การพยายามทรานสฟอร์มของธุรกิจธนาคารมาสู่การเป็น Digital Banking Platform เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกดิสรัป รวมทั้งการปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและ Mobile First ซึ่งต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะสามารถสร้าง New Normal ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่าน Mobile Banking ได้สำเร็จ
โดยเฉพาะการทลาย Barrier สำคัญ ด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมต่างๆ จนสร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตให้กับฟาก Digital Banking รวมทั้งการขยายการให้บริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เจ้าของบัญชีสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งการถอน โอน เติม จ่าย หรือแม้แต่ฝากเงินได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาธนาคารอีกต่อไป
ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะเติมภาพความเป็น Lifestlye Banking ควบคู่ไปด้วย ทำให้ Mobile Banking เป็นแพลตฟอร์มคนไทยเพียงอย่างเดียวที่ยังคงสามารถรักษาพื้นที่หน้าแรกบนจอสมาร์ทโฟนของ Users ชาวไทยไว้ได้ ท่ามกลางหลากหลายแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่แทบจะยึดพื้นที่ไว้เกือบทั้งหมด
ปลดล็อกประตู สู่ธนาคารแห่งอนาคต
โดยปัจจุบันในฟากของ Retail Banking เรียกได้ว่าทุกธุรกรรมที่มีอยู่ลูกค้าสามารถทำเอง ผ่านโมบายแบ้งกิ้งได้ทั้งหมดแล้ว เหลือแค่เพียงการเปิดบัญชี ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปราการด่านสุดท้ายที่ยังต้องนำลูกค้าเข้ามาที่สาขาธนาคาร เพื่อยืนยันตัวตนของผู้เปิดบัญชี และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการทุจริตปลอมแปลงบัญชี รวมทั้งป้องกันการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านการฟอกเงินต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้น Regulator จึงได้เริ่มทยอยปลดล็อกให้ลูกค้ารีเทลแบ้งกิ้งของธนาคารพาณิชย์จำนวน 7 ราย สามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมาที่สาขาได้แล้ว โดยให้ทำผ่านระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล บนแพลตฟอร์ม NDID หรือ National Digital ID ที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ ภายใต้เทคโนโลยียืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถืออย่าง เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เพื่อลดความกังวลใจด้านระบบ Security ต่างๆ
จากการไฟเขียวครั้งนี้ ทำให้เกิดคลื่นระลอกใหม่ในแวดวงธุรกิจธนาคาร และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการก้าวไปเป็น Fully Digital Banking หรือการเป็นธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างแท้จริง จะยิ่งทำให้สามารถ Engage กับผู้บริโภคได้สะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ โดยเฉพาะการดึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ให้เข้ามาใช้ Financial Platform ของคนไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มมองเห็นสัญญาณเหล่านี้มาตั้งแต่การเบ่งบานของ Mobile Banking ที่ทำให้ Engagement โดยรวมของลูกค้ากับบรรดาธนาคารต่างๆ เริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าช่วงที่ยังเป็น Physical Banking ในรูปแบบเดิมๆ
รวมทั้งยังช่วยตอกย้ำสถานะของธนาคารในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ให้บริการธุรกรรมต่างๆ ทางการเงิน (Bank is a Platform) ซึ่งลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ที่ต้องการได้เอง จากทุกที่ ทุกเวลา โดยที่ไม่ต้องไปธนาคารอีกต่อไป ทำให้ยิ่งมองเห็นภาพในอนาคตของธุรกิจธนาคารได้ชัดเจนมากขึ้น เหมือนกับที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินหลายๆ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ธนาคารในอนาคตจะต้องอยู่ได้ในทุกที่ ยกเว้นที่ธนาคาร”
SCB เพิ่มบริการยืนยันตัวตน ผ่านเซเว่นฯ
หนึ่งในธนาคารที่เร่งเดินเครื่องเพิ่มฐานลูกค้าใหม่เข้ามาในระบบอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแบ้งกิ้ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB นอกจากที่เป็นหนึ่งธนาคารในแซนด์บ็อกซ์เพื่อร่วมทดสอบแพลตฟอร์ม NDID แล้ว ยังต่อยอดการยืนยันตัวตนกับพาร์ทเนอร์สำคัญอย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดย บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เพื่อให้สามารถขยายฐานไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยการใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ และยังมีปริมาณที่ค่อนข้างมากอยู่เช่นเดียวกัน
โดยร้านเซเว่นฯ ในฐานะ Banking Agent ของทาง SCB ได้เปิดให้บริการทางการเงินในฟากของรีเทลแบ้งกิ้งให้กับลูกค้า SCB ในปีที่ผ่านมา โดยที่ SCB ยังเป็นธนาคารแรกที่สามารถให้บริการรับฝากเงินผ่านร้านเซเว่นฯ ได้ด้วย ซึ่งในปีนี้ SCB และเซเว่นฯ ได้เติมเต็มบริการของกลุ่มลูกค้ารายย่อยด้วยการเพิ่มการให้บริการ “ยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส” ภายใต้แนวคิด “ฉันเองคนนี้ที่เซเว่นฯ” ผ่านเทคโนโลยี Facial Recognition สำหรับลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยใช้บริการของไทยพาณิชย์มาก่อน (New to bank) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีสมุด หรือ eSaving โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาอีกต่อไป
คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวแรกสำหรับการต่อยอดสู่การใช้บริการทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต อาทิ การเปิดใช้งาน SCB EASY การสมัครบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตร Planet SCB การขอสินเชื่อหรือการลงทุนต่างๆ ซึ่งบริการนี้ได้ผ่านการทดสอบแซนด์บ็อกซ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ (Own sandbox) เป็นที่เรียบร้อย โดยคาดว่า หลังเปิดให้บริการแล้วจะสามารถขยายฐานเพิ่มลูกค้าใหม่ของธนาคารจากช่องทางนี้ได้กว่า 1 ล้านรายภายในสิ้นปี
คุณวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า เคาน์เตอร์เซอร์วิส เพิ่มบริการในฐานะ Banking Agent ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารแรกในการให้บริการยืนตัวตน ผ่านสาขาที่มีราว 12,000 แห่ง กระจายไปทั่วประเทศ เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชี เพียงใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว โดยมีความแม่นยำในการพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL 2.3 ซึ่งเป็นระดับที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน โดยในปีนี้จะเพิ่มการให้บริการให้เข้าถึงมากขึ้นตามจำนวนสาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่จะขยายเพิ่มเติมในปีนี้อีกราว 850 แห่ง
สำหรับความร่วมมือกับทางเซเว่นฯ ในฐานะแบ้งกิ้งเอเยนต์ ตั้งแต่ในปีที่ผ่านมาและมีปริมาณธุรกรรมโดยรวมทั้งการฝากและถอนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 31,875 ล้านบาท แบ่งเป็นฝาก 31,776 ล้านบาท ถอน 99.46 ล้านบาท หรือมีปริมาณธุรกรรมฝากถอนเฉลี่ยต่อวันที่ 185.3 ล้านบาท หรือราวเดือนละ 5,600 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแม้อาจจะดูว่ามาก แต่ปริมาณธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์มีสัดส่วนเพียงแค่ 5% เท่านั้น ส่วนใหญ่อีกถึง 95% ยังคงอยู่ในฟากของออฟไลน์
ดังนั้น การเพิ่มบริการผ่านแบงก์กิ้งเอเย่นต์ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จะเป็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยใช้บริการของไทยพาณิชย์มาก่อน (New to Bank) โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเริ่มเปิดบัญชีได้เมื่ออายุครบ 15 ปี รวมทั้งสามารถขยายฐานไปสู่ลูกค้าเซเว่นที่มีเข้าในแต่ละสาขาไม่ต่ำกว่า 13-14 ล้านคนในแต่ละวัน ที่แม้ว่าอาจจะไม่ใช่กลุ่ม Purely Digital แบบ 100% แต่ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี เช่นเดียวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีแต่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
ความร่วมมือของ SCB และเซเว่นฯ ในครั้งนี้ มีจุดแข็งที่ความสะดวกในการเข้าถึงของลูกค้าได้ง่ายมากขึ้นผ่านสาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีกว่า 1.2 หมื่นแห่ง และสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เทียบกับจำนวนสาขาธนาคารที่มีอยู่ในหลักพัน ซึ่งความสะดวกที่เกิดขึ้นคาดว่าจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าธนาคารโดยรวมที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 16 ล้านราย และเป็นฐานลูกค้าในฟาก Digital Banking ที่มีกว่า 10 ล้านราย รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนผู้มีบัญชีเงินฝากโดยรวมของทั้งประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีอยู่กว่า 90 ล้านบัญชี เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย