HomeDigitalไม่ปล่อยให้คนไทยรอนาน สภาดิจิทัลฯ เปิดตัว 6 โซลูชันสำหรับคนไทยในยุค Covid-19

ไม่ปล่อยให้คนไทยรอนาน สภาดิจิทัลฯ เปิดตัว 6 โซลูชันสำหรับคนไทยในยุค Covid-19

แชร์ :

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเปิดตัว 6 โซลูชันช่วยคนไทยในยุค Covid-19 แล้ว ครอบคลุมทั้งการทำ Social Distancing, การเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษา, โซลูชันดูแลผู้สูงอายุ และการปรับนโยบายด้านกฎหมายให้สามารถจัดการประชุมออนไลน์โดยไม่ผิดกฎ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยโซลูชันทั้ง 6 ตัวประกอบด้วย

  1. Self D Care Heatmap

โดยแอปพลิเคชันตัวแรกมีชื่อว่า “Self D Care Heatmap” เป็นแอปพลิเคชัน Position Tracking ที่จะบันทึกตำแหน่งของเราเอาไว้ สามารถตรวจสอบ Timeline ย้อนหลังได้ 14 วัน ว่าเราไปที่ไหนมาบ้าง สำหรับการใช้งาน จะต้องลงทะเบียนและกรอก OTP เพื่อยืนยันตัวตน จากนั้น ระบบจะให้ระบุสถานะว่า ตอนนี้เราเป็นอย่างไร เช่น ปลอดภัยดี, มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ หรือได้ทำการตรวจแล้วพบว่าเป็น Covid-19 เป็นต้น (ในกรณีที่ป่วยแล้วรักษาตัวจนหายแล้วก็สามารถกลับมาแก้สถานะในแอปได้เช่นกัน)

ข้อดีของแอปพลิเคชัน Self D Care นี้อาจเป็นเรื่องความสะดวกในกรณีที่ติดเชื้อ Covid-19 เพราะผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องนั่งนึกว่าตนเองไปที่ไหนมาบ้าง สามารถยื่นโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์นำไปตรวจสอบได้เลย

2. U Safe

แอปพลิเคชันตัวที่สองมีชื่อว่า “U Safe” เป็นแอปพลิเคชันที่ทาง CIPAT ประยุกต์จากระบบโอเพ่นซอร์สของหน่วยงานในสิงคโปร์ที่ใช้ในการกำกับดูแลการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 โดยการทำงานของ U Safe จะใช้บลูทูธ ในการเก็บข้อมูลตำแหน่ง ร่วมกับ AI ในการประมวลผล หน้าที่ของระบบคือการแจ้งเตือนถ้าเรามีโอกาสติด Covid-19 โดยคำนวณจากระยะเวลาและระยะห่างจากผู้ติดเชื้อ

3. QR Check-in

แอปพลิเคชันตัวที่สามมีชื่อว่า “QR Check-in” พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในการติดตามการเดินทางของผู้คนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ผ่าน QR Code และใช้ AI ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงบุคคลอื่นที่ผ่านไปยังสถานที่เสี่ยงในเวลาใกล้เคียงได้ด้วย

อย่างไรก็ดี แอปพลิเคชันที่กล่าวมาทั้งหมดอยู่ระหว่างการทดสอบ โดยคาดว่าจะพร้อมใช้งานในราวกลางเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

4. เว็บไซต์ Helpital.com

นอกจากแอปพลิเคชันด้านการทำ Social Distancing แล้ว ยังมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Helpital.com สำหรับเป็นศูนย์กลางด้านการรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศขึ้นมาด้วยอีกหนึ่งเว็บไซต์ โดยทางสภาดิจิทัลคาดว่าจะทำให้การจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความชัดเจน ถูกต้อง และตรวจสอบได้ (เว็บไซต์จะเริ่มใช้ได้ในเดือนเมษายนเช่นกัน)

5. แอปพลิเคชัน “แทนคุณ”

โซลูชันสุดท้ายเป็นมาร์เก็ตเพลสชื่อว่า “แทนคุณ” โดยมีทั้งแอปพลิเคชันและแบบเว็บไซต์ (www.tankoon.in.th) สำหรับให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วย หรือกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อลดความกังวลใจของบุตรหลาน ส่วนบริการในเว็บไซต์ก็ค่อนข้างหลากหลาย และมีสินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ญาติพี่น้องสามารถเลือกซื้อได้เลย (ดังภาพ)

6. เปิดตัว Student Sim

ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่ยังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และทำให้ไม่สามารถเข้าสู่การเรียนออนไลน์ได้นั้น ทางสภาดิจิทัลฯ ได้จับมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้ง 3 ค่ายได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค และทรู ในการสนับสนุน Student Sim โดยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4Mbps แบบไม่ลดสปีด และไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ในราคา 400 บาท (ระยะเวลา 3 เดือน หรือตกเดือนละ 133 บาท) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2020 นี้เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการสมัครใช้งานของแต่ละค่ายนั้นอาจแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของเอไอเอสระบุว่า นักเรียน นักศึกษา สามารถติดต่อขอรับซิมได้ฟรีที่ AIS Shop, ร้านเทเลวิซและร้าน AIS Buddy ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษา รวมถึงหากสถาบันการศึกษาใดสนใจที่จะจัดซิมหรือแพ็กเกจให้บุคลากรหรือนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถติดต่อมาได้ที่ AIS Call Center 1149

ส่วนกลุ่มทรูระบุว่า จะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา แสดงบัตรประจำตัวนักเรียนหรือนักศึกษา เพื่อรับซิมการ์ดในระบบเติมเงินที่มาพร้อมแพ็กเกจและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้ที่ร้านทรูช็อป และ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ ส่วนถ้าเป็นดีแทค ทางบริษัทระบุว่า มีทีมดูแลลูกค้าองค์กรให้บริการ โดยหากมหาวิทยาลัยใดสนใจ สามารถโทรศัพท์ติดต่อได้ที่หมายเลข 088-188-1678

ทั้งนี้ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยยังได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มาเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ covid-19.dct.or.th, เฟซบุ๊ค: Digital Council of Thailand – DCT หรือรายการในช่อง TNN

นอกจากนั้นยังพัฒนาเว็บไชต์ www.dct.co.th ให้เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน สำหรับการประชุมและเรียนออนไลน์ ได้แก่ Zoom, Google Hangouts, Skype, Line, FaceTime, Facebook Messenger, Microsoft Team และ True VWORLD ตลอดจนรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับ COVID-19 เอาไว้ด้วย

สุดท้าย ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายกฎหมาย ทางสภาดิจิทัลฯ จะมีการผลักดันเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย โดยประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป และแนวทางการดำเนินการของสภาฯ อีกทั้งยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายอุปสรรคต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การกำหนดให้ต้องมีผู้ร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นในปัจจุบันด้วย


แชร์ :

You may also like