HomeInsightวิจัยกรุงไทย คาดยกระดับ Social Distancing กระทบคนค้าขาย-แรงงานทั่วกรุงฯ กว่า 1.7 ล้านคน

วิจัยกรุงไทย คาดยกระดับ Social Distancing กระทบคนค้าขาย-แรงงานทั่วกรุงฯ กว่า 1.7 ล้านคน

แชร์ :

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยเริ่มไต่ระดับเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ภาครัฐต้องประกาศใช้พระราชกำหนด  (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อไม่ให้ลุกลามจนเกินความสามารถในการควบคุม​ และสนับสนุนให้เกิด การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing อย่างเข้มข้นและจริงจังมากขึ้น เพราะต้องถือเป็นมาตรการที่ได้ผลที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อออกไปในเวลานี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีผู้ได้รับผลกระทบต่อการใช้มาตราการดังกล่าวอย่างแน่นอน ทั้ง​จากการประกาศปิดตัว หรือปิดให้บริการชั่วคราวของ​สถานบริการ สถานบันเทิง สถานศึกษา รวมทั้งห้างร้าน และผู้ประกอบการค้าขายต่างๆ ที่ไม่สามารถให้บริการได้เหมือนในยามปกติ ขณะที่บรรดาบริษัทเอกชนหลายแห่ง แม้จะเริ่มเห็นนโยบายให้พนักงานบางส่วนสามารถทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยัง​มีผู้คนและธุรกิจจำนวนหนึ่ง ที่ไม่สามารถทำงานแบบ Work From Home ได้ ทำให้เห็นการหยุดชะงักของโพรเซสการทำงานของบางธุรกิจลงชั่วคราวเช่นกัน

ทาง Krungthai COMPASS โดย​ ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์, ปรเมศร์ รังสิพล, กณิศ อ่ำสกุล และ ชญานิน ถาวรลัญฉ์ ทีมคณะวิจัยจาก Krungthai COMPASS จึงร่วมกันทำการวิเคราะห์ว่า มีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเว้นระยะห่างในสังคมครั้งนี้ โดยใช้​เหตุการณ์ SARS ที่ฮ่องกง และ 9/11 ที่สหรัฐฯ มาเป็นกรณีศึกษา 

Social Distancing คืออะไร และทำไมถึงจำเป็นในเวลานี้?

Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม คือมาตรการสาธารณสุขเพื่อยับยั้งการแพร่โรคระบาดไปยังผู้คนจำนวนมาก เช่น การปิดโรงเรียน ยกเลิกกิจกรรมการรวมตัว ยกเลิกขนส่งสาธารณะ หรือการให้ทำงานที่บ้าน เป็นต้น และถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้ ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน

จากบทความ Why outbreaks like coronavirus spread exponentially, and how to “flatten the curve” โดย  Washington Post แสดงให้เห็นว่า หากทุกคนมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการพบปะกัน ก็จะทำให้การแพร่ระบาดช้าลง จนอยู่ในระดับที่ทรัพยากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ได้ทันการ (Curve สีฟ้าในรูปที่ 1) ในขณะที่หากไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเร็วจนทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ (Curve สีแดงในรูปที่ 1) ซึ่งเป็นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในอิตาลีขณะนี้

บทเรียนจาก SARS และ 9/11 : เมื่อคนกลัว และเว้นระยะห่างทางสังคมจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ

แม้ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมมีความสำคัญมากในขณะนี้ แต่ก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงเช่นกัน ซึ่งเราเคยเห็นผลกระทบดังกล่าวจากเหตุการณ์ SARS และ 9/11 มาแล้ว

ในกรณีของ SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003  อาจไม่แปลกใจนักที่ธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยว ซึ่งพึ่งพิงกำลังซื้อจากต่างชาติเป็นหลักจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี เราพบว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งนอกจากจะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการการจับจ่ายใช้สอยของคนในพื้นที่ที่ลดลงอีกด้วย

งานวิจัยเรื่อง Economic Impact of SARS: The Case of Hong Kong ชี้ว่า การระบาดของ SARS ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกลัวที่จะติดโรค จนคนส่วนใหญ่เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ส่งผลต่อเนื่องให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง และความกลัวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการระบาดของ SARS เสียอีก 

Olga Jonas นักวิชาการอาวุโสจาก Harvard Global Health Institute กล่าวไว้ในรายการ The Indicator From Planet Money ว่า “80% ของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของ SARS มีสาเหตุมาจากความกลัวที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่พยายามป้องกันไม่ให้ตนเองติดโรค เช่น การพยายามอยู่แต่ในบ้าน จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง” 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เมื่อคนมีความกลัวจนไม่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ เหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ ซึ่งการโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในมหานครนิวยอร์ก ไม่เพียงส่งผลต่อธุรกิจที่ตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว แต่ยังส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้บริโภคให้เกิดความกลัวจนไม่กล้าที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน สะท้อนได้จาก Consumer Confidence Index ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลานั้น 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่หดตัว นำไปสู่การบริโภคที่ลดลง ทำให้หลายๆ ธุรกิจประสบปัญหา งานวิจัยเรื่อง 9/11 and the New York City economy: A borough-by-borough analysisระบุไว้ว่า ธุรกิจในนิวยอร์กมีการเลิกจ้างกว่า 430,000 ตำแหน่ง หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ทั้งนี้ หากไม่นับธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลโดยตรงจากเหตุก่อการร้าย กลุ่มอาชีพที่ถูกเลิกจ้างมากที่สุด คือ บริกร พนักงานทำความสะอาด พนักงานขายตามร้านค้าปลีก พนักงานจัดเตรียมอาหาร และแคชเชียร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มคนมีรายได้น้อย และเกี่ยวพันโดยตรงกับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากความกลัวที่จะออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภค

เหตุการณ์ SARS และ 9/11 ที่ยกตัวอย่างขึ้นมาต่างแสดงว่าเมื่อผู้บริโภคเกิดความ “กลัว” จนไม่อยากออกจากบ้าน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อย

ในกรุงเทพฯ เมื่อการเว้นระยะห่างทางสังคมเข้มข้นขึ้น ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งหากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 กรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่แรกๆ ที่การเว้นระยะห่างทางสังคมจะถูกใช้อย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งทาง Krungthai COMPASS ได้คาการณ์ไว้แล้วว่าจะมีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ​

Work From Home กระทบรายได้ของลูกจ้างหรือไม่? 

กลุ่มลูกจ้างในระบบ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือลูกจ้างรายวัน ซึ่งมีประมาณ 3.6 ล้านคน จากแรงงานกว่า 5.3 ล้านคนในกรุงเทพฯ (รูปที่ 3) ดูจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจาก ตามกฎหมาย นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้อยู่ อย่างไรก็ดี ลูกจ้างก็มีโอกาสถูกขอให้ลดค่าแรงชั่วคราวบ้าง หรือลูกจ้างบางกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการถูกเลิกจ้าง หากสถานประกอบการหยุดดำเนินกิจการ 

แล้วคนกลุ่มใดจะได้รับผลกระทบโดยตรง?  

Krungthai COMPASS คาดว่า กลุ่มคนทำงานเกือบ 1.7  ล้านคน ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกจ้างนอกระบบกว่า 3.2 หมื่นคน ซึ่งมักไม่มีการทำสัญญาจ้างที่แน่ชัด และเสี่ยงต่อการถูกพักงานแบบไม่ได้ค่าจ้างในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น กรรมกรก่อสร้าง พนักงานเสิร์ฟ คนโบกรถ สาวเชียร์เบียร์ เป็นต้น นอกจากกลุ่มแรงงานนอกระบบแล้ว ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบ คือ ผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้างและฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีลูกจ้าง และผู้ช่วยธุรกิจครอบครัวแบบไม่ได้ค่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.6 ล้านคน คิดเป็น 30.7% ของคนทำงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ (รูปที่ 3)

เหตุที่ผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบ เพราะลักษณะของการทำธุรกิจต้องมีการพบปะในการให้บริการ เช่น ขายสินค้า ขายอาหาร รับจ้างขับรถ เสริมสวย ฯลฯ เมื่อผู้คนไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน ไม่ว่าจะมาจากการทำงานที่บ้าน หรือไม่กล้าออกจากบ้านก็ตาม ย่อมกระทบต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ ​เห็นได้จากการที่ธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากในฮ่องกงประสบปัญหาในช่วง SARS และในนิวยอร์ก ประสบปัญหาในช่วง 9/11 เมื่อประชากรเลือกที่จะไม่ออกจากบ้าน เป็นต้น

สำหรับกลุ่มนายจ้าง ที่มีกว่า 2 แสนคน ถือว่าเป็นกลุ่มที่อาจประสบปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นมากในระยะนี้ เนื่องจากมีรายได้ที่ลดลง แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนลูกจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อยู่บ้าง

ขณะที่ ผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้าง และฟรีแลนซ์  คือกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ ประมาณ 76% ทำอาชีพขายสินค้า ขายอาหาร ขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตลอดจนประกอบอาชีพช่างทำผม ช่างเสริมสวย (รูปที่ 4)

ผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้างและฟรีแลนซ์ ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อครัวเรือนที่ 9,500 บาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มลูกจ้างประจำซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อครัวเรือนที่ 12,500 บาท นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีค่าใช้จ่ายในการจ่ายหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ที่ระดับ 33% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีระดับเพียง 26%

นอจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้าง กว่า 60% มีหนี้สินเพื่อการบริโภค และมีประมาณ 40% ที่มีหนี้สินที่กู้มาเพื่อการประกอบธุรกิจ และหากการที่คนกลุ่มนี้ เสียรายได้จากการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มข้นขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้มีปัญหาด้านการเงินและหนี้สินมากยิ่งขึ้น

มาตรการอะไร ที่พอจะช่วยให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้

ในขณะนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย พยายามใช้มาตรการต่างๆ ในการพยุงเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การลดดอกเบี้ยของเฟด (Fed) หรือความพยายามของทรัมป์ในการให้สภาคองเกรสอนุมัติเงินให้เปล่าแก่ครัวเรือน และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจ เป็นต้น

ในการสัมภาษณ์ของ National Public Ratio (NPR) ในรายการ The Indicator From Planet Money นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายท่านมีความเห็นต่อแนวทางของทรัมป์ ว่าการแจกเช็คให้แก่ครัวเรือนในเวลานี้ อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากหากคนยังกังวลต่อการติดเชื้ออยู่ ก็จะไม่ออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ดี สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้ดูจะเป็นมาตรการที่ช่วยประคองให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถอยู่รอดในวิกฤตินี้ไปได้ อย่างเช่น การอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น 

ขณะที่ Pierre Gourinchas นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย UC Berkeley ​มีความเห็นว่า หากเราต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้เล่นต่างๆ ในระบบจะต้องถูกพยุงให้อยู่รอดได้ เพราะหากผู้เล่นสำคัญในระบบตายไปเสียแล้ว อาจไม่เร็วนักที่จะสร้างขึ้นใหม่ และแม้เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสผ่านไปแล้ว เศรษฐกิจก็อาจกลับมาฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก

สำหรับในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าในขณะนี้ทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างๆ จะมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กกันบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายเพิ่มเติม คือ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการแบบไม่มีลูกจ้าง ตลอดจนฟรีแลนซ์ ซึ่งมีจำนวนมาก และมักอยู่นอกระบบ รวมทั้งมีความหลากหลายทางอาชีพสูง การใช้มาตรการแบบ One-Size-Fit-All อาจจะไม่ได้ผลมากนัก การช่วยเหลือที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มอาชีพ จึงมีความจำเป็นมากขึ้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถผ่านพ้น และเป็นกำลังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อการระบาดของโรคผ่านพ้นไปแล้วได้


แชร์ :

You may also like