ช่วงนี้หากเปิดเข้าไปอ่านตำราการตลาดเล่มใดๆ เราจะเห็นว่า หนึ่งในเทรนด์มาแรงที่พูดถึงกันหนาหูก็คือ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ และแม้กระทั่งแบรนด์สินค้าต่างตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโลกกันอย่างมากจากการต้องผจญกับมลภาวะแวดล้อมเป็นพิษหนักขึ้นทุกวัน
ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ หลายคนมักจะนึกถึงการนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่การนำระบบ Circular Economy มาใช้ในธุรกิจสิ่งทอกลับยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่ยังเป็นแค่การนำขวดพลาสติกเก่ามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้น จะเป็นอย่างไร หากวันนี้เราสามารถจะนำเอา “เสื้อผ้าเก่า” ที่เหลือทิ้งมาแปลงร่างให้กลายเป็น “เสื้อผ้าใหม่” ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ได้อย่างไม่รู้จบ
จาก “เศษผ้าเก่า” สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลก
ที่ผ่านมา หลายคนมักจะเข้าใจว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและพลาสติกเป็นต้นตอการทำลายสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโลก แต่คุณอาจไม่รู้ว่า “เสื้อผ้า” ที่อยู่ใกล้ตัวเราและสวมใส่กันทุกวัน เป็นหนึ่งในต้นตอการสร้างมลภาวะสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันทีเดียว
เพราะเสื้อยืด 1 ตัวต้องใช้น้ำในการผลิตมากถึง 2,700 ลิตร ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้สามารถให้คน 1 คนดื่มได้ถึง 3 ปี อีกทั้งในกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสัดส่วนถึง 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก แล้วลองคิดต่อไปว่า ในแต่ละปีโรงงานต้องผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอเป็นจำนวนมาก ต้องใช้น้ำและปล่อยก๊าซมหาศาลแค่ไหน
ยิ่งไปกว่านั้น ตามธรรมชาติของการผลิตเสื้อผ้าจะมีเศษผ้าเหลือจากการตัดผ้า ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกนำมาขาย และจะถูกทิ้งเป็นขยะหากขายไม่หมด ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ Sustain Your Style ระบุว่า ในทุก 1 วินาทีจะมีของเสียจากเสื้อผ้าถูกทิ้งประมาณหนึ่งคันรถในพื้นที่ว่างเปล่า และยังคาดการณ์ว่าหากผู้ประกอบการสิ่งทอยังคงผลิตเสื้อผ้าด้วยวิธีการเดิมๆ ต่อไป น้ำสะอาดหายไปจากโลกใบนี้ถึง 25% ภายในปี 2050
นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ คุณวัธ – จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ต้องการนำจุดแข็งด้านการรีไซเคิลผ้าของบริษัทมาช่วยในการจัดการกับ “ขยะ” ในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อบวกกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์สิ่งทอของไทยอยู่ในช่วงขาลง ทำให้เขาต้องเร่งปรับตัวรับมือกับสภาพตลาดเช่นกัน และการนำระบบ Circular Economy มาใช้ในธุรกิจด้วยการนำเสื้อผ้าเก่ามาแปลงร่างเป็นเสื้อผ้าใหม่ก็คือคำตอบ
“เราเริ่มธุรกิจผ้าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยคุณปู่แสงเจริญได้ก่อตั้งบริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด โดยเริ่มจากการรับซื้อเศษผ้าเหลือทิ้งจากโรงงานทอผ้าเพื่อนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ จนมาถึงทายาทรุ่น 2 ซึ่งเป็นยุคของคุณแม่และคุณน้าที่ได้เข้ามาขยายกิจการด้วยการเปิดโรงปั่นด้ายเล็กๆ โดยนำเศษผ้าที่ถูกทิ้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มาต่อยอดปั่นเป็นเส้นด้ายใหม่เพื่อป้อนให้กับโรงงานทอผ้า ซึ่งตอนนั้นการผลิตเส้นด้ายยังทำได้เพียง 2 สีคือ สีขาวและสีครีม และมุ่งเจาะตลาดในประเทศเป็นหลัก”
คุณวัธ เล่าถึงปูมหลังธุรกิจรีไซเคิลผ้าของ SC Grand และยอมรับว่า การนำเสื้อผ้าเก่ามาพัฒนาเป็นเสื้อผ้าใหม่ ยังเป็นเรื่องใหม่มากในตลาดสิ่งทอไทย แต่สำหรับต่างประเทศนิยมทำกันนานแล้วและปัจจุบันกำลังมาแรงอย่างมาก จะเห็นได้จากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกที่หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ Zero Waste เพื่อลดของเสียที่อยู่ในกระบวนการผลิตกันมากขึ้น และเมื่อมาดูพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในต่างประเทศจะพบด้วยว่า ความต้องการสินค้ารักษ์โลกขยายตัวขึ้นมาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่ต้องการรู้ที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ว่าสามารถสร้างผลดีผลเสียต่อโลกใบนี้แค่ไหน ดังนั้น จึงมั่นใจว่าแนวคิดนี้จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยเช่นเดียวกัน
ชูแตกต่างด้วย Textile Waste 100%
คุณวัธ ใช้เวลา 2 ปีกับการศึกษาตลาด รวมทั้งนำความเชี่ยวชาญในธุรกิจรีไซเคิลผ้ามาวิจัยและพัฒนาจนสามารถนำเศษผ้าหรือเสื้อผ้าเก่าที่เป็นขยะมาแปลงร่างกลายเป็นเส้นด้ายใหม่ ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตได้ถึง 10 สี รวมถึงสามารถจะพัฒนาเป็นเสื้อยืด กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต และเสื้อโปโลได้อีกด้วย
“เสื้อผ้าเราผลิตจาก 100% Textile waste หรือ 100% Recycled Meterial ทุกวัตถุดิบที่เป็นของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เราจัดการและทำได้หมด โดยนำเศษผ้าที่ได้มาไปคัดแยกสีและรีไซเคิลใหม่ 100% โดยไม่ผ่านกระบวนการย้อมผ้า” คุณวัธ ย้ำถึงความแตกต่างของ SC GRAND จากผู้ประกอบการสิ่งทอรีไซเคิลในตลาด และยอมรับว่า แม้จะมีประสบการณ์รีไซเคิลผ้ามาก่อน แต่กว่าจะได้สูตรที่ลงตัวนั้นไม่ง่าย เนื่องจากเศษผ้าหรือเสื้อผ้ามีความ “หลากหลาย” ค่อนข้างมากทั้งในด้านประเภทและสี ดังนั้น จุดยากจึงอยู่ที่ การบริหารจัดการของเสียจากเศษผ้าที่เหล่านี้ให้ได้ “สี” ในแบบที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และการคำนวณสีที่แม่นยำ
ปัจจุบัน SC Grand ได้เริ่มเปิดตลาดผ้ารีไซเคิล 3 สีก่อน ได้แก่ สีเทาอ่อน สีเทาเข้ม และสีกรม โดยมุ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Recycle Fashion) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 5% ของตลาดรวมแฟชั่น แต่มีโอกาสในตลาดอีกมาก โดยวิธีการทำตลาดจะเน้นจับมือกับแบรนด์เสื้อผ้า (Collaboration) ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นได้ร่วมกับ 2 แบรนด์คือ Selvedgework และ Khaki Bros เพื่อทำตลาดในประเทศ และตั้งเป้าสิ้นปีเพิ่มเป็น 8 แบรนด์ ส่วนตลาดต่างประเทศปีนี้ตั้งเป้าขยายให้ได้ 3 แบรนด์ ขณะเดียวกันยังมีแผนจะพัฒนาผ้าในแบรนด์ SC GRAND ลุยตลาดเพิ่มขึ้นด้วย
“การที่เราได้ Collaboration กับแบรนด์เสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาด จะช่วยให้แบรนด์มีความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น และทำให้เราขยายตลาดไปสู่กลุ่มคอนซูเมอร์ได้มากขึ้นจากเดิมที่เราเน้นตลาดคอร์ปอเรทเป็นหลัก”
ตั้งเป้า 3 ปี Top 3 Fashion Recycle Brand ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในแง่ต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าจากเศษผ้าเก่าที่เหลือใช้ คุณวัธ บอกว่า มีความต่างกันไม่มากเมื่อเทียบกับการผลิตเสื้อผ้าแบบเดิม แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มากลับสร้างประโยชน์ต่อโลกได้มากกว่า โดยเสื้อผ้าจากเศษผ้าเก่าช่วยลดพลังงานประหยัดน้ำได้มากกว่า 2,700 ลิตร ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 30% ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และการใช้พลาสติกซึ่งเท่ากับขวดพลาสติก 4 ขวดทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์จากเสื้อผ้าเก่า ย่อมทำให้ในสายตาคนทั่วไปมองคุณภาพสู้ไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้น เป้าหมายของ SC GRAND จึงไม่ได้มองแค่เรื่องยอดขาย แต่ยังตั้งเป้าหมายจะช่วยลดของเสียที่ใช้แล้วในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ได้มากขึ้น ส่วนเป้าหมายใหญ่อยากจะให้ทุกคนที่คิดถึงผ้ารีไซเคิลหรือการนำเสื้อผ้าเก่ามาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ ต้องคิดถึงแบรนด์ SC GRAND เป็นหนึ่งในใจ โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะก้าวสู่ Top 3 แบรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“โรงงานการ์เม้นท์ในพม่าลาวกัมพูชามีเป็นจำนวนมาก ของเสียจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกทิ้งในพื้นที่เปล่า ขณะเดียวกันแบรนด์ทั่วโลกก็ตระหนักและต้องการนำเอาของเสียจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มาพัฒนาเป็นของใหม่”
คุณวัธ ย้ำถึงความมั่นใจ และยอมรับว่า ตลาด Recycle Fashion ที่น่ากลัว คือ ตลาดจีนเพราะมีเงินทุนสูง เช่นเดียวกับสเปนและยุโรปที่มีเทคโนโลยีและการวิจัยที่ทันสมัย ดังนั้น สิ่งที่ SC GRAND จะแข่งได้คือ นวัตกรรมที่แตกต่าง ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะผลิตทุกเส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“อะไรที่ดีก็ต้องมีคู่แข่งเข้ามาหมดไม่ช้าก็เร็ว ผมบอกน้องเสมอว่าสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ ไม่ใช่การที่เราวิ่งออกไปจับปลาเหมือนเดิมแล้ว สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้คือ การที่เราเห็นแล้วว่ากระแสน้ำพัดปลาไปทางไหน หน้าที่ของเราคือ การสร้างแหไปดักปลาพวกนั้นที่กำลังจะเข้ามาและต้องสร้างให้มันแข็งแรง”
จึงนับเป็นตัวอย่างผู้ประกอบการไทยที่นำระบบ Circular Economy มาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้วันนี้ SC GRAND สามารถนำขยะจากเศษผ้าและเสื้อผ้าเก่ามาแปรเปลี่ยนเป็นขุมทรัพย์ สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ให้ยั่งยืนอีกด้วย