บทสรุป 10 เรื่องของอภิมหาดีลที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ทุ่มเงินมูลค่า 338,445 ล้านบาท ซื้อกิจการค้าปลีก “เทสโก้” (Tesco) ในประเทศไทยและมาเลเซีย ปาดหน้าตระกูลสิริวัฒนภักดี และจิราธิวัฒน์
1. “เทสโก้ โลตัส” ถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทยในปี 2537 (1994) โดยเป็นการทดลองของเครือซีพี ที่อยากทำห้างค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ต่อมาเมื่อประเทศไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทางซีพี จึงต้องตัดสินใจขายกิจการห้างค้าปลีกนี้ให้กับ “เทสโก้” ในปี 2541 จนเปลี่ยนชื่อเป็น “เทสโก้ โลตัส” ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาจนถึงทุกวันนี้
2. ต่อมาเมื่อปลายปี 2019 ทางกลุ่ม Tesco ประเทศอังกฤษ ต้องการโฟกัสธุรกิจค้าปลีกในยุโรปเท่านั้น ท่ามกลางการแข่งขันที่ยากลำบากในธุรกิจค้าปลีก เมื่อเผชิญหน้ากับ Technology Disruption การเกิดขึ้นของ E-Commerce และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของผู้บริโภค จึงตัดสินใจขายกิจการในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยมีกลุ่มทุนใหญ่ 3 ราย ประกอบด้วย กลุ่มซีพี, กลุ่มทีซีซี และกลุ่มเซ็นทรัล ให้ความสนใจเข้าซื้อกิจการ และการเข้าประมูลกิจการก็ดำเนินมาเรื่อยๆ ตามข่าวพบว่ากำหนดการปิดดีลน่าจะเกิดขึ้นราวๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม และในที่สุดวันที่ 9 มีนาคม ก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มซีพีคว้ากิจการของ “เทสโก้” กลับมาอยู่ในกลุ่มได้อีกครั้ง
3. กลุ่ม CP ลงทุน ใน Tesco ประเทศไทย และ มาเลเซีย รวมมูลค่า 338,445 ล้านบาท โดยมี 3 บริษัทในเครือ รวมพลังร่วมกันเป็นผู้ซื้อ ประกอบด้วย ซีพีออลล์ (CPALL) 40% , ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง บริษัทในเครือ CPF 20% และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง 40%
4. กลุ่ม CP จัดตั้ง บริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเข้าถือหุ้น 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ Tesco Lotus ในประเทศไทย และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ดำเนินธุรกิจ Tesco ในมาเลเซีย รวมธุรกิจ Tesco ในไทยและมาเลเซีย หรือ กลุ่มเทสโก้เอเชีย
5. ซีพี ออลล์ เข้าถือหุ้น 40% ในกลุ่มเทสโก้เอเชีย มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่า 95,981 ล้านบาท ส่วน ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง ในเครือ CPF ถือหุ้น 20% มูลค่า 47,991 ล้านบาท และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง 40%
6. ขั้นตอนการลงทุนในเทสโก้เอเชีย จะเกิดขึ้นต้องทำตามเงื่อนไขก่อนสัญญาก่อน คือ Tesco PLC (เจ้าของเทสโก้ ประเทศอังกฤษ) ได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ขายหุ้นกลุ่มเทสโก้เอเชีย, สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า อนุญาตให้ เทสโก้ โฮลดิ้งส์ ขายหุ้นในเทสโก้ ประเทศไทย และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia อนุญาติให้ขายหุ้นเทสโก้ ในมาเลเซีย ขั้นตอนทั้งหมดจะสำเร็จใน 6 เดือนหลังของปี 2563
7. ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ประกอบด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา , ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา รวม 2,158 สาขา ปี 2562 บริษัทเอก-ชัย ผู้ดำเนินธุรกิจเทสโก้ โลตัส มีรายได้ 188,628 ล้านบาท
8. เทสโก้ ประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา, ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา ,ร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา รวม 68 สาขา และมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา ปี 2562 มีรายได้ 33,551 ล้านบาท
9.นับตั้งแต่การขายกิจการในปี 2541 เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงวิธีคิดเบื้องหลังดีลนี้ว่า การขายกิจการต้องขายตอนที่กิจการยังดีอยู่เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาซื้อสนใจและนำไปขยายกิจการได้ต่อ รวมทั้งเจ้าสัวธนินท์ยังเปิดเผยถึงความต้องการอย่างชัดเจนว่า เมื่อพร้อมก็อยากจะได้ “เทสโก้ โลตัส” ซึ่งเขาเปรียบเสมือนลูกชายคนเล็กที่ฝากให้คนอื่นเลี้ยงดู กลับมาสู่อาณาจักร CP อีกครั้ง และในที่สุด Passion นั้นของเจ้าสัวธนินท์ก็เป็นจริง จึงไม่น่าแปลกใจว่า มูลค่าของเทสโก้ โลตัสที่เมื่อตีเป็นมูลค่าผ่านสัดส่วนหุ้นแล้ว 100% คิดเป็นเงินราวๆ 240,000 ล้านบาท แต่ ซีพี กลับใส่เงินเข้าไปประมูลถึง 338,445 ล้านบาท ท่ามกลางข่าวว่าทางกลุ่มเซ็นทรัลใช้เงินประมาณ 280,000 ล้านบาท และ TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ใส่ตัวเลขประมูลราว 300,000 ล้านบาท
อธิบายง่ายๆ ก็คือ ของมีมูลค่า 240,000 ล้านบาท แต่ผู้ซื้อและผู้ขายพึงพอใจที่จำนวนเงิน 338,445 ล้านบาท ขณะที่ผู้ซื้ออีกสองรายให้เงิน 280,000 ล้านบาท และ 300,000 ล้านบาท จึงไม่ต้องแปลกใจว่าผู้ขายเขาจะขายให้กับคนซื้อรายไหน
10. ประเด็นที่ต้องจับตามองต่อก็คือ เครือซีพี ซึ่งในวันนี้มีกิจการค้าปลีก – ค้าส่ง อยู่ในมือหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สยามแม็คโคร ซึ่งมีรูปแบบค้าส่ง Cash & Carry ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น และ เทสโก้ โลตัส ที่ปัจจุบันมีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต-ไฮเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านค้าขนาดเล็ก จะต่อยอดธุรกิจของซีพีได้อย่างไร? รวมทั้งผู้เข้าแข่งขันอีกสองราย คือ ทีซีซี หรือไทยเบฟฯ ผู้ครอบครองอาณาจักร Big C และกลุ่มเซ็นทรัล เจ้าของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านแฟมิลี่มาร์ท จะตอบโต้แลกหมัดในสงครามค้าปลีกอย่างไร? มีการคาดการณ์ว่า ทางซีพีเองก็ต้องกู้เงิน ราว 1,875 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยขึ้นมา และกระทบกับผลกำไรในภาพรวมของกลุ่มซีพี
นั่นแปลว่าในระยะยาวทางซีพีก็ต้องประเมินแล้วว่า ดีลนี้ “คุ้ม” จึงควักทั้งเงินสดและเงินกู้ไปคว้ามาให้ได้ เช่นเดียวกับที่เคยใช้เงิน 1.8 แสนล้านซื้อ “แม็คโคร” ซึ่งปัจจุบันก็สร้างรายได้ให้กับกลุ่ม CP ALL ถึง 34% ในปีที่ผ่านมา