พิษ Covid-19 กำลังเปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากรายงานการใช้ข้อมูลในไตรมาสแรกของดีแทคที่พบแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานจากบ้านเติบโตสูงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งพักอาศัย ชี้ Zoom ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันด้านการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 828% ขณะที่ Skype ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 215% ด้านผู้บริหารเผยได้มีเตรียมความพร้อมโครงข่ายและขยายสัญญาณมือถือเพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้ว
คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “พวกเราดีแทคได้วิเคราะห์แนวโน้มการใช้มือถือจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เพื่อจัดทำแผนรองรับในกรณีฉุกเฉิน โดยจัดวางทีมงานในสายงานดูแลโครงข่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับพวกเราได้ทำงาน 24 ชั่วโมง ทุกวัน เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจในการใช้งานมือถือ โดยเฉพาะการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจากที่พักอาศัยตามนโยบายทำงานจากที่บ้านขององค์กรต่างๆ ทั้งนี้ ทีมงานพัฒนาโครงข่ายของเราได้ติดตามข้อมูลตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 เพื่อการวิเคราะห์การใช้งานมือถือและจัดทำโซลูชั่นเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตการใช้ดาต้าในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จากกักตัวเพื่อดูอาการและการทำงานที่บ้านของคนไทย”
โดยรายงานจากดีแทคพบว่า ผู้ใช้งานจากฐานลูกค้ารวมในไตรมาสแรก (1 มกราคม-19 มีนาคม 2563) ให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชันรองรับการทำงานจากบ้านเพื่อรับวิกฤตโควิด-19 โดยแอปพลิเคชันที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับมี ดังนี้
อันดับ 1 คือ แอปพลิเคชัน Zoom ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 828%
อันดับ 2 คือ แอปพลิเคชัน Skype ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 215%
อันดับ 3 คือ แอปพลิเคชัน Google Hangouts Meet ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 67%
อันดับ 4 คือ แอปพลิเคชัน Grab ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 36%
อันดับ 5 คือ แอปพลิเคชัน Facebook Messenger และ LINE Call (VoIP) ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 17%
สำหรับ 5 จังหวัดที่มีการใช้งานสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกคือ กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, สงขลา และชลบุรี
“เราพบว่าพฤติกรรมการใช้งานดาต้าได้เติบโตสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยการใช้งานได้เพิ่มขึ้นต่างจากเดิมที่มีการเติบโตแบบหนาแน่นในพื้นที่ตามแหล่งที่จัดเทศกาล การจัดงาน หรือวันหยุดยาว แต่การที่ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์โรคระบาดทำให้ลดการเดินทาง การทำงาน การท่องเที่ยว รวมถึงหลายบริษัทได้เพิ่มนโยบายการทำงานจากบ้าน หรือ Work from Home ทำให้รูปแบบการเติบโตจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปเป็นการเติบโตแบบกระจายตัวตามแหล่งพักอาศัย หมู่บ้าน อาคารชุด” คุณประเทศกล่าวเพิ่มเติม
โดยแผนที่ดีแทควางไว้มีทั้งแผนระยะสั้น แผนระยะยาวรองรับจราจรออนไลน์ที่พุ่งสูง และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้
1. แผนระยะสั้น – ขยายขีดความสามารถรับส่งสัญญาณ – ทีมงานดีแทคจะวิเคราะห์ปัญหาการใช้งานที่เกิดจากความหนาแน่น โดยจะตรวจสอบและใช้โซลูชั่น การเพิ่มบริการ Massive MIMO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่ง 3 เท่า ช่วยแก้ปัญหาการใช้งานเพิ่มขึ้น
2. แผนระยะยาว – เพิ่มเสาสัญญาณและอุปกรณ์ – ทีมงานดีแทคจะเข้าประเมินในพื้นที่ และนำข้อมูลการใช้งานดาต้ามาวิเคราะห์เพื่อใช้โซลูชั่นที่จะออกแบบรองรับได้ตรงจุด โดยจะมีการใช้ทั้งการเพิ่มอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (sector) เพื่อให้รองรับการเติบโตการใช้งานหรือปริมาณผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มเสาสัญญาณโดยการเข้าประเมินในพื้นที่เพื่อหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดซึ่งแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน
3. จัดทีมวิศวกรโครงข่ายดูแล 24 ชั่วโมง – ดีแทคยังได้จัดทีมพิเศษเพื่อดูแลสัญญาณตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกระแสการทำงานจากบ้าน หรือ Work from home เพื่อลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะบริหารจัดการสัญญาณมือถือให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานรูปแบบปัจจุบันที่เน้นการเติบโตตามแหล่งพักอาศัย
ทั้งนี้ ทีมดูแลเน็ตเวิร์กดีแทคยังได้ทดลองการทำงานด้วยการแบ่งทีมงานเป็น 2 กลุ่ม ในการปฏิบัติงานพื้นที่เดิม และสลับการปฏิบัติงานในพื้นที่สำรองที่เตรียมไว้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการใช้งานเพื่อบริการจัดการสัญญาณมือถือจากศูนย์ปฏิบัติงานโครงข่ายหลักและสำรอง ในกรณีที่พื้นที่ต้องถูกปิด หรือทีมหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทีมหนึ่งจะดำเนินการแทนกันได้ทันทีและต่อเนื่อง
“ที่ดีแทค เราประเมินการรับมือสถานการณ์ในระยะยาวเพราะวันนี้ยังไม่มีใครระบุจุดสิ้นสุดวิกฤตได้ ทีมงานเราทำงานกันเต็มที่เพื่อลูกค้าโดยประเมินสถานการณ์กันทุกวัน” คุณประเทศกล่าวปิดท้าย