจัดโดย DITP ในครั้งนี้ ยังได้เชิญวิทยากรที่เป็นนักออกแบบอุตสหกรรมมืออาชีพมากมาย มาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้นักออกแบบหน้าใหม่ในหัวข้อต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนจากการออกแบบอุตสาหกรรมไปสู่การออกแบบดิจิทัล, กลยุทธ์การริเริ่มธุรกิจการบริการออกแบบยุคใหม่, กระบวนการบริการออกแบบเพื่อพิชิตใจลูกค้า และเคล็ดลับการบริหารธุรกิจการบริการออกแบบสู่สากล
อย่างไรก็ตาม โครงการ Design Service Society มีเป้าหมายในการสร้างแพลตฟอร์ม หรือ เวทีสร้างความรู้จักระหว่างนักออกแบบอุตสหกรรมกับผู้ประกอบการ ที่อาจจะร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีฝีมือการออกแบบอย่างมืออาชีพตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.idsocietythailand.org หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่email : idsocietythai@gmail.com Facebook Fanpage : idsocietythai