เมื่อเกิดวิกฤติทุกครั้ง สิ่งที่ตามมาคือความสามัคคี ร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กระทบทั้งธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก จนหลายแห่งปิดกิจการ กระทบคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ว่ารวย หรือจน กระทบคนทุกระดับ
นาทีนี้ การรวมใจ ทำสิ่งที่แต่ละภาคส่วนทำได้ เพื่อสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งโลกจึงได้เห็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่เข้ามาส่งต่อความดีงามให้กับสังคมอย่างเร่งด่วนและทรงพลังด้วยศักยภาพของบรรดาธุรกิจใหญ่ชั้นนำทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ที่พร้อมใจกันร่วมช่วยเหลือสังคมและประเทศที่กำลังชะงักงันจากวิกฤติโควิด-19
สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อโลกและประเทศต่างๆ กำลังเผชิญวิกฤติใหญ่ บรรดามหาเศรษฐีนักธุรกิจ เหล่านี้ต่างเป็นพลังขับเคลื่อนในการร่วมลดผลกระทบโลกไปด้วยกัน แม้ปีนี้ธุรกิจของของเศรษฐีนักธุรกิจ ความมั่งคั่งจะลดลง จากผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ด้วยกำลังที่เหลืออยู่ ภาคธุรกิจและมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจชั้นแนวหน้าทั่วโลกต่างระดมกำลังเข้ามาทั้งช่วยผลิตและบริจาคสิ่งจำเป็นทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเร่งด่วน จนกลายเป็นพลังแถวหน้าร่วมกับภาครัฐของแต่ละประเทศในการร่วมต่อสู้วิกฤตโควิด-19
ล่าสุดเว็บไซต์ FORBES.COM เผยแพร่บทความ Billionaire Tracker: Actions The World’s Wealthiest Are Taking In Response To The Coronavirus Pandemic นำเสนอให้เห็นว่าบรรดามหาเศรษฐีชั้นนำของโลก ได้เข้ามาช่วยโลกรับมือวิกฤติโควิด-19 และพยุงเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีเบอร์ต้นของโลกอย่าง “บิลล์ เกตส์” ที่เคยออกมาเตือนถึงโรคระบาดครั้งใหญ่ได้บริจาคเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตวัคซีนและวินิจฉัยโรค เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีทุกวงการในสหรัฐฯ และทั่วโลก
ฟอร์บส ได้รวบรวมมาว่ามหาเศรษฐีชั้นนำทั่วโลกที่ต่างบริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จสร้างอาณาจักรที่แข็งแกร่งนี้ พวกเขาได้ออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างไรบ้างในยามวิกฤตินี้ มีตั้งแต่การบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ถุงมือยาง เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือวินิจฉัยและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไปจนถึงปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตสินค้ามาร่วมเดินเครื่องจักรผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอย่างเร่งด่วนแทน
อาทิ กลุ่มธุรกิจแบรนด์แฟชั่นดัง LVMH , กลุ่มธุรกิจยานยนต์ Ford และบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง GE และอีกหลายธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต่างกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสกันอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ฟอร์บส์ยังรายงานด้วยว่าทำเนียบมหาเศรษฐีที่ร่วมเข้ากอบกู้วิกฤติครั้งนี้ หนึ่งในนั้นมีชื่อของคนไทย “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ของประเทศไทยเจ้าของอาณาจักรอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหารเบอร์ต้นของโลก
ฟอร์บส รายงานว่า เจ้าสัวธนินท์ ได้เปิดตัวโครงการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสังคมจากวิกฤตโควิด-19 หลายโครงการและถือเป็นแนวคิดริเริ่มครั้งแรกไม่ว่าจะเป็น การทุ่มงบประมาณสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้ทุกคน โดยตั้งเป้าจะเร่งผลิตให้ได้วันละ 100,000 ชิ้น หรือเดือนละ 3 ล้านชิ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะเดียวกันได้มอบชุดป้องกันการติดเชื้อเพื่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาล
ตลอดจนมีโครงการจัดส่งอาหารฟรีให้บุคลากรโรงพยาบาลรัฐกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักบริเวณ รวมทั้งการประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นราคาสินค้าในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ นอกจากนี้ได้มีการรวมรวมโครงการเพื่อสังคมที่กลุ่มซีพีได้ดำเนินการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมากว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินและอาหารยามวิกฤติน้ำท่วม ทุนการศึกษา โครงการผิงกู่ และการลงทุนให้สังคมด้านการศึกษา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ฟอร์บสได้รวบรวมและรายงานให้เห็นภาพของกลุ่มธุรกิจ และมหาเศรษฐีชั้นแนวหน้าของโลกที่ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อร่วมกู้วิกฤติโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรมจำนวนเกือบ 100 คน นอกจาก “บิลล์ เกตส์” แล้วยังมี “แจ็ก หม่า” ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักร Alibaba จะมอบเงิน 14 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ยังบริจาคชุดทดสอบโรค 500,000 ชุดและหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นให้กับประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้ส่งเวชภัณฑ์และชุดทดสอบโรคไปยังอิตาลี และประเทศอื่น ๆ ทั่วแอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชีย และล่าสุดได้จัดตั้ง Global MediXchange สำหรับการรวมองค์ความรู้โควิด-19 เพื่อแบ่งปันข้อมูลกับแพทย์ทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างการแพร่ระบาด
ขณะที่เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ได้แปลงโรงงานผลิตน้ำหอม 3 แห่งมาผลิตเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคแจกจ่ายให้กับหน่วยงานของฝรั่งเศสและระบบโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปฟรี ทั้งยังจัดหาหน้ากากอนามัยอย่างน้อย 40 ล้านชิ้นให้กับฝรั่งเศสโดยจ่ายเงินประมาณ 5.4 ล้านดอลลาร์ (5 ล้านยูโร) สำหรับการจัดส่งในสัปดาห์แรก
ส่วนเศรษฐีเจ้าของอาณาจักรเฟซบุ๊ค “มาร์ค ซักเคอเบิร์ก” แห่ง Facebook ได้ร่วมพามูลนิธิของเขาทำงานร่วมกับ UC San Francisco และ Stanford University เพื่อเร่งวินิจฉัยโรค ตลอดจนซื้อเครื่องตรวจวินิจฉัยที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA นอกจากนี้ยังประกาศมอบเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ และได้บริจาคเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ขณะเดียวกันยังประกาศจะบริจาคเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อซื้อหน้ากากจำนวน 720,000 ชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และจะทำงานเพื่อหาแหล่งบริจาคอีกนับล้านต่อไป
ฟาก “เจฟฟ์ เบซอส” เจ้าของอาณาจักร Amazon ลงทุนจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการ AWS Diagnostic Development Initiative เพื่อสร้างชุดการทดสอบโควิด-19 รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการจ้างงานเต็มเวลาและพาร์ทไทม์ 100,000 ตำแหน่งทั่วสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเพิ่มค่าจ้างรายชั่วโมงในอเมริกาและทั่วโลก โดย Amazon ยังบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกองทุนฉุกเฉินโควิด-19 ในวอชิงตัน ดี.ซี. และสร้างกองทุนบรรเทาทุกข์ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และบริจาค 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับมูลนิธิซีแอตเทิลใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสระบาดด้วย
ขณะที่ “ลี กา-ชิง” นักลงทุนผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในเอเชียบริจาคเงิน 13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันมูลนิธิของเขายังได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยจำนวน 250,000 ชิ้น ให้กับองค์กรสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในฮ่องกง
โควิด-19 จะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบการรวมพลังบวกและความสามัคคีของคนทั้งโลก เพื่อก้าวผ่านวิกฤติครั้งใหญ่นี้ไปให้ได้!
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand