HomeBrand Move !!คณะกรรมการแข่งขันฯ เบรกแรง BDMS ฮุบ ‘บำรุงราษฎร์’ ดูกฎหมายด้วย

คณะกรรมการแข่งขันฯ เบรกแรง BDMS ฮุบ ‘บำรุงราษฎร์’ ดูกฎหมายด้วย

แชร์ :

ยังวุ่นไม่จบหลัง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 27 ก.พ.2563 จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ  บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 8.56 หมื่นล้านบาท ถึง 1.02 แสนล้านบาท  ไม่ทันข้ามคืน BH ซัดกลับ ว่าไม่คาดคิดว่าจะมีดีลนี้เกิดขึ้น และจะเข้าหารือกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในทันที

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุดมีความชัดเจนจากภาครัฐ โดย คุณสันติชัย สารถวัลย์แพศย์  กรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)  ในฐานะโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ชี้แจงว่ากรณี BDMS จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ในหุ้นทั้งหมดของ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ตามหลักของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีเจตนาให้ตลาดมีการแข่งขันมากที่สุด  โดยการแข่งขันนั้นจะต้องมีความเป็นธรรมด้วย อีกด้านหนึ่งต้องปกป้องตลาด “ไม่ให้” ผู้ประกอบธุรกิจ “รายใดรายหนึ่ง” เข้าไปผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน  หรือทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบัน ได้มีการปรับแก้ไขมาจากฉบับปี 2542 และมีความชัดเจนในการบังคับใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ “การรวมธุรกิจ” ซึ่งมีการกำหนดไว้ชัดเจน 2 กรณี

  1. หากรวมธุรกิจแล้วทำให้ “เกิดการผูกขาด” หรือมีอำนาจเหนือตลาด (ส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป และมียอดขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องดำเนินการขออนุญาตและได้รับการอนุญาต จาก กขค. ก่อน จึงจะสามารถทำการรวมธุรกิจได้
  2. หากร่วมธุรกิจแล้วทำให้ “เกิดการลดการแข่งขัน” อย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง (ส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 50% และมียอดขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจกับ กขค. ภายในระยะเวลา 7 วัน นับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสิ้น

กรณีของ BDMS หากดำเนินการเข้าซื้อหลักทรัพย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตามที่ BDMS แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ  “จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก่อนดำเนินการ”  เนื่องจาก BDMS เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ  ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้แข่งขันและสภาพการแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและผู้บริโภคว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่

นอกจากนี้ กขค. ขอเตือนผู้ประกอบการธุรกิจรายอื่นๆ ที่กำลังมีแผนการควบรวมธุรกิจ หรือ เข้าซื้อหุ้นในธุรกิจอื่น ให้ศึกษากฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการทำผิดตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ

ปัจจุบัน BDMS มีแบรนด์โรงพยาบาลในเครือถึง 6 แห่ง โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาล BNH โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลรอยัล รวมแล้ว BDMS มีโรงพยาบาลในมือไม่ต่ำกว่า 48 แห่ง ทำให้เป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมาร์เก็ตแคปราว 4 แสนล้านบาท

ส่วน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล  ซึ่ง BDMS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้วสัดส่วน 24.92%เป็นโรงพยาบาลขนาด 580 เตียง


แชร์ :

You may also like