การประมูล 5G ของ กสทช. เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2563 ทำให้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G เป็นประเทศแรกในอาเซียน 5G คือ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในเจเนอเรชั่นที่ 5 มีความเร็วกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า รองรับการใช้งานได้หลากหลายอุปกรณ์ ทั้ง สมาร์ทโฟน และ IoT (Internet of Things) แต่ก็ยังมีอีกหลายคำถามเกี่ยวกับการประมูลครั้งนี้ Brand Buffet สรุปประเด็นสำคัญๆ พร้อมกลยุทธ์การขันของ 3 โอเปอเรเตอร์ และสาเหตุการเข้าประมูลของ CAT-TOT
การประมูลคลื่น 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2563 ของ กสทช. ได้เงินไป 100,521 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย คือ AIS TRUE DTAC CAT และ TOT
แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากโอเปอเรเตอร์ให้เลื่อนการประมูลไปก่อน เพราะหลายประเทศเพิ่งเริ่มต้นให้บริการ แต่ กสทช. ยืนยันประมูล 5G ในปี 2563 เพราะต้องการเปิดให้บริการ 5G เป็นประเทศแรกๆ ของโลก หลังจากประเทศไทยเปิด 3G และ 4G ล่าช้า และต้องการกระตุ้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี 5G คาดว่าปี 2563 จะมีเงินลงทุนประมาณ 177,039 ล้านบาท คิดเป็น 1.02% ของ GDP
อีกข้อเรียกร้องก่อนประมูลของเอกชน คือ ให้นำคลื่น 3500 MHz มาประมูล เพราะเป็นย่านความถี่ที่เหมาะกับการทำ 5G และหลายประเทศใช้คลื่นย่านนี้ การมีผู้ใช้ทั่วโลกจำนวนมาก จะทำให้ต้นทุนต่ำ ด้านอุปกรณ์โครงข่าย (Network) และมีอุปกรณ์รองรับจำนวนมาก แต่ กสทช. ไม่นำคลื่น 3500 MHz มาประมูล เพราะยังอยู่ภายใต้สัมปทาน “ไทยคม” ที่จะสิ้นสุดในปี 2564 หากนำมาประมูลต้องจ่ายเงินค่าเยียวยา
ประมูล 5G Multi Band 4 คลื่น แต่ 1800 MHz ทำไมไม่มีคนยื่นประมูล
สรุปการประมูล 5G กสทช. ได้นำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 4 คลื่นด้วยกัน ทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง สูง คือ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz 26 GHz
ย่าน 700 MHz 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท ย่าน 1800 MHz 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ย่าน 2600 MHz 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท และ ย่าน 26 GHz 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท
แต่การประมูลจริงมี 3 คลื่น เพราะย่าน 1800 MHz ไม่มีผู้ยื่นประมูล เนื่องจากมีราคาเริ่มต้นสูงที่สุด คือใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท และเงื่อนไขจ่ายเงินให้แค่ 3 งวด
ใครชนะประมูลคลื่นใด
การประมูล 5G ครั้งนี้ ทั้ง 5 โอเปเรเตอร์ ที่เข้าร่วมประมูลชนะประมูลและได้ใบอนุญาต “ทุกราย” แตกต่างกันที่จำนวนใบอนุญาต โดย AIS ชนะประมูลมากที่สุด 3 คลื่น จำนวน 23 ใบอนุญาต รวมมูลค่าประมูล 42,060 ล้านบาท รองลงมาคือ CAT ชนะ 1 คลื่น รวม 2 ใบอนุญาต มูลค่าประมูล 34,306 ล้านบาท , TRUE ชนะ 2 คลื่น รวม 17 ใบอนุญาต รวมมูลค่าประมูล 21,448 ล้านบาท, TOT ชนะ 1 คลื่น 4 ใบอนุญาต มูลค่าประมูล 1,795 ล้านบาท และ DTAC ชนะ 1 คลื่น 2 ใบอนุญาต มูลค่าประมูล 910 ล้านบาท
ทำไมคลื่น 700 MHz แพงสุด
ในการประมูลครั้งนี้ คลื่น 700 MHz มีราคาแพงสุด ประมูลกันไปที่ใบอนุญาตละ 17,153 ล้านบาท แต่ราคานี้ ไม่ได้สร้างภาระให้ผู้ชนะประมูลมากนัก เพราะเงื่อนไขการจ่ายเงิน ให้แบ่งจ่ายได้ 10 งวด (ปี) งวดละ 10% ของราคาประมูล
การที่คลื่น 700 MHz มีราคาแพงกว่าคลื่นอื่น ๆ เพราะเป็นคลื่นความถี่ต่ำ สามารถส่งสัญญาณได้ไกล จึงไม่ต้องลงทุนติดตั้งเสาส่งสัญญาณจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคลื่นความถี่สูง อย่าง 2600 MHz และ 26 GHz
2 หน่วยงานรัฐ CAT และ TOT ทำไมต้องเข้าประมูลด้วย
ในการประมูล 5G ครั้งนี้ มี 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ กสท โทรคมนาคม หรือ CAT และ TOT เข้ามาร่วมประมูลด้วย โดย CAT ได้ไป 2 ใบอนุญาตคลื่น 700 MHz รวมมูลค่า 34,306 ล้านบาท ส่วน TOT ได้คลื่น 26 GHz 4 ใบอนุญาต มูลค่า 1,795 ล้านบาท
ปัจจุบัน CAT ถือครองคลื่น 800 MHz ส่วน TOT ถือครองคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งมีสิทธิใช้งานถึงปี 2568 จึงต้องเข้าประมูลเพื่อให้มีคลื่นใช้งานต่อไป ในอนาคตทั้ง 2 องค์กรจะควบรวมกิจการเป็น NT (National Telecom หรือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้บริการด้านโทรคมนาคมแข่งขันกับเอกชน จึงแยกกันประมูลเพื่อให้มีทั้งคลื่นความถี่ต่ำและสูงไว้ในมือ
AIS เกมของคนตัวใหญ่
ที่ผ่านมา AIS แสดงความชัดเจนในการรุกตลาด 5G ของทางค่ายมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสาธิตการใช้งาน 5G หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบรถไร้คนขับที่ควบคุมจากระยะไกลในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย, การสร้างทีม AIAP สำหรับเตรียมขุนพลด้าน IoT เพื่อรองรับการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ และในการประมูลครั้งนี้ AIS ก็สามารถคว้าคลื่นที่ทางค่ายต้องการสำหรับเสริมยุทธศาสตร์ด้าน 5G ไปได้มากที่สุดทั้ง Low Band, Mid Band และ High Band โดยจ่ายค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 42,060 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับคลื่นเดิมที่ทางค่ายมีอยู่ ทำให้ AIS มีคลื่นสำหรับตอบโจทย์ด้านการให้บริการโทรคมนาคมในยุคต่อไปมากถึง 1420MHz เลยทีเดียว
TRUE เกมของความหลากหลาย
สำหรับกลุ่ม TRUE พบว่า มีการประมูลคลื่น Mid Band และ High Band ไป คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 21,000 ล้านบาท ส่วนคลื่น Low Band นั้น ทางค่ายมีของเดิมอยู่แล้ว นั่นคือคลื่น 700MHz จำนวน 10 MHz 850 MHz จำนวน 30 MHz (ในส่วนนี้เป็นคลื่นที่ TRUE พันธมิตรกับทาง กสท โทรคมนาคม) และคลื่น 900 MHz อีก 10 MHz ทาง TRUE จึงไม่มีการประมูลในส่วนนี้
เมื่อรวมกับคลื่น Mid Band (คลื่น 2600 MHz จำนวน 90 MHz) และ High Band (คลื่น 26 GHz จำนวน 800 MHz) ที่ประมูลมา TRUE จึงออกมาประกาศว่า พวกเขาเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่มีคลื่นความถี่ครบทั้ง 7 ย่าน โดยเฉพาะคลื่นความถี่ต่ำที่มีหลากหลายมากที่สุด โดยรวมแล้ว TRUE อ้างว่าถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด 1020 MHz (แต่ถ้าเป็นคลื่นของ TRUE เองล้วน ๆ แล้วจะมีอยู่ที่ 990MHz)
DTAC เกมของ Customer Centric
หลังจากการประมูลจบลง DTAC เป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ออกมาประกาศแผนพัฒนาบริการ 5G ซึ่งแผนในการใช้คลื่นของ DTAC เน้นไปที่การให้บริการลูกค้าในระบบ 20 ล้านคนให้ได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น เช่น การนำคลื่น 5G ไปให้บริการในรูปแบบ WiFi Hotspot ที่ให้ความเร็วของสัญญาณเทียบเท่าอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของจำนวนคลื่นในมือ พบว่า DTAC มีคลื่นอยู่ราว 470MHz ซึ่งหลายคนเคยทักท้วงว่า DTAC มีน้อยเกินไปหรือเปล่า ในจุดนี้ DTAC ได้มีการชี้แจงโดยอ้างอิงการคาดการณ์จาก GSM Association ที่ระบุว่า ภายในปี 2025 ตลาดเอเชียแปซิฟิกจะมีพื้นที่การให้บริการ 5G เพียง 15% ของจำนวนประชากรเท่านั้น ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงยึดโยงอยู่กับ 4G และนั่นทำให้ DTAC มองว่า คลื่นที่มีในมือ ณ ปัจจุบันนี้ “เพียงพอ” และสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่อยู่ใน Ecosystem ของ DTAC แล้ว
เกม 5G ของ AIS, DTAC และ True ต่างกันอย่างไร
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การประมูลคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 เจ้าอย่าง AIS, DTAC และ TRUE เป็นการเลือกประมูลเพื่อเสริมแกร่งให้กับแผนยุทธศาสตร์ของตัวเองเป็นหลัก แต่ละค่ายแต่ละแบรนด์ต่างแสดงให้เห็นแล้วว่า ตนเองมีจุดแข็งตรงไหน จะก้าวต่อไปอย่างไร และมองอนาคตด้าน 5G เอาไว้อย่างไร
บริการ 5G เริ่มเมื่อไหร่
หลังจบการประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 กสทช. ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลที่มาจ่ายเงินงวดแรก เพื่อให้ผู้ชนะการประมูลนำเข้าอุปกรณ์และติดตั้งภายในเดือน ก.พ. และเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือน มี.ค. 2563 ไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้บริการ 5G