ท่ามกลางยุทธวิธีมากมายในการเอาชนะไวรัส Covid-19 วันนี้มีอีกหนึ่งความร่วมมือของภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล ในการพัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ “หมอชนะ” ออกมาให้คนไทยได้โหลดไปติดตั้งในสมาร์ทโฟนกัน ซึ่งแอปตัวนี้ทำงานอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมีการจัดการข้อมูลของเราอย่างไรหลังวิกฤตินี้จบลง ทีมงาน Brandbuffet ขอรวบรวมมาฝากกันดังนี้
1. แอป “หมอชนะ” คืออะไร
แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” คือระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ซึ่งระบบจะวิเคราะห์จากข้อมูลและพฤติกรรมของผู้ใช้งานและจะสร้างเป็น QR Code สีต่าง ๆ เพื่อให้เราใช้ในการแสดงสถานะ
2. แอป “หมอชนะ” ใช้งานอย่างไร
หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งในโทรศัพท์มือถือแล้ว จะมีคำถามให้ตอบเพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งานแต่ละราย จากนั้น ผู้ใช้งานสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลให้กับระบบด้วยการเช็คอินด้วยแอปนี้เมื่อเข้าสู่อาคารสถานที่ต่าง ๆ (เริ่มใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป) และเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล การลงทะเบียนใช้แอปจึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) และมีการจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย
3. รายงานผลให้เห็นชัด ๆ ด้วย “สี”
หัวใจการทำงานของแอปฯอยู่ที่การรายงานผลเป็นค่าสีต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น
- สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
- สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคต เมื่อมีฐานข้อมูลเพียงพอ ค่าสียังมีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และระบบพบว่าผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นในช่วงที่ผ่านมา แอปฯจะเตือนผู้ใช้งานให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความระมัดระวังและการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้ดีขึ้น
4. คิดจะสู้กับไวรัส ทำไมต้องมีแอป?
หากเป็นโลกในอดีต ที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า การต่อสู้กับไวรัสอาจเป็นภาระหนักของหมอ-พยาบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวไกลมากขึ้น การมีแอปฯดังกล่าวก็ถือเป็นเครื่องมือให้แพทย์และพยาบาลทำงานได้สะดวกขึ้น เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล, นายสุทธิพงศ์ กนกากร และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ตัวแทนทีมพัฒนาที่เปิดเผยว่า
“ปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และคุกคามชีวิตบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก คือการปกปิดข้อมูลของประชาชนในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งหลายครั้งทำให้แพทย์และพยาบาลต้องหยุดการทำงานทีละเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อกักตัวเองหรือแม้กระทั่งล้มป่วย เมื่อพบในภายหลังว่าผู้มารับบริการติดเชื้อโควิด-19″
ซึ่งเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยอาศัยเครื่องมืออย่าง GPS และ Bluetooth ในการติดตามตำแหน่งของผู้ใช้แอปฯและแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แอปฯได้ผ่านพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ ทำให้เมื่อผู้มารับบริการทางการแพทย์แสดงข้อมูลในแอปฯ บุคลากรทางการแพทย์ก็จะสามารถจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น
5. ผู้ใช้งานให้ข้อมูล Location ไป แล้วได้อะไรกลับมา?
ประโยชน์อีกข้อสำหรับผู้ใช้แอปฯทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็คือ สามารถตรวจดูในแอปฯเพื่อประเมินได้ว่าพื้นที่ใดเป็น “พื้นที่เสี่ยง” เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนแผนการเดินทาง หรือบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งย่อมจะทำให้ทุกคนสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
6. แอปฯ “หมอชนะ” ลดค่าใช้จ่ายให้ภาคธุรกิจได้ด้วยนะ
สำหรับผู้ประกอบการต่าง ๆ ไม่ว่าห้างร้าน โรงงาน สถานที่ หรือธุรกิจต่าง ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันนี้ได้เช่นกัน เพราะต้องอย่าลืมว่า ในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจก็ต้องกลับมาเปิดให้บริการตามเดิม ด้วยเหตุนี้ เพื่อความมั่นใจว่าลูกค้าหรือพนักงานที่เข้าใช้บริการปลอดภัยหรือไม่ ก็สามารถขอตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าหรือพนักงานได้ด้วยการให้ลูกค้าโชว์ QR Code จากตัวแอปฯ ซึ่งหากพบว่าลูกค้าบางรายมี QR Code สีแดง ก็อาจขอให้เลื่อนการเข้าใช้บริการออกไปก่อน พร้อมแนะนำให้ไปพบแพทย์ เป็นต้น ส่วนร้านค้าก็ไม่ต้องเสี่ยงปิดร้าน พ่นน้ำฆ่าเชื้อ ฯลฯ อีกด้วย
7. แอปฯ “หมอชนะ” จะทำอย่างไรกับข้อมูลเมื่อวิกฤติ Covid-19 จบลง
เมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที
8. แอปฯ “หมอชนะ” น่าเชื่อถือแค่ไหน
แอปฯ “หมอชนะ” เป็นการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ” นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก เช่น
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยบูรพา
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
- กสท โทรคมนาคม, ทีโอที, ไปรษณีย์ไทย, Dtac, AIS และ True
- โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพล สภากาชาดไทย
- กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, เอ็ม เอฟ อี ซี, Blockfint, Cleverse, ทรูเวฟ (ประเทศไทย), Invitrace, เอเทน เทคโนโลยีส์ (ไทยแลนด์), NODSTAR Longdo Map, พลังงานบริสุทธิ์, เจแปนคาร์ แอดแซสเซอรี่ แอนด์ พาร์ท, ฮอนด้า ประเทศไทย, เค.คอนเนค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย), โกลบเทค, เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์, Rabbit Digital Group, Likehouse, แมด อะไรดี, มติชน, เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป, สำนักข่าวอิศรา, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และมูลนิธิสะพานบุญ เป็นต้น
โดย ดร.อนุชิตยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในอนาคต ประเทศไทยอาจเจอวิกฤติอื่น ๆ โจมตีได้อีก และอาจต้องการความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนแบบที่เกิดขึ้นในวันนี้อีก การพัฒนาแอปพลิเคชันตัวนี้จึงมีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐของประเทศไทยสามารถ “ทำงานร่วมกันได้” นั่นเอง