จากความสำเร็จเมื่อสองปีก่อน ทำให้ Pecha Kucha Night Bangkok งานแสดงความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก กลับมาจัดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 24 โดย เชน สุวิกะปกรณ์กุล แห่ง Serindia Gallery และ Hardcover Art Book Shop ได้เป็นผู้ประสานงานหลักประจำเมืองกรุงเทพฯ พร้อมได้รับความร่วมมือจาก Open House และศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ร่วมด้วยเหล่าวิทยากรนำเสนอทั้งไทยและเทศ ซึ่งกิจกรรมปีนี้ถูกจัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกใน … ประเทศ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา
สำหรับบรรยากาศงาน Pecha Kucha Night Bangkok Vol.24 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ณ โอเพ่น เฮ้าส์ ชั้น 6 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ได้เปิดเวทีแชร์ประสบการณ์และข้อคิดจากภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำอันน่าสนใจ โดยได้ผู้นำเสนอสัญชาติไทยและเทศจำนวน 6 ท่าน ได้แก่ Philip Cornwel-Smith, ธำมรงค์ วนาฤทธิกุล, สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี, พรรัก เชาวนโยธิน, ขวัญแก้ว เกตุผล และ ณัตฐิยา ปิยมหันต์ มาร่วมนำเสนอไอเดีย ‘ปล่อยของดี’ ถ่ายทอดมุมมอง ทัศนคติ ข้อคิด ประสบการณ์ และสารพันเรื่องราวที่พบเจอทั้งเก่าและใหม่ นำเสนอภายใต้กฎหลักของ Pecha Kucha นั่นคือ ผ่าน 20 ภาพ ภาพละไม่เกิน 20 วินาที ด้วยเวลาที่จำกัดทำให้ผู้พูดต้องมีความกระชับเข้าถึงสาระสำคัญที่ต้องการสื่อ และผู้ฟังก็สามารถจดจ่อกับสิ่งที่นำเสนอได้อย่างสบาย ๆ ไม่น่าเบื่อ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถร่วมพูดคุยสังสรรค์กันได้อย่างสนุกสนาน และแน่นอนว่าในช่วง 20.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละประเทศก็เริ่มต้นงาน Pecha Kucha Night ด้วยเช่นกัน
Philip Cornwel–Smith ชาวอังกฤษที่ย้ายรกรากมาอยู่ไทยตั้งแต่ปี 1994 และเริ่มต้นเขียนหนังสือถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย เขาสนใจประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากเป็นพิเศษ ผลงานล่าสุดที่ตีพิมพ์คือหนังสือ “Very Bangkok: In the City of the Senses” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มต่อจาก “Very Thai: Everyday Popular Culture” อีกทั้งเป็นหนึ่งในบรรณาธิการผู้ก่อตั้งแม็กกาซีน Bangkok Metro และไกด์บุ๊ก Time Out Bangkok Cityguide นอกจากนี้ผลงานภาพถ่ายของฟิลลิปยังเคยอยู่ในนิทรรศการ Invisible Things ที่ TCDC อีกด้วย สำหรับ Pecha Kucha ครั้งนี้ เขานำภาพถ่ายที่นำเสนอความหลากหลายของกรุงเทพฯ ผ่านคีย์เวิร์ด 20 คำ ตั้งแต่เรื่องกลิ่น หยิบยกภาพสีสันละลานตาของดอกไม้สดตามตลอด ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็ยังมีกลิ่นไม่รัญจวนใจจากคลองสายใหญ่ที่พาดผ่านกลางเมือง คีย์เวิร์ดเรื่องรสชาติ แน่นอนว่าต้องพูดถึงสตรีทฟู้ดอันเป็นซิกเนเจอร์ของกรุงเทพฯ และขณะเดียวกันรสชาติอร่อยที่พบเจอในอาหารก็อาจอยู่ในรูปแบบค็อกเทลที่ท็อปด้วยเบคอนได้เช่นกัน นอกจากนี้คีย์เวิร์ดเด่นที่ฟิลลิปสื่อสารผ่านภาพถ่าย มีทั้ง touch, sound, color, space, sixth sense และคำอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ผู้นำเสนอคนถัดมา ธำมรงค์ วนาฤทธิกุล อดีตนักศึกษาปริญญาโทสายไอทีจาก Queen Mary’s College, University of London ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพ และเริ่มต้นเส้นทางช่างภาพมือสมัครเล่น จนกระทั่งซีรีส์ภาพถ่าย “8 โมงเช้า” ของเขา ได้ไปจัดแสดงครั้งแรกที่ Kathmandu Photo Gallery ธำมรงค์เล่าถึงเรื่องราว “Kids on Board” เซ็ตภาพถ่ายนำเสนอวิถีชีวิตของเด็กที่ใช้ชีวิตบนรถเมล์ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ซึ่งผู้ปกครองมักจะเป็นผู้ขับรถเมล์หรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร เห็นถึงความสนุกสนาน ความเหงา ความเศร้า การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาพักผ่อน ในอีกมุมหนึ่ง ภาพถ่ายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความปลอดภัย สุขภาพ และการศึกษาของเด็กบนรถเมล์ ซึ่งขาดโอกาสมากกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน
สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี นักเขียน นักแปล และอดีตคนทำภาพยนตร์แนวทดลอง เธอชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มเช่นเดียวกับขั้นตอนการอัดภาพ ขณะเดียวกันก็เดินทางบ่อยครั้ง ภาพถ่ายทริปอินเดียถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าใหม่ ชวนให้ผู้ฟังร่วมเดินทางไปกับเธออีกครั้ง สานพิณบันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน อาหารการกิน สภาพบ้านเมือง ตลอดจนเรื่องราวบนรถไฟที่เป็นภาพจำตามแบบฉบับอินเดีย ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนและสังคมในอินเดีย ที่หล่อหลอมและทำให้อินเดียเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
ต่อด้วย พรรัก เชาวนโยธิน ดอกเตอร์จบใหม่จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้สอนที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เมื่อปี 2014 เธอได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายหัวข้อ “French in Memory” จาก Alliance Francaise Bangkok นอกจากนี้พรรักยังได้ใบประกาศนียบัตรผู้ฝึกสอนดำน้ำ PADI อีกทั้งยังเป็นผู้สอนการถ่ายทำสื่อใต้น้ำคนแรกในระดับมหาวิทยาลัย เธอได้แบ่งปันประสบการณ์และความประทับใจในมหานครปารีส ดินแดนแห่งแสงสี ที่ซึ่งปลุกจิตวิญญาณแห่งการถ่ายภาพของเธอ พรรักบันทึกภาพความเคลื่อนไหวทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง และบนเวทีแคทวอล์ค Paris Fashion Week รวมถึงความน่ารักของเพื่อนสี่ขาที่พบเจอ และผู้คนมากหน้าหลายตาบน Metro
ขวัญแก้ว เกตุผล คุณแม่ฟูลไทม์และผู้ผลิตภาพยนตร์แนวสารคดีเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เธอใช้สื่อในการโปรโมทความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมสันติภาพ และประชาธิปไตย หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นคือภาพยนตร์สารคดีส่งเสริมให้เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภายใต้ของไทยที่มีชาวมาเลย์-มุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ และเมื่อปี 2016 – 2017 ขวัญแก้วและสามีเมื่อครั้งอยู่นิวยอร์กก็ได้ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับความเป็นไทยที่พบเจอในมหานครนิวยอร์ก ในชื่อโปรเจกต์ “Little Thailand”
ผู้นำเสนอคนสุดท้าย คือ ณัตฐิยา ปิยมหันต์ นักแปลอิสระผู้ค้นพบความสงบสุขในจิตใจจากการดำเนินชีวิตด้วยจังหวะเนิบช้า เธอมาแบ่งปันประสบการณ์จากการเดินทางไปยังเขาอู่ตัง หรือ ภูเขาบู๊ตึ้ง มณฑลหูเป่ย ซึ่งมีความสำคัญสำหรับลัทธิเต๋า ซึ่งณัตฐิยาได้ไปยังโรงเรียนฝึกสอนศิลปะการต่อสู้และกำลังภายใน เพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างเต๋า ตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนถึงยามค่ำคืน โดยผสมผสานการออกกำลัง กายบริหาร และการฝึกศิลปะการต่อสู้ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและห่างไกลโรคภัย อีกทั้งมีชั้นเรียนเพื่อฝึกสมาธิและควบคุมจิตใจให้อยู่เหนือร่างกาย
ปัจจุบัน Pecha Kucha ถูกจัดขึ้นแล้วกว่า 1,000 เมืองทั่วโลกและทุกสัปดาห์ ทั้งในเอเชีย อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา เวทีเปิดกว้างทางความคิดและการแสดงออกที่เสรีสำหรับคนยุคใหม่เช่นนี้ สอดคล้องกับแนวคิดของ Open House ที่ได้รับการออกแบบให้รองรับกิจกรรมแนวสร้างสรรค์ และได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดงานสไตล์ครีเอทีฟจากศิลปินและนักคิดมากมาย ไม่เพียงแต่การเป็นพื้นที่สำหรับการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น Open House ยังมีบริเวณโดยรอบที่กว้างขวาง โปร่งโล่ง สบายตาด้วยสีเขียวจากธรรมชาติสลับกับวิวใจกลางเมือง ซึ่งทุกคนสามารถมาพักผ่อน ทำงาน ค้นหาความรู้ และอิ่มอร่อยกับอาหารหลายสัญชาติและดีต่อสุขภาพ ซึ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และความเป็นเมืองร่วมสมัยอย่างลงตัว