HomeBrand Move !!มรสุมอีเวนท์ 20 ปี จากต้มยำกุ้งถึง Covid-19 ถอดวิธีคิด ‘อินเด็กซ์’ ยืนระยะให้รอดแล้ว Diversify

มรสุมอีเวนท์ 20 ปี จากต้มยำกุ้งถึง Covid-19 ถอดวิธีคิด ‘อินเด็กซ์’ ยืนระยะให้รอดแล้ว Diversify

แชร์ :

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่กระจายไปทั่วโลก ทุกประเทศต่างใช้มาตรการเข้ม “ปิด” สถานที่เสี่ยง “ห้าม” กิจกรรมรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมาก เพื่อ “หยุด” การเดินทางของประชาชนลดอัตราการแพร่เชื้อและผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด กลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนทุกอุตสาหกรรมให้ต้องปรับตัวหาทางรอด!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ในประเทศไทย หน่วยงานรัฐออกมาตรการคุมเข้ม ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น มาตรการปิดสถานที่เสี่ยง รวมทั้ง “ปิดห้าง” (บางส่วน) ระยะแรก 22 วัน ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.2563  ทำให้หลายธุรกิจต้อง “หยุด” แม้ก่อนหน้านั้นอยู่ในอาการชะลอตัวมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ไวรัสเริ่มแพร่กระจาย

ธุรกิจอีเวนท์ “เลิก-เลื่อน”

หนึ่งในหลายธุรกิจที่ต้อง “หยุดนิ่ง” ในช่วงนี้ คือ “อีเวนท์” ยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะกลับมาได้เมื่อไหร่  คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอีเวนท์กับ Brand Buffet ว่ามาตรการรัฐที่ออกมาดูแลเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นเรื่องเกินคาดการณ์ เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศขณะนี้ ในเชิงนโยบายเอกชนสนับสนุน 100%  เป็นการ “เจ็บเพื่อฟื้น”

ธุรกิจอีเวนท์ ในประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ.เป็นต้นมา เห็นชัดเจนว่ามีการ “ยกเลิก” และ “เลื่อน” การจัดงานออกไป  บางงานเลื่อนได้ ส่วนใหญ่จะไปไว้ในครึ่งปีหลัง แต่บางงานก็ต้องยกเลิก

“อย่างงานสงกรานต์ รัฐประกาศไม่ให้เป็นวันหยุดและเลื่อนวันหยุดไปช่วงอื่นแทน แต่การเลื่อนเทศกาลปีใหม่ไทยไปจัดช่วงอื่นก็คงยาก ก็ต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมไปในที่สุด”

ส่วนอีเวนท์ต่างประเทศ หรืองานอินเตอร์เนชั่นแนล ส่วนใหญ่ประกาศยกเลิก เช่น การแข่งขันกีฬาหลายรายการ ส่วนที่เลื่อนก็ยากที่จะกลับมาจัดในครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังก็ต้องไปรอลุ้นสถานการณ์อีกทีและยังต้องดูตารางงานของสถานที่ด้วย เพราะปลายปีส่วนใหญ่มีงานประจำอยู่แล้ว

อย่างงาน มอเตอร์โชว์ เดิมจะจัดปลายเดือน มี.ค. และเลื่อนไปปลายเดือน เม.ย. สถานการณ์ถึงวันนี้ ก็มีโอกาสที่จะเลื่อนอีก เพราะเป็นงาน International มีผู้ร่วมงานต่างประเทศ ถึงแม้จัดก็เสี่ยงที่จะไม่มีต่างชาติร่วมงาน เพราะหลายประเทศ “ปิดเมือง” เดินทางได้ลำบาก ส่วนหลายประเทศเอเชียก็ห้ามในคนประเทศเดินทาง เพื่อลดการระบาดของโรค ดูสัญญาณแล้ว งานที่เป็น International คงต้องหยุดยาว

4 เซ็กเตอร์อีเวนท์ปีนี้กลับมายาก!

หากดูธุรกิจอีเวนท์หลักๆ มี 4 เซ็กเตอร์ มาไล่เรียง สถานการณ์แต่ละประเภทว่าอาการเป็นอย่างไรและโอกาสกลับมาฟื้นตัวในปีนี้

1. กลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนต์  ประเภทคอนเสิร์ต โชว์ต่างๆ  ช่วงแรกคอนเสิร์ตไทยยังไม่ประกาศยกเลิก ใช้วิธีเลื่อนไม่มีกำหนดไปก่อน ส่วนคอนเสิร์ต อินเตอร์ และเกาหลี ส่วนใหญ่ยกเลิกไว้ก่อน  อินเด็กซ์ฯ เองก็มีโชว์ที่ต้องรอดูเช่นกัน แต่อยู่ในช่วงปลายปีนี้ จึงยังมีโอกาสลุ้นอยู่

อีเวนท์ในกลุ่มบันเทิงคาดว่าหากการแพร่ระบาดไวรัสลดลงและจบได้ภายในไตรมาส 2 ต่อไตรมาส 3 ก็มาเริ่มฟื้นตัวกันไตรมาส 4 คงเริ่มที่อีเวนท์ในประเทศก่อน แต่ตลาดอินเตอร์คงยังไม่กลับมาได้ง่ายนัก เพราะแต่ละประเทศมีสถานการณ์แพร่ระบาดต่างกัน แต่หากไตรมาส 3 การแพร่ระบาดในไทยยังไม่จบ อีเวนท์ก็ต้องไปเริ่มปีใหม่ 2564

2. กลุ่มธุรกิจ การจัดประชุม เทรดโชว์ หากเป็นกลุ่มอินเตอร์ เชื่อว่า “เลิกยาว” ต่อให้สถานการณ์ในไทยดีขึ้นในไตรมาส 2 ก็ตาม ทั้งปีนี้ก็ไม่น่าจะกลับมาได้  โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ  หากใช้โมเดลจีน สั่งปิดเมือง จากนั้นอีก 2 เดือน จีนกลับมาดีขึ้น  แต่ด้วยวัฒนธรรมยุโรปและสหรัฐ คงไม่สามารถคุมเข้มการเดินทางของประชาชนได้มากนัก ดังนั้นการกลับมาฟื้นตัวจะใช้เวลามากกว่าจีน เพราะจีนเอง แม้สัญญาณดีขึ้น การติดเชื้อลดลง แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ทันที

ส่วนไทย หากควบคุมการติดเชื้อได้ รัฐบาลน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจทันที ให้มีการจัดสัมมนาในประเทศมากขึ้น จะเน้นกลุ่มท่องเที่ยว ขณะที่อีเวนท์การตลาด ก็จะเริ่มกลับมาเช่นกัน เพราะสินค้าเองก็ต้องเร่งทำยอดขายในช่วงที่หายไป

3. ท่องเที่ยว กลุ่มนี้หยุดนิ่งมาตั้งแต่กลาง ก.พ. ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด หากไตรมาส 3 เหตุการณ์นิ่งทุกอย่างกลับมาได้ ไตรมาส 4 อีเวนต์อาจจะฟื้นตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเอเชีย จะเริ่มกลับมาก่อน ตามด้วยยุโรป แต่คงไม่เยอะมากนัก

“วันนี้แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศจีนดีขึ้นแล้ว แต่ถามว่าจีนจะปล่อยคนให้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้หรือไม่ ก็เชื่อยังไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลายประเทศยังปิดเมืองป้องกันการติดเชื้อ”

4. กีฬา เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีกรณีติดเชื้อจากสนามมวย ทำให้การแข่งขันกีฬา ประเภทนี้ต้องหยุดหมด รวมทั้งการแข่งขันกีฬาอินเตอร์ ที่มีความเข้มงวดเรื่องการดูแลการสุขภาพผู้เข้าแข่งขัน หลายรายการถูกยกเลิกเพราะเลยตารางการแข่งไปแล้ว เช่น  F1 ในหลายสนาม  ส่วนรายการระดับโลกอย่าง “โอลิมปิก 2020” ประเทศญี่ปุ่น สรุปแล้วต้องเลื่อนออกไปอีก 1 ปี  ส่วนอีเวนท์กีฬาไทย ที่เลื่อนการแข่งขันออกไป ก็ต้องรอดูช่วงไตรมาส 3 และ 4 ว่าจะกลับมาจัดได้หรือไม่

อีเวนท์ปีนี้ดีที่สุดคือติดลบ 50%

หากให้ประเมินสถานการณ์อีเวนท์ ปี 2563  คุณเกรียงไกร  มองว่ากรณีดีที่สุดรัฐควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสได้ในไตรมาส 2 จากนั้นไตรมาส 3 เริ่มส่งสัญญาณบวกการฟื้นตัว และไตรมาส 4 กระหน่ำจัดงานอีเวนท์อย่างหนักในทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจอีเวนท์ปีนี้ ทำดีที่สุดก็น่าจะลดลงเกิน 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีมูลค่าราว 14,000 ล้านบาท

กรณีแย่ที่สุด คือ ไตรมาส 4 ก็ยังไม่กลับมา ทั้งปีนี้ก็แทบไม่เหลืออะไร เพราะมีเวลาทำงานแค่ต้นปี ก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสระบาดของไทยในกลางเดือน ก.พ. จากนั้นอีเวนท์ก็หยุดนิ่งในเดือน มี.ค. แต่ก็ยังคาดหวังว่าไทยน่าจะฟื้นได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

“สิ่งที่น่ากลัวของเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 คือเราไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ก็ได้แต่หวังว่าจะจบกลางปี แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบหรือไม่ จึงต้องหาทางยืนอยู่ให้ได้ระยะยาวที่สุด รอวันที่สถานการณ์กลับสู่ปกติ”  

มรสุม 20 ปีอีเวนท์ จากต้มยำกุ้งถึง Covid 19 

เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับอีเวนท์ปีนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดหรือไม่ คุณเกรียงไกร มองว่าช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 เมื่อกว่า 20 ปีก่อน “หนักกว่านี้” เพราะทุกธุรกิจไปหมด และเป็นธุรกิจหลักที่ใช้เงินอีเวนท์ เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบ 2 ปีเต็มๆ ที่อีเวนท์ไม่มีงานทำ แต่ไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ช็อกธุรกิจ ที่ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ก็มีแววว่าจะกลับมาเร็วกว่า 2 ปี ดูได้จากโมเดลที่จีน ให้ควบคุมโรค ภายใน 2 เดือน ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม หรือมีน้อยมาก

แต่ “โควิด เอฟเฟกต์” เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระดับโลก จึงดูเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนส่งผลกระทบรุนแรง กว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นในไทย

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา “อีเวนท์” เป็นธุรกิจที่ต้องเจอกับวิกฤติมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายยุค  น้ำท่วมใหญ่ โรคระบาดซาร์สมาถึงโควิด – 19  เห็นได้ว่าธุรกิจอีเวนท์มีมูลค่า 12,000-15,000 ล้านบาท ไม่ขยับไปมากกว่านี้ ตลอดช่วง 10 ปีหลัง ธุรกิจเติบโตสลับติดลบเมื่อต้องเจอเหตุการณ์วิกฤติ

“ในปีที่อีเวนท์โตสูง ก็จะมีออร์กาไนเซอร์เล็กๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก นับได้เป็นหลักร้อยราย  แต่ในปีที่ต้องเจอกับวิกฤติก็จะปิดตัว และกลับมาเปิดใหม่เมื่อเศรษฐกิจดี เป็นอย่างนี้มาตลอด คือเป็นธุรกิจที่เปิดเร็วปิดเร็วตามสถานการณ์ ส่วนรายใหญ่อีเวนท์ในตลาดมีไม่ถึง 10 ราย”

อินเด็กซ์ฯ Diversify ลดพึ่งอีเวนท์

สำหรับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อินเด็กซ์ฯ ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากรายอื่นๆ และต้องบอกเลยว่า “เหนื่อย” เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จึงเป็นเรื่องที่คนวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบยาวแค่ไหน แต่ก็ต้องอยู่ให้รอด!

จากประสบการณ์ที่ต้องเจอกับวิกฤติมาตลอด ช่วง 10 ปีหลัง อินเด็กซ์ฯ ได้เริ่ม Diversify ธุรกิจกระจายพอร์ตรายได้ ไม่พึ่งพาอีเวนท์เพียงแหล่งเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำ เทรดแฟร์ ในต่างประเทศ ที่เป็นเจ้าของอีเวนท์เอง (Own Project) ทั้งในกัมพูชาและเมียนมา ปัจจุบันมี 4 งาน คือ Build & Décor, งาน FoodBev และงาน Retail Sourcing จัดที่เมียนมา  และงาน Architect  & Decor จัดที่กัมพูชา  เป็นงานช่วงปลายปี ปีนี้ยืนยันจัดงานแน่นอน

นอกจากนี้ยังมี Own Project ในไทยที่พัฒนารูปแบบไลฟ์สไลต์ อีเวนท์ เช่น  กิโลรัน (KILORUN) เริ่มจัดปี 2561 , วัดร่องขุ่นไลท์เฟส (Wat Rong Khun Light Fest) จังหวัดเชียงราย ปี 2562  ปีนี้จะมีงานแสดง ไลท์ เฟสติวัล Village of Illumination ณ สิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงราย วันที่ 4 ธ.ค.2563 ถึง วันที่ 31 ม.ค. 2564

ปีนี้ อินเด็กซ์ ยังมีงานที่รับรู้รายได้แน่นอน จากการสร้างไทยแลนด์ พาวิลเลียน ใน “World Expo 2020 Dubai” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ต.ค. 2563 ถึง 10 เม.ย. 2564 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยังมีงานสร้างมิวเซียม ให้หน่วยงานต่างๆ ที่ยังทำต่อเนื่อง

การกระจายแหล่งรายได้นอกจากอีเวนท์ เพราะคาดการณ์ล่วงหน้าจากประสบการณ์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้และส่งผลกระทบกับอีเวนท์ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและมีโอกาสเกิดซ้ำอีก ทำให้อินเด็กซ์เตรียมตัวไว้แล้ว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาก็กระทบแน่และเป็นอีกปีที่เหนื่อย! แม้ปรับตัวมาตลอดก็ตาม

“วันนี้เมื่อเครื่องยนต์อีเวนท์ปิด  อินเด็กซ์ยังมีงานประจำในมือที่ยังทำต่อได้ ทั้งการสร้างมิวเซียม การจัด Own Project ในไทยและต่างประเทศ เป็นสิ่งที่เราพยายาม Diversify กระจายรายได้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา”

ปัจจุบันทีมอีเวนท์เองกำลังเตรียมงานช่วงปลายปี เพราะเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ทุกอย่างกลับมาฟื้นตัวได้ไตรมาส 4  ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องโหมจัดกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน  อินเด็กซ์ฯ เอง ได้เตรียมอีเวนท์ท่องเที่ยวไว้แล้ว หากเห็นสัญญาณการฟื้น ก็จะเริ่มลงทุนเตรียมงานตั้งแต่ไตรมาส 3 ทันที

“ธุรกิจอีเวนท์ถ้าคนทำ ไม่ได้ทำด้วย Passion ไม่มีวันอยู่ได้ยาว เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้มาตลอด  อินเด็กซ์ฯ อยู่มาได้เพราะ Passion และ Diversify ไปหลายธุรกิจ”

คว้ารางวัลใหญ่โอกาสต่อยอดเวทีระดับโลก

ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ก็ยังมีข่าวดีให้กับ อินเด็กซ์ฯ ที่ไปคว้ารางวัลระดับโลกจาก SPECIAL EVENTS Gala Award 2020 จัดขึ้น ณ ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขา Most Outstanding Spectacle  จากผลงาน The ICONSIAM City Opening Mega Phenomena

ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่อินเด็กซ์ฯ คว้ารางวัลนี้ โดยครั้งแรกได้ในสาขา Best Event Marketing จากแคมเปญกระทิงแดงคนกล้าท้ามฤตยู ในปี 2005

“การได้รางวัลจากเวทีประกวดระดับโลก จะช่วยให้อินเด็กซ์ฯ สามารถเข้า Bidding งานอีเวนท์ระดับภูมิภาคและระดับโลก จากพอร์ตโฟลิโองานที่ได้รางวัล ทำให้เรามีโอกาสบุกตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น เเละเป็นเรงผลักดันให้ก้าวสู่ World Class Creator”

ในโอกาสครบรอบ 30 ปี  อินเด็กซ์ฯยังได้จัดงาน Index Creative Village Open House 2020 เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา เป็นงานแสดงครีเอทีฟไอเดีย ด้วยเทคโนโลยีระบบภาพ แสง เสียง และมัลติมีเดียที่ใช้ในงานอีเวนท์ระดับโลก เช่น 3D Indoor Drone การแสดงโดรนในรูปแบบ 3 มิติ, Immersive Art Theatre  รูปแบบ Projection Mapping 360 องศา, เทคโนโลยี  Illumination Showcase  การแสดง Lighting Installation รูปแบบใหม่ ที่เชื่อมต่อดิจิทัล อาร์ต มิวสิก และเทคโนโลยี เข้าไว้ด้วยกัน และ 4. World Expo Experiences  การแสดงนิทรรศการระดับโลก


แชร์ :

You may also like