ภาวะเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา กระทบต่อภาคท่องเที่ยว ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทยด้านการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การลงทุนเอกชนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การประชุม กนง.วันนี้ (5 ก.พ.) มีมติเอกฉันท์ ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (5 ก.พ.) คณะการมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม จากปัจจัยการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัญหาภัยแล้ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ด้านเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ขณะนี้จึงจำเป็นต้องประสานมาตรการทางการเงินและการคลังเข้ามาดูแล กนง.จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ จึงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ต่อปี
“ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า ภัยแล้ง จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลง ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า”
ด้านอุปสงค์ในประเทศ การขยายตัวภาครัฐมีแนวโน้มต่ำลง จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า และยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ยังได้รับผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ทั้งจากครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ภาวะการเงินที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับผ่อนคลาย จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง “ทรงตัว” อยู่ในระดับต่ำ และสภาพคล่องการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อธุรกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่า “เงินบาท” อ่อนค่าลงบ้าง เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง แต่ยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและมีแนวโน้มผันผวน จากระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น แนวโน้มเเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะความสามารถชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SME กนง.เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่างๆ ที่ภาครัฐ และ ธปท. ได้ดำเนินการ เป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด หลังจากนี้จะติดตามมาตรการต่างๆ รวมทั้งการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้
ด้าน บล.กรุงศรี จัดทำบทวิเคราะห์ การลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากภาพรวมถูกกดดันจากการส่งออกหดตัว ภาคท่องเที่ยวถูกกระทบจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา การลงทุนภาครัฐล่าช้า