HomeBrand Move !!รู้จัก Eric Yuan ผู้สร้าง Zoom แอปพลิเคชัน “ส่งต่อความสุข” ในยุค Covid-19 ระบาด

รู้จัก Eric Yuan ผู้สร้าง Zoom แอปพลิเคชัน “ส่งต่อความสุข” ในยุค Covid-19 ระบาด

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เชื่อว่าหากย้อนอดีตไปสัก 10 – 15 ปีก่อน ตอนที่กระแสการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กำลังเป็นที่จับตา ชื่อของโปรแกรมอย่าง Skype, WebEx, GotoMeeting อาจเป็นชื่อที่หลายองค์กรนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ อย่างไรก็ดี ในยุคที่ไวรัส Covid-19 กำลังแพร่ระบาดและทำให้โลกต้องปรับตัวเข้าสู่การทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home เป็นทิวแถวนั้น น่าแปลกใจที่ชื่อของแอปพลิเคชันที่เรากล่าวมาข้างต้นกลับไม่ได้รับการพูดถึงอย่างที่ควรจะเป็น สวนทางกับแอปพลิเคชันน้องใหม่วัยกระเตาะอย่าง “Zoom” ที่กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกพูดถึงมากกว่า

วันนี้เราเลยขอเจาะลึกถึงที่มาของ Zoom แอปพลิเคชันด้านการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แห่งยุค ว่าพวกเขามีการเดินทางอย่างไรให้กลายเป็นที่หนึ่งในใจของภาคธุรกิจ และกลายเป็นผู้พิชิตการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในยุคจอมมาร Covid-19 ครองโลกได้อย่างสวยงาม

สำหรับ Zoom บุคคลที่ไม่กล่าวไม่ได้คือ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “Eric Yuan” วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ย้ายตัวเองจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปเติบโตในซิลิคอนวัลเลย์ได้สำเร็จ หลังจากถูกปฏิเสธวีซ่าถึง 8 ครั้ง (จริง ๆ เขาบอกว่า เตรียมใจสำหรับการยื่นขอวีซ่าเอาไว้ถึง 30 ครั้ง แต่โชคดีที่เขาทำสำเร็จในครั้งที่ 9) นั่นทำให้ในปี 1997 เขาก็ได้เริ่มต้นการทำงานบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว กับบริษัท WebEx เจ้าของโปรแกรมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ชื่อดัง

Eric Yuan

วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ตามหา “ความสุข”

แต่ Eric Yuan ก็มีจุดที่ทำให้เขาแตกต่างจากวิศวกรซอฟต์แวร์ทั่วไป นั่นคือเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “ความสุข” ของผู้คน หนึ่งในหลักฐานยืนยันก็คือ ตอนที่เขาต้องย้ายมาทำงานที่ Cisco ในตำแหน่งหัวหน้าทีมวิศวกรของ WebEx เมื่อเดือนมีนาคม 2007 นั่นเอง (WebEx ถูก Cisco บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายยักษ์ใหญ่เข้าซื้อด้วยราคา 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ)

โดยเขาได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า แม้การทำงานในช่วง 1 – 2 ปีแรกที่ Cisco จะดีมาก แต่เขาก็เริ่มสังเกตได้ว่าไม่มีลูกค้าสักรายที่ได้สัมผัส WebEx แล้วจะรู้สึก “Spark Joy” เลย พร้อมกันนั้น Yuan ก็รู้สึกว่า การเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างหากที่จะกลายเป็นโอกาสใหม่ของการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในยุคต่อไป

การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดของ Eric Yuan จึงเกิดขึ้นในปี 2011 เมื่อเขายื่นใบลาออก ยอมทิ้งตำแหน่งรองประธาน Cisco และผลตอบแทนมหาศาลไปสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อย่างที่ใจต้องการ ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในขณะนั้นเต็มไปด้วยคู่แข่งเบอร์ใหญ่ ๆ มากมาย

Yuan เล่าถึงการตัดสินใจครั้งนั้นว่าทำเพราะเห็นแก่ “ความสุข” ของตนเอง เพราะในเวลานั้น เขาไม่รู้สึกอยากตื่นขึ้นมาเพื่อไปทำงานที่ Cisco อีกแล้ว

“มีคนบอกว่า การที่ผมตัดสินใจลาออกคือการเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันมีความจริงที่ว่า เราทุกคนเกิดมาเพื่อไขว่คว้าหาความสุข แล้วผมที่ไม่มีความสุข (ที่จะตื่นไปทำงานที่นั่น) แล้ว นั่นไม่ใช่ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่าหรอกหรือ”

ผลลัพธ์ความเสี่ยง ลูกค้า 3,500 รายใน 5 เดือนแรกของการเปิดตัว

อย่างไรก็ดี การเสี่ยงก้าวออกมาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ของ Eric Yuan ออกดอกออกผลอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากเขาพัฒนาแอปพลิเคชัน Zoom เวอร์ชันเบต้าแล้วเสร็จ เขาก็นำมันไปให้ Tech Company ในซิลิคอนวัลเลย์ทดลองใช้ และกลายเป็นว่ามันได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว Zoom จึงได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013 และใช้เวลาเพียง 5 เดือนก็มีบริษัทกว่า 3,500 รายเข้าใช้งาน

แต่ Zoom ก็ยังโตไม่หยุด ปี 2015 Zoom ให้บริการแก่บริษัทต่าง ๆ มากถึง 65,000 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวนผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน ความสำเร็จสุดท้ายที่มีการรายงานไว้ก็คือปี 2019 เมื่อ Zoom สามารถทำรายได้ทะลุ 330 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับรายได้ในปี 2018

นอกจากตัวเลขผู้ใช้งานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าหุ้นของ Zoom ก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยหลังจากเข้าสู่ปี 2020 เป็นต้นมา รายงานจาก Fool.com ก็พบว่ามูลค่าหุ้นของ Zoom เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 70 เหรียญสหรัฐในเดือนตุลาคม 2019 เป็น 151 เหรียญสหรัฐ (วันที่ 27 มีนาคม 2020) ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ในตระกูล S&P 500 ต่างมีมูลค่าหุ้นลดลงเฉลี่ยประมาณ 25%

โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าสมเหตุสมผลที่หุ้นของ Zoom จะเติบโต มาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ภาคธุรกิจ โรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ ประกาศให้ทุกคนปรับตัวสู่การ Work From Home ส่งผลให้มีความต้องการแอปพลิเคชันด้าน VDO Conferencing เพิ่มสูง จึงมีการคาดการณ์กันว่าผลประกอบการของ Zoom ในปีนี้ก็น่าจะกำไรต่อเนื่องจากปีที่แล้วด้วย สอดคล้องกับผลวิจัยของบริษัท Transparency Market Research ที่คาดการณ์ว่าธุรกิจ VDO Conferencing จะมีการเติบโตปีละ 8.4% ในช่วงปี 2020 – 2027 เลยทีเดียว

กว่าจะโตได้ ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญ

ในการเติบโตของ Zoom อีกหนึ่งคนสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้อาจเป็น Dan Scheinman นักลงทุนรายแรก ๆ ที่มั่นใจในตัว Yuan และกล้าเซ็นเช็คให้ถึง 250,000 เหรียญสหรัฐเมื่อครั้งเริ่มต้นธุรกิจ โดยเขาเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานใน Cisco ที่ได้ลาออกมาในปี 2011 เช่นเดียวกับ Eric Yuan

ไม่เพียงเท่านั้น Dan Scheinman ยังเป็นคนแนะนำให้ Yuan รู้จักกับ Jim Scheinman ลูกพี่ลูกน้องของเขาซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ Maven Ventures ด้วย

ด้วยเหตุนี้ Jim จึงไม่เพียงลงทุนในบริษัทของ Yuan แต่เขายังเป็นที่ปรึกษา และช่วยคิดชื่อของแอปพลิเคชันให้กับ Yuan อีกต่างหาก โดยในตอนแรกชื่อที่ส่งเข้าประกวดมี Zippo, Hangtime, Poppy และ Zoom ก่อนที่ทุกคนจะลงคะแนนให้ Zoom ในที่สุด และนั่นทำให้บริษัท Zoom ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจนเป็น Zoom อย่างทุกวันนี้ (แน่นอนว่าพนักงานส่วนใหญ่ในยุคเริ่มแรกย้ายมาจากทีม WebEx)

ส่วนเงินลงทุน 250,000 เหรียญสหรัฐของ Dan Scheinman เมื่อปี 2011 นั้น หลังจากที่ Zoom เข้า IPO ในปี 2019 เขาก็คงเห็นแล้วว่าความเชื่อใจของเขาได้เติบโตกลายเป็นเงินมูลค่ากว่า 176.5 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วเรียบร้อย

การทำงานสไตล์ Eric Yuan

หนึ่งในความเชื่อใจของนักลงทุนอาจเป็นสไตล์การทำงานของ Eric Yuan ที่ถึงลูกถึงคน เห็นได้จากตอนที่ Zoom เริ่มต้นให้บริการลูกค้าใหม่ ๆ บริษัทยังเล็กอยู่มาก นั่นจึงทำให้หลายครั้ง Yuan เป็นคนลงมาตอบอีเมลลูกค้าเอง

โดย Yuan มักจะตอบเมลที่ลูกค้าส่งมาเพื่อขอยกเลิกบริการเป็นหลัก ซึ่งเขาเล่าว่า เป็นเพราะเขาอยากเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับซอฟต์แวร์ที่เขาผลิตขึ้น

การที่ซีอีโอลงมารับทราบปัญหา และลงมือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีกลายเป็นจุดเด่นของ Zoom และทำให้ลูกค้าที่กำลังหัวร้อนไม่พอใจ ร่ำ ๆ จะยกเลิก กลายเป็นลูกค้าชั้นดีของบริษัทในที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น Yuan ยังเล่าถึงสมัยที่เขาเริ่มทำงานในสหรัฐอเมริกาใหม่ ๆ ว่า เขาในตอนนั้นพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย สิ่งที่เขามีคือการเขียนโค้ดโปรแกรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หากคู่แข่งของเขาบอกว่า พวกเขาทำงานหนัก Yuan ก็จะทำงานให้หนักกว่า ถ้าคู่แข่งของเขาบอกว่า ตัวเองทำงาน 8 ชั่วโมง Yuan ก็จะทำงาน 10 ชั่วโมง หรือถ้าพวกเขาทำงานกันไม่หลับไม่นอน Yuan ก็จะทำเช่นนั้นด้วย

“ตราบใดที่คุณยังทุ่มเททำงาน คุณจะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

เมื่อมี Zoom เขายังเปิดโอกาสให้ลูกค้าทดลองใช้ Zoom เวอร์ชันเบสิคได้ฟรี (ในเวอร์ชันฟรีก็สามารถทำวิดีโอคอลล์ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงซิงค์เข้ากับอุปกรณ์ VDO Conference ในบริษัทได้) ส่วนถ้าบริษัทไหนอยากได้ความสามารถอื่น ๆ เพิ่มเติม จึงจะมีการคิดค่าบริการรายเดือนตามมา

แต่ Zoom ไม่ได้เติบโตได้เพราะแค่สองปัจจัยนี้ โดยความแกร่งของ Zoom อีกข้อจากการอธิบายของ ZDNet ก็คือ Zoom เป็นแอปพลิเคชันที่แม้แต่ “มักเกิล” ในโลกเทคโนโลยีก็ยังใช้งานได้ หรือแปลตรง ๆ ก็คือใช้งานง่ายนั่นเอง

โดยความง่ายที่ ZDNet ยกย่องก็คือ ติดตั้งง่าย ใช้งานง่าย และดึงทีมเข้ามาประชุมได้ง่าย ซึ่งนั่นน่าจะมาจากการลงมาแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าจำนวนมากของ Yuan ด้วย

เข้มแข็งขึ้นในขณะที่คู่แข่งอ่อนแอลง

อีกหนึ่งโชคดีของ Zoom อาจเป็นการเติบโตอย่างถูกที่ถูกเวลา ขณะที่คู่แข่งอย่าง Skype หรือใครต่อใครไม่สามารถรักษาโมเมนต์นี้เอาไว้ได้ โดยหนึ่งในการวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Skype จาก ZDNet อีกข้อก็คือ Skype เป็นแอปพลิเคชันที่ “มาก่อนกาล” เมื่อเทียบกับ Zoom

เหตุเพราะ 2003 คือปีที่ Skype เปิดตัว ซึ่งโลกในยุคนั้นยังไม่มีความต้องการทำ VDO Conference เท่าใดนัก ขณะที่ Zoom แม้จะเริ่มต้นในปี 2011 ซึ่งมีคู่แข่งมากมาย แต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่โลกเริ่มมีความต้องการ แถมด้วยความสดใหม่ และง่ายต่อการใช้งาน ทำให้ Zoom ไปได้ไกลกว่า

 

ซีอีโอแห่งปีที่พนักงานเทใจโหวด

คำขวัญของ Zoom คือ “delivering happiness” ซึ่ง Eric Yuan ก็ตั้งใจอย่างนั้นจริง ๆ และนั่นทำให้เขาได้รับการโหวตเป็น CEO แห่งปีจากพนักงานผ่าน Glassdoor เว็บไซต์รีวิวบริษัทสำหรับคนหางาน ในปี 2018

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ Yuan ให้ความใส่ใจกับพนักงานของเขาอย่างมาก เช่น พนักงานทุกคนสามารถเบิกเงินเพื่อซื้อหนังสือได้ฟรี แม้ว่าจะซื้อหนังสือนิทานให้กับลูกก็ตาม โดย Yuan กล่าวถึงข้อนี้ว่า “self-learning mentality และ self-motivated attitude เป็นคุณลักษณะสำคัญของคนที่เราอยากจะได้มาร่วมทีมด้วย”

นอกจากนั้น เสียงของพนักงานใน Zoom ยังมีความหมาย โดยในทุก ๆ เช้า บริษัทจะจัดการประชุม และเปิดโอกาสให้พนักงานถามได้ในสิ่งที่สงสัย Yuan เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้บริษัทพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ

Yuan ยังเคยให้สัมภาษณ์กับ Glassdoor หลังจากได้ตำแหน่งซีอีโอแห่งปีด้วยว่า “หลังจากผมลาออกจาก Cisco และเริ่มต้นบริษัทใหม่ในออฟฟิศเล็ก ๆ ผมยังจำได้ว่าผมถามตัวเองคำถามหนึ่ง นั่นคือ บริษัทแบบไหนที่ผมอยากจะทำงานให้ และคำตอบก็มีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ ผมอยากทำงานในบริษัทที่พนักงานบอกว่าพวกเขามีความสุข การถามคำถามนั้นกับตัวเองทำให้ผมมั่นใจว่า เรากำลังทำงานเพื่อส่งต่อความสุขให้กับผู้คน ด้วยเหตุนี้ เราจึงใส่ใจในบุคคลรอบข้าง ทั้งพนักงาน ครอบครัว ลูก ๆ ชุมชนรอบข้าง รวมถึงลูกค้าของเราด้วย”

นอกจากให้ความใส่ใจกับพนักงานแล้ว Yuan ยังเป็นพ่อที่ใส่ใจกับการเลี้ยงดูลูกของตัวเองอย่างมาก แม้ว่าเขาจะมีตารางการทำงานที่ยุ่งมากก็ตาม โดยโค้ชบาสเก็ตบอลของลูกชายคนโตของเขากล่าวว่า “จากเด็ก 15 คนในทีม มี Yuan นี่แหละที่คอยมารับส่งลูกระหว่างการฝึกซ้อมและมาดูลูกของเขาในตอนแข่ง” ขณะที่ Yuan กล่าวว่า “ผมไม่อยากพลาดเหตุการณ์สำคัญทุกอย่างเกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะยุ่งมากแค่ไหน คุณจะต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัวด้วย”

ส่วนตัวช่วยที่ทำให้เขามีเวลาเพิ่มนั้น Yuan ยกให้เป็นความดีของ Zoom เหตุเพราะเขาพยายามให้ทุกคนใช้ Zoom ในการจัดประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกับลูกค้า หรือการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ ทำให้เขาเป็นซีอีโอที่เดินทางน้อยมากเมื่อเทียบกับซีอีโอบริษัทอื่น ๆ จึงสามารถแบ่งเวลาให้กับครอบครัวได้นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก Zoom

แท้จริงแล้ว Zoom เริ่มต้นจากความรัก

อีกหนึ่งคำถามจาก Glassdoor ที่น่าสนใจก็คือ จริง ๆ แล้ว อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาพัฒนา Zoom ซึ่ง Yuan ตอบว่า เป็นความทรงจำสมัยยังเรียนอยู่ในเมืองจีน เพราะตัวเขากับแฟนสาวนั้นอยู่ไกลกัน จะมีโอกาสเจอกันแค่ปีละสองครั้งเท่านั้น เขาในตอนนั้นจึงคิดเสมอว่า หากมีอุปกรณ์ที่สามารถเปิดขึ้นมาแล้วก็เจอหน้าเธอ ได้คุยกับเธอเหมือนกับว่าพวกเขาได้อยู่ด้วยกันได้ก็คงจะดี

แน่นอนว่าในอีก 20 กว่าปีต่อมาเขาก็ทำสิ่งที่ฝันได้สำเร็จ รวมถึงคนรักที่ปัจจุบันก็กลายมาเป็นภรรยาของเขาในที่สุด

แต่นอกจากเรื่องที่ Yuan เล่าแล้ว ทุกวันนี้ Zoom ยังส่งต่อความรัก (ษ์) ให้โลกอีกต่างหาก เหตุเพราะพวกเขามองว่า แอปพลิเคชันของตนเองนั้นช่วยโลกลดปัญหาการปล่อย CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ (เฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 นั้น การใช้ Zoom ของ 10 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Uber, AutoDesk, HP, GenPact ฯลฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ถึง 685,205 เมตริกตันใน 90 วัน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 11,420,077 ล้านต้นเลยทีเดียว)

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Eric Yuan มีเป้าหมายใหม่ให้กับ Zoom แล้ว ด้วยตัวเลขผู้ใช้งาน 1 พันล้านคน และเป็น 1 พันล้านคนที่ถูกจัดในกลุ่ม Knowledge Worker ด้วย ซึ่งจากจุดที่ยืนอยู่ Yuan กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า Zoom ในวันนี้ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นก้าวเดินเท่านั้น

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like