HomeBrand Move !!สู้ศึกค้าปลีก BJC ลงทุน ‘หมื่นล้าน’ ขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต- มินิบิ๊กซี

สู้ศึกค้าปลีก BJC ลงทุน ‘หมื่นล้าน’ ขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต- มินิบิ๊กซี

แชร์ :

แม้จะพลาดชัยชนะจากการประมูลบิ๊กดีลซื้อกิจการ Tesco ในไทยและมาเลเซียให้กับกลุ่ม CP  แต่ BJC ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังเดินหน้าลงทุนธุรกิจค้าปลีก Big C ทุกฟอร์แมท ปีนี้ BJC  เตรียมลงทุนเพิ่มมูลค่าราว 8,000-10,000 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปี 2562 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC  รายงานผลประกอบการมีรายได้รวม 174,037 ล้านบาท เติบโต 1.1% กำไรสุทธิ 7,774 ล้านบาท เติบโต 6.7%  โดยมีรายได้จาก 4 ธุรกิจหลัก คือ บรรจุภัณฑ์, สินค้าอุปโภคบริโภค, เวชภัณฑ์และเทคนิค และ ค้าปลีกสมัยใหม่

ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ภายใต้แบรนด์ Big C ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่สุดของ BJC ปี 2562  ทำรายได้ 126,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5%  กำไรสุทธิ 6,604  เพิ่มขึ้น 3.8%

โดยมาจากรายได้การขายสินค้า 111,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4%  จากการเปิดสาขาใหม่ ขณะที่ยอดขายต่อสาขาเดิมลดลง 2.7%  ส่วนรายได้ค่าเช่าและค่าบริการสถานที่และรายได้อื่นๆ 15,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2%

ธุรกิจค้าปลีก ปี 2562  มีสาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 151  สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า) , บิ๊กซีมาร์เก็ต  62 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ตและบิ๊กซี ฟู้ด เพลส), มินิ บิ๊กซี  1,016 สาขา  และร้านขายยาเพรียว 145 สาขา

ปีที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนราว 6,000-7,000 ล้านบาท ต่ำกว่าที่วางไว้ 8,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนฟอร์แมทการขยายสาขา Big C จากไฮเปอร์มาร์เก็ตเดิมวางไว้มากกว่า 4 สาขา แต่ก็เปิดใหม่ไปเพียง 4 สาขา และขยาย “มินิ บิ๊กซี”  พื้นที่ขนาดเล็กแทนราว 300 สาขา จึงใช้เงินลงทุนต่ำกว่าที่วางไว้

ปีนี้ BJC ลงทุนเพิ่ม 8,000-10,000 ล้าน

คุณรามี ปีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปีนี้ BJC ยังลงทุนใน 4 ธุรกิจหลักต่อเนื่อง ด้วยมูลค่า 8,000-10,000 ล้านบาท  เม็ดเงินลงทุนสัดส่วน 70% จะอยู่ใน Big C ทุกฟอร์แมท หรือราว 5,600-7,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 สาขา ลงทุนสาขาละ 300 ล้านบาท  บิ๊กซี มาร์เก็ต 4 สาขา ลงทุนสาขาละ  50-60 ล้านบาท และ มินิ บิ๊กซี 300 สาขา ลงทุนสาขาละ 5-7 ล้านต่อสาขา

ส่วนเงินลงทุนอีก 30% นอกจากบิ๊กซี จะใช้ขยายกำลังการผลิตในอีก 3 ธุรกิจ เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริษัท เช่น โรงงานผลิตทิชชู่ จาก 46,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นมาอีก 20,000 ตันต่อปี  เพื่อขยายตลาดในไทยและต่างประเทศ ส่วนโรงงานรูเบีย อุตสาหกรรม ได้เพิ่มกำลังกานผลิตเจลล้างมือ  ทั้งการรับจ้างผลิตให้แบรนด์ต่างๆ , รวมทั้งแบรนด์ของ BJC และ Big C  เพื่อรองรับความต้องการในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส Covid-19

กำลังซื้อนักท่องเที่ยวจีนลด-คนไทยตุน

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19  ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาไทยลดลง ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ยอดขาย Big C สาขาเมืองท่องเที่ยวราว 19 สาขาเริ่มชะลอตัว  โดยเฉพาะ 4 สาขา ที่มีลูกค้าชาวจีน  มาใช้บริการจำนวนมาก เช่น ราชดำริ  พัทยา ภูเก็ต  กระบี่   ขณะที่ลูกค้านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ยังไม่กระทบ

ขณะเดียวกันก็พบว่าผู้บริโภคชาวไทย ที่เริ่มวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ลดการออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เริ่มมีการซื้อสินค้าเพื่อตุนมากขึ้นในช่วงนี้

“ปัจจุบันยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมินหรือคาดเดาได้ว่า ผลกระทบจาก Covid-19  จะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะยังยากที่จะคาดการณ์ระยะเวลาจะสิ้นสุดของการแพร่ระบาด Covid-19  แต่โดยรวม BJC  ยังวางเป้าหมายปีนี้รายได้เติบโตเป็นเลขตัวเดียว หรือราว 3-5%”

 


แชร์ :

You may also like