ถึงแม้ว่าจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายในโลกออนไลน์ ในเหตุความรุนแรง #กราดยิงโคราช โดยงานนี้มีสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์จำนวนหนึ่งที่สร้างความรู้สึกว่าทำหน้าที่เกินกว่าเหตุ จนขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางคอมเมนต์ในเชิงลบ “เรตติ้ง” ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ในวงการมีเดียใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงความนิยม กลับบ่งบอกความจริงอีกด้าน!
อ้างอิงจากเว็บไซต์ TVDigitalWatch ที่ระบุว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ระหว่าง 18.00-24.00 น. ช่องวัน ได้เรตติ้งเป็นอันดับ 1 ที่ 3.682 รองลงมาเป็นช่อง 7 HD ที่มีเรตติ้ง 3.561 อันดับ 3 คือ Amarin TV 3.450 ส่วน Thairath TV ก็ทำเรตติ้งไป 2.667 ทั้งๆ ที่ในโลกออนไลน์มีการกล่าวถึงช่อง One 31, Amarin TV และ Thairath อย่างกว้างขวาง ว่าอาจจะนำเสนอข้อมูลที่มากเกินความจำเป็น จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น แต่กลับเป็นประโยชน์กับคนร้าย นอกจากนี้ยังกระทบกับความรู้สึกของญาติผู้เสียหาย
ถ้าหากว่าวิเคราะห์กันโดยละเอียด เรตติ้งทีวีที่รายงานโดย นีลเส็น วัดจำนวนผู้ชมจากหน้าจอทีวี ถ้าอยากรู้ว่าเรตติ้งทีวี มีคนดูมากแค่ไหน วิธีคำนวณง่ายๆ 1 เรตติ้ง ก็คือ 1% ของจำนวนประชากรไทย ปัจจุบันประชากรไทยมี 67 ล้านคน ดังนั้นเรตติ้ง 1 คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ 670,000 คน เรตติ้งช่องวันในวันที่รายงานข่าวเหตุการณ์โคราช มาเป็นอันดับ1 ในวันที่ 8 ก.พ.2563 เวลา 18.00-24.00 น. โกยเรตติ้ง 3.682
นั่นเท่ากับว่ามีผู้ชมดูหน้าจอทีวีช่องOne 31 ในช่วงเวลานั้นพร้อมกัน 2.47 ล้านคน ไม่รวมผู้ชมที่ดูผ่านหน้าจอออนไลน์
มีคำกล่าวว่า “สื่อ” ก็เป็นภาพสะท้อนสังคม ขณะเดียวกัน “สังคม” ก็สะท้อนสื่อ … ผลของเรตติ้งที่ออกมาแบบนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า เกม “กระชากเรตติ้ง” ในสังคมอุดมดราม่า กลับกลายเป็นว่ายิ่งโดนด่า ยิ่งดัง (อ่านเพิ่มเติม ช่อง One31 ชี้แจงกรณีรายงานข่าว #กราดยิงโคราช)
ท่ามกลางกระแสสังคมที่เรียกร้องจริยธรรมจากสื่อ เราอาจจะต้องถามตัวเองก่อนว่ายั้งใจไม่เสพความรุนแรง ข่าวเมาท์ หรือคอนเทนต์ Hate Speech เหล่านี้ไหวไหม … เพราะยิ่งเข้าไปคอนเมนต์ ยิ่งเข้าไปเปิดดูเพื่อจับผิดก็ยิ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นเชื้อไฟให้ปะทุ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่ม Engagement ส่งผลให้ Algoritm ยิ่งฟีดคอนเทนต์เหล่านั้นมาให้ พฤติกรรม FOMO (Fear of Missing Out) บีบให้เรายิ่งกระหายข่าว ต้องเสพ ต้องรู้ ไปจนถึงต้องแชร์ข่าวสารและแสดงความรู้สึกร่วมออกไป เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างพื้นที่โศกนาฏกรรมให้กลายเป็นเวทีมหรสพขนาดใหญ่ ที่ปลดเปลื้องความรู้สึกของตัวเองเราเองทั้งนั้น
ด้านสื่อเอง “เสรีภาพ” มาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ” ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลเกินกว่าขอบเขตอำนาจรัฐ มากกว่าที่เจ้าของแพลตฟอร์มจะควบคุมได้หมด สื่อมวลชนคงต้องมองกระจกแล้วถามตัวเองให้ชัดขึ้นว่า ประโยชน์ของการส่งต่อข่าวสารชิ้นนั้นคืออะไร หรือแค่กระตุ้นความนิยมของตัวเองเท่านั้น?