HomeBrand Move !!สรุป มาตรการเศรษฐกิจเยียวยา “ลูกจ้าง – นายจ้าง” ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ลูกจ้างรับ 5,000 ต่อเดือน 3 เดือน

สรุป มาตรการเศรษฐกิจเยียวยา “ลูกจ้าง – นายจ้าง” ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ลูกจ้างรับ 5,000 ต่อเดือน 3 เดือน

แชร์ :

หลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะบังคับใช้จริงในวันที่ 26 มีนาคม นี้ ทางด้านรองนายกรัฐมนตรี คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็แถลงมาตราการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยในประชาชนคนไทยที่ได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยมีข้อสรุป ทั้งทางฝั่งของผู้ประกอบการ และแรงงานทั่วไป ดังนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ(ฟรีแลนซ์) ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 นั้น ตามการเปิดเผยของคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษณ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีทั้งสิ้น 8 ประเด็น

1. สนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน โดยจะให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน

2. ให้สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.1% และไม่ต้องมีหลักประกัน

3. สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (ต้องมีหลักประกัน)

4. สำนักงานธนานุเคราะห์รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

5. ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นสิงหาคม 2563

6. หักลดหย่อยเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท

7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ (รวมถึงเจ้าหน้าที่รังสีวิทยา, เจ้าหน้าที่ขับรถของโรงพยาบาล ฯลฯ)

8. จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะทางอาชีพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ และขยายการฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง กระทรวง อว. เป็นต้น

ส่วนมาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 มี 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก

2. ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยยื่น ภ.ง.ด. 50 จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ออกไปเป็นภายใน 31 สิงหาคม 2563 และ ภ.ง.ด. 51 จากเดิมสิงหาคม 2563 เป็นภายใน 30 กันยายน 2563

3. ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน

4. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการออกไป 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563 ให้เสียภาษี 15 กรกฎาคม 2563

5. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (ระยะเวลา 3 เดือน)

6. ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา Covid-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงช่วงกันยายน 2563

7. ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

สำหรับการลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน ทำได้ผ่านทางออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หรือติดต่อที่ 3 ธนาคารของรัฐ 3 ได้แก่ ธกส. ออมสิน และกรุงไทย โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน, ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลนายจ้าง โดยจะได้รับเงินภายใน 5 วัน (T+5)


แชร์ :

You may also like