ปับลิซีส กรุ๊ป เผยผลสำรวจความวิตกกังวลของผู้บริโภคไตรมาส 1 พบความกังวลต่อโควิด-19 สูงถึง 92% ส่งผลผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม – ใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น ดังนั้น ต้องปรับวิธีการวางแผนใช้สื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคภายในบ้านมากขึ้น
ปับลิซีส กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจบริการด้านการวางแผนสื่อโฆษณา และต่อยอดด้าน Human Experience Company สำหรับการสร้างและพัฒนาแบรนด์ ซึ่งดำเนินธุรกิจผ่านสำนักงานต่างๆ 110 แห่งทั่วโลก เผยผลสำรวจความวิตกกังวลของผู้บริโภคไตรมาส 1 นี้ พบว่ากังวลกับโควิด-19 สูงถึง 92% ส่งผลให้ผู้บริโภคลดพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตในที่สาธารณะ ใช้ชีวิตในบ้าน ซื้อของและสั่งอาหารทางออนไลน์มากขึ้น แนะปรับใช้สื่อในบ้านทั้งโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด
คุณอติพล อิทธิวัฒนะ Head of Media – Publicis Group (ปับลิซีส กรุ๊ป) ในฐานะผู้บริหารสูงสุดธุรกิจกลุ่มธุรกิจสื่อโฆษณา ประกอบด้วย บริษัท สตาร์คอม จำกัด บริษัท สปาร์ค ฟาวดรีย์ จำกัด และ บริษัท ซีนิท จำกัด เผยว่าเนื่องจากตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้เกิดประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภูมิอากาศและสุขภาพ ทำให้สังคมตื่นตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต แผนก Data Science Analytic & Consumer Research ของบริษัทฯ จึงได้จัดทำการสำรวจความวิตกกังวลของผู้บริโภค (Consumer Sensing) ในไตรมาสที่ 1 ด้วยการใช้แบบสอบถามออนไลน์ทั้งด้านคุณภาพและเชิงปริมาณ รวมกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั้งสิ้น 403 คน
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความกังวลสูงสุดกับสถานการณ์ต่างๆ รวม 6 ประเด็น โดยผู้บริโภคทั่วประเทศกังวลกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงเป็นอันดับหนึ่งถึง 92%
อันดับ 2 คือวิตกกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจ 85% อันดับ 3 วิตกกังวลกับความไม่ปลอดภัยในชีวิต ซึ่งมีการกราดยิงในที่สาธารณะติดๆ กัน และกังวลกับสถานการณ์การเมืองเท่ากันคือ 40%
อันดับ 4. วิตกกังวลกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ 20% ตามมาด้วย สวัสดิภาพการทำงานและการเรียนซึ่งผู้บริโภควิตกกังวลเพียง 17% ตามลำดับ
ผลสำรวจ Consumer Sensing ดังกล่าว ยังเสนอผลศึกษาในรายละเอียดต่อโควิด-19 พบว่า กลุ่มตัวอย่างตระหนักและตระหนกกับการขยายตัวเป็นวงกว้างของโควิด-19 เนื่องจาก เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพและความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบกับการรับข้อมูลอย่างมากมายมหาศาลผ่านทุกช่องทาง จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในมาตรการรับมือของภาครัฐ ในการจัดการสินค้าเกี่ยวกับการป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือยังขาดตลาดและมีราคาแพง การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ที่กลับมาจากประเทศกลุ่มความเสี่ยง และการกลับมาของผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศเสี่ยงอีกด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก
โควิด-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
การสำรวจยังพบว่าคนกรุงเทพและปริมณฑลมีความกังวลกับเรื่องไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนในต่างจังหวัด และผู้หญิงจะมีความกังวลสูงมากกว่าผู้ชายถึง 40% นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีการปรับพฤติกรรม เช่น พยายามหลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือที่ที่มีคนเยอะๆ งดการใช้บริการรถยนต์สาธารณะ และเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้สื่อออนไลน์ในการสั่งซื้อสินค้าและรับข่าวสารมากขึ้น
จากการสำรวจพบว่า การเข้าไปใช้บริการในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ชอปปิ้ง มอลล์ ลดลงถึง 73% การเข้าร่วมหรือเข้าชมงานอีเว้นท์ หรือ งานเอ็กซ์โปต่างๆ ลดลง 59% ตลาดนัด ลดลง 57% ไฮเปอร์มาร์เก็ตลดลง 56% สถานที่อื่นๆ ที่ลดลงไปด้วยก็คือ โรงพยาบาลและธนาคาร ลดลง 52% โรงภาพยนตร์ ลดลง 50%
สำหรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ในการสำรวจพบว่าผู้บริโภคใช้รถแท็กซี่ ลดลง 35% การเดินทางด้วยรถประจำทาง รถไฟฟ้า BTS และ MRT ลดลงถึง 33% ในขณะที่การใช้รถยนต์ส่วนตัว เพิ่มขึ้น 22% โดยผู้ตอบแบบสอบถามได้แสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ว่า “กิจกรรมบางอย่างที่ทำเป็นประจำ เช่น เข้าฟิตเนส การใช้บริการรถสาธารณะแต่ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้แต่จะพยายามนั่งเบาะเดี่ยว ใช้หน้ากากอนามัย มีแอลกอฮอล์เจลติดตัว ไม่สัมผัสอะไรถ้าไม่จำเป็น”
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคนอกจากจะลดการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะและระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้การใช้บริการเดลิเวอร์รี่ และการชอปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่ เพิ่มขึ้น 28% และการชอปปิ้งออนไลน์ เพิ่มขึ้น 26% ตามลำดับ
พฤติกรรมการรับสื่อเปลี่ยน : ติดตามข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น
Consumer Sensing ยังสำรวจพบด้วยว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ผู้บริโภคติดตามข่าวสารความคืบหน้าประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกรับข่าวสาร อัพเดทข้อมูลประเด็นร้อนจากเพจของสำนักข่าว ทั้งใน Platform เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ ของสำนักพิมพ์และสื่อต่างๆ เพราะเชื่อถือได้มากที่สุด
“ความวิตกกังวลต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักและตื่นตัวในการเปิดรับข่าวสารทางทวิตเตอร์เพิ่มสูงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสื่อทวิตเตอร์ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวสารสั้นๆ มีข้อความที่กระชับ ง่ายต่อการสื่อสาร รวดเร็วตรงประเด็นและมีความคืบหน้าตลอดเวลา สอดคล้องกับพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารของผู้บริโภคต้องการข่าวสารที่น่าเชื่อถือได้ รวดเร็ว สั้น และกระชับ เพื่อให้การรับข่าวสารได้เร็วที่สุด ประการสำคัญความตระหนกเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภคกับคนรอบข้างโดยตรง ทำให้การเปิดรับข่าวสารผ่าน Platform ทวิตเตอร์เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ผลการสำรวจการรับข่าวสารจากสื่อในช่วงนี้ยังพบว่า Platform ทวิตเตอร์ เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการผลการสำรวจผู้โภคติดตามข่าวสารสื่อออนไลน์สูงถึง 57% อย่างไรก็ตาม ข่าวสารจากทางโทรทัศน์ก็ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม โดยผู้บริโภคเปิดรับข่าวสารสูงถึง 42% และพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะติดตามข่าวสารทั้งสื่อโซเชียลหรือรายการโทรทัศน์จากสมาร์ทโฟน
โควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับการวางแผนสื่อโฆษณา
Consumer Sensing ยังรายงานด้วยว่า ความวิตกกังวลสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะโควิด-19 สถานการณ์เศรษฐกิจและความปลอดภัยในที่สาธารณะ ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนทัศนคติในการดำเนินชีวิตอย่างมีนัยยะที่น่าสนใจ โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสะท้อนผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ผู้บริโภคเริ่มซื้อสินค้าที่เก็บได้นานมากขึ้น เช่น อาหารแห้ง และอาหารแช่แข็ง เพื่อเก็บไว้ได้นานไม่ต้องออกจากบ้านบ่อย และเผื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เมื่อถามถึงสิ่งที่ซื้อเก็บไว้พบว่าส่วนใหญ่จะซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการปกป้องป้องกัน (Prevention kit) เวชภัณฑ์ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ของใช้ส่วนตัว อาหารสำหรับเด็ก และของใช้ในบ้าน เป็นหลัก
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 50% เห็นว่าต้องออมเงินไว้ เพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น อีกทั้งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย จะทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลง สินค้าราคาแพง สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าทดแทนของที่มีอยู่ก็เลื่อนการซื้อออกไปก่อน เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนและทองคำ ตามลำดับ ในทางกลับกันสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพได้รับความสนใจที่จะซื้อ หรือมีแผนที่จะซื้อในระยะนี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ สินค้ากลุ่มประกันสุขภาพ และ ประกันชีวิต เป็นต้น
คุณอติพล กล่าวว่า ความวิตกกังวลส่งผลต่อพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ส่งผลให้สื่อในบ้านมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งสื่อทวิตเตอร์เติบโตสูงขึ้นรวมทั้งการรายงานข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในขณะเดียวกันผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับสื่อจากสำนักพิมพ์กับสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อหลัก ดังนั้น ในการวางแผนสื่อโฆษณาจึงจำเป็นต้องพิจารณาการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงที่ผู้บริโภคอยู่ในบ้านก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ รวมทั้งควรพิจารณาให้ความสำคัญกับสื่อทวิตเตอร์สื่อโทรทัศน์ สำนักพิมพ์และรายการข่าวเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยในการวางแผนสื่อโฆษณาต้องเน้นการวางแผนให้เกิดซินเนอร์ยี่ หรือการเสริมประสิทธิภาพผ่านมีเดียเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
“ในช่วงที่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่แบรนด์ต้องเข้าใจผู้บริโภคให้มาก แสดงความจริงใจต่อผู้บริโภค พร้อมที่จะยืนเคียงข้างผู้บริโภคเพื่อผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน ในขณะเดียวกันต้องนำเสนอสิ่งที่ดีและไม่ทอดทิ้งผู้บริโภค ลูกค้าควรพิจารณาเลือกใช้การทำ Content เพื่อช่วยเหลือหรือผ่อนคลายความกังวลกับสถานการณ์ในช่วงนี้ได้ การสร้าง Content แนะนำสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะกับสถานการณ์ การเพิ่มบริการที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นคงปลอดภัย และเกิดความรู้สึกผูกพันกับแบรนด์มากขึ้น”