ตลาดการเงินโลกกำลังผันผวนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สร้างความตื่นกลัวให้นักลงทุนในระดับที่ใกล้เคียงกับวิกฤติการเงินปี 2008 เพราะแม้ทางการจีนจะแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่สถิติจำนวนผู้ป่วยในสหรัฐฯ และยุโรปกลับเพิ่มขึ้นจนไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ นักลงทุนพบกับเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นมานานหลายปี เช่น ธนาคารกลางออกมาหั่นดอกเบี้ยแบบฉุกเฉิน และราคาหุ้นตกต่ำจนหลายตลาดต้องหยุดพักการซื้อขายระหว่างวัน นักลงทุนกำลังเป็นกังวลว่าจะฝ่าฟันสถานการณ์นี้ไปได้อย่างไร
ในมุมมองของ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) พร้อมด้วยพันธมิตร Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ผู้ให้บริการไพรเวทแบงค์ระดับสากล คาดว่าราคาสินทรัพย์ที่ลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ได้สะท้อนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะโดยผลของ COVID-19 บนห่วงโซ่การผลิต การบริโภค การติดต่อสื่อสารและเดินทาง ตลอดจนการค้า ไปมากแล้ว นอกจากนี้ การอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลผ่านการลดดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ของธนาคารกลางที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในเวลาอันใกล้จะบรรเทาความกลัวและแรงกดดันในตลาดการเงินได้ จึงมีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์จะปรับเพิ่มขึ้น (Rebound) อย่างน้อยในช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม หากปราศจากข้อมูลเชิงบวกของ COVID-19 เช่น จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกลดลง หรือค้นพบแนวทางการรักษา พร้อมด้วยกำลังสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากนโยบายการคลัง เช่น การเพิ่มงบประมาณ การเร่งใช้จ่ายภาครัฐฯ และการลดภาษี ตลอดจนนโยบายพิเศษอื่นๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ ราคาสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวจากผลของนโยบายการเงินอาจไปได้ไม่ไกล ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการสภาพคล่อง ไม่สามารถลงทุนระยะยาว (3-5 ปี) หรือไม่สามารถรับความเสี่ยงสูงได้ ยังไม่ควรเข้าซื้อหุ้นไม่ว่าจะเป็นการช้อนซื้อหรือการไล่ราคา
สำหรับภาพรวมคำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุน จากปี 2019 ที่ราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภทพุ่งขึ้นภายใต้เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงท้ายวัฎจักรการเติบโต (Late cycle) และเผชิญกับสภาวะ ‘2 ต่ำ 1 สูง’ คืออัตราการเติบโตต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ และความเสี่ยงสูง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยและความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ปรับขึ้นมามาก นักลงทุนต้องมีความระมัดระวัง โดยเน้นพอร์ตการลงทุนหลักที่มีกลไกกระจายความเสี่ยงอย่างดี พอร์ตเสริมที่สมดุล รวมทั้งถือสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสดจำนวนหนึ่ง นับเป็นพัฒนาการจากการลงทุนแบบดั้งเดิมเพื่อให้ผ่านความท้าทายไปสู่ความยั่งยืนของการสร้างความมั่งคั่ง ได้แก่
พอร์ตหลักต้องมีสภาพคล่อง พร้อมกลไกการกระจายและควบคุมความเสี่ยง
การยอมรับความเสี่ยงคือที่มาของผลตอบแทน ดังนั้น นอกจากลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องหลายประเภทและหลายภูมิภาคแล้ว พอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) ต้องมีกลไก “กระจายและควบคุมความเสี่ยง”
นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับ “การกระจายความเสี่ยงมากกว่ากระจายเงินลงทุน” โดยมี 2 หลักการจาก เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) มหาเศรษฐีและผู้ทรงอิทธิพลด้านการลงทุนระดับโลกคือ 1) การสร้างสมดุลความเสี่ยงของสินทรัพย์ (Risk-based Allocation) ในการจัดสัดส่วนเงินลงทุน กล่าวคือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับเงินลงทุนน้อย สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับเงินลงทุนมาก เช่น ในภาวะตลาดที่หุ้นมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ 3 เท่า เงินลงทุน 1 ใน 4 จะลงทุนในหุ้น และ 3 ใน 4 จะลงทุนในตราสารหนี้ ต่างจากการกระจายเงินลงทุนแบบดั้งเดิมที่กระจายเงินลงทุนด้วยการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้อย่างละ 50% ทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตที่แท้จริงกระจุกตัวในหุ้น และ 2) การปรับพอร์ตอย่างต่อเนื่อง (Active Rebalancing) เพราะตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยมากมาย พอร์ตการลงทุนหลักต้องปรับให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เปลี่ยนแปลงไป ความคล่องตัวในการปรับพอร์ตและควบคุมความเสี่ยงจึงจำเป็นมากโดยเฉพาะในปัจจุบันที่ความไม่แน่นอนสูง ด้วยหลักการทั้งสองนี้ในภาวะปกติ ณ เวลาหนึ่งๆ จะมีสินทรัพย์อย่างน้อยหนึ่งประเภทที่สร้างผลตอบแทนหรือช่วยพยุงพอร์ตการลงทุนหลักไว้เสมอ ทำให้ลดโอกาสที่นักลงทุนจะตื่นกลัวจนถอยหนีออกจากตลาด (ขายสินทรัพย์) ในช่วงที่ราคาตกต่ำ
“ความเสี่ยงในตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงมากตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้พอร์ตการลงทุนหลักเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้ขึ้น พร้อมๆ กับลดสัดส่วนเงินลงทุนในหุ้นรวมทั้งลดอัตราทด (Leverage) ลงมาตลอดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจึงถึงปัจจุบัน” ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าพอร์ตการลงทุนแบบดั้งเดิมอื่นๆ”
ลงทุนหุ้นใน Survival Theme
อีกหนึ่งพัฒนาการคือการเลือกหุ้น ภายใต้โหมดระมัดระวัง นักลงทุนควรจัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Mega trend หรือธุรกิจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ (Disrupt) ให้แก่ธุรกิจแบบเดิมที่มีมานาน ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตของคน ทำให้ธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่จะอยู่รอดและเติบโตต่อไป เช่น 1) ธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Tech) เช่น การวินิจฉัยโรคจากระยะไกล การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ 2) ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Next Generation Energy) เช่น พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการพลังงานสะอาด เช่นเดียวกับ 3) การจัดการคุณภาพดินและน้ำ (Clean Land and Water) เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงและเพิ่มปริมาณน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรในทุกพื้นที่ของโลก การลงทุนใน Mega trend เหล่านี้นับเป็นการ สร้าง “โลกอนาคต” ที่ยั่งยืน พร้อมผลตอบแทนที่ “ดี”