ระดับสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง รวมทั้งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ “สุขภาพนำเสรีภาพ” ด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั่วทั้งประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยหวังว่ามาตรการเข้มครั้งนี้จะสามารถยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาได้
นอกจากวิกฤติด้านสุขภาพท่ีต้องเผชิญแล้ว อีกหนึ่ง Effect ที่เป็นผลพวงลามไปทั่วโลกจากการมาเยือนของ COVID-19 ก็คือ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นพร้อมๆ กันในหลายประเทศ เพราะธุรกิจต่างได้รับบาดเจ็บกันถ้วนหน้า ขณะที่ในบางธุรกิจถึงขั้นล็อกดาวน์ ต้องปิดกิจการลงชั่วคราวหรือแม้แต่ประกาศเลิกกิจการไปเลยก็มี
เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ผลกระทบครั้งนี้กระจายวงกว้างไปทั่วทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายวัน ลูกจ้างธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลางทั่วประเทศ หรือแม้แต่เจ้าของธุรกิจเองก็แทบจะพยุงธุรกิจเอาไว้ไม่ไหว รวมไปถึงธุรกิจชั้นนำระดับประเทศทั้งหลาย ที่มีมาตรการลดผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง เนื่องจากไม่สามารถทำธุรกิจได้เหมือนปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือนลงบางส่วน ชะลอการจ่ายเงินเดือนในช่วงวิกฤติ หรือในธุรกิจที่กระทบอย่างหนักอาจรุนแรงถึงขั้นเลิกจ้าง ทำให้มีแรงงานจำนวนไม่น้อยตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว
หลายธุรกิจยืนยันจ่ายเงินเดือนเหมือนช่วงปกติ
สึนามิทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือเป็นการเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจทั้งระบบ และส่งผลกระทบแบบถ้วนหน้า ต้ังแต่ SME รายเล็กรายน้อย ไปจนถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ ที่แม้แต่ธุรกิจระดับสายการบินแห่งชาติอย่าง การบินไทย ถึงกับต้องออกประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะพบเห็นกันได้บ่อยนัก
ส่วนธุรกิจที่ยังไม่หยุดก็ต่างประคับประคองสถานการณ์เต็มที่ เพราะต้องเผชิญทั้งความไม่เชื่อมั่นที่กระทบกำลังซื้อทำให้คนพยายามใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ผลกระทบจาก Social Distancing ทำให้หลายบริษัทมีนโยบาย Work Form Home และผู้คนหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ต่างๆ ที่ต้องพบเจอผู้คนจำนวนมาก นำมาซึ่งการชะลอและหยุดชะงักในบางธุรกิจ จนหลายธุรกิจต้องมีมาตรการลดการจ่ายผลตอบแทนต่างๆ ออกมาเพื่อทำให้ธุรกิจยังคงสามารถไปต่อได้
แต่ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ ก็ยังมีหลายธุรกิจที่ยืนยันว่าจะยังคงจ่ายเงินพนักงานตามปกติ แม้ว่าอาจจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็ตาม เช่น กลุ่มใบหยก ที่แม้จะไม่สามารถเปิดธุรกิจได้ตามปกติ แต่ก็ยืนยันจ่ายเงินเดือนพนักงานตามปกติ แต่ขอความร่วมมือพนักงานทุกคนให้งดการเดินทางกลับต่างจังหวัด เพราะถือว่าเป็นการเข้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามจะให้พ้นสภาพพนักงานทันที โดย คุณบุ๊ง-สะธี ทายาทกลุ่มใบหยกออกมาโพสต์ข้อความสนับสนุนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมระบุว่า ช่วยชาติได้แค่ไหนก็จะช่วย และยืนยันว่าบริษัทไม่เคยปลดคนออกไม่ว่าจะเจอสถานการณ์เช่นใด
เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ปกติจะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่เมื่อมีการประกาศ Curfew ก็พร้อมจะให้บริการตามเวลาที่ภาครัฐกำหนด แต่ยืนยันว่าพนักงานทั้งหมดจากสาขากว่า 12,000 แห่ง ทั่วประเทศจะยังได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกับในสถานการณ์ปกติ
ในกลุ่มวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน HomePro โดย บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ยืนยันว่ายังคงจ่ายเงินพนักงานทุกคนทั้งในโฮมโปร เมกาโฮม และมาร์เก็ตวิลเลจ ที่มีอยู่กว่า 10,000 คน ตามปกติ แม้ว่าอาจจะมีการปิดให้บริการในบางสาขา แต่พนักงานทุกคนยังคงปฏิบัติงานหลังบ้านกันอยู่ โดยเฉพาะทีม Home Service ที่ทางโฮมโปรเตรียมพร้อมช่างกว่า 1,000 ทีม เพื่อรองรับบริการหลังการขาย Clean Solution ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน ในช่วงที่มีการ Work From Home กันเพิ่มมากขึ้น
ด้าน เทสโก้ โลตัส ก็ยืนยันชัดเจนว่าพนักงานกว่า 50,000 คน ทั้งที่ปฏิบัติงานในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ศูนย์กระจายสินค้า สำนักงานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือชั่วคราวจะยังได้รับค่าจ้างตามปกติ รวมทั้งมีมาตราการเพื่อช่วยเหลือพนักงานในช่วงนี้ อาทิ การทำประกันสุขภาพ COVID-19 เพิ่มเติมให้กับพนักงานในสาขาทั่วประเทศที่ทำหน้าที่ให้บริการลูกค้าด้วย
ที่สำคัญ เทสโก้ โลตัส ยังมีนโยบายในการสร้างรายได้ทดแทน และลดการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง ทั้งพนักงานของร้านค้าภายในศูนย์ต่างๆ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบทั่วไป ด้วยการเปิดรับพนักงานชั่วคราวแบบรายวัน เพื่อมาทำงานในสาขาใหญ่ และโลตัส เอ็กซ์เพรสทั่วประเทศ ที่มีกว่า 2,000 แห่ง โดยสามารถสมัครที่ร้านเทสโก้ โลตัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ https://recruitmentretail.tescolotus.com/
ถึงจะเสียรายได้ แต่ต้องรักษาใจพนักงาน
ในยามเผชิญวิกฤติเช่นนี้ แม้การรักษาธุรกิจให้อยู่รอดเป็นเรื่องสำคัญ แต่การดูแลพนักงานในองค์กรให้อยู่ดีมีสุขและรอดไปด้วยกัน ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดย รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Employee Engagement ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่ทุกธุรกิจต้องทำในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤติต่างๆ และยังเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจได้ด้วย
เนื่องจาก การบริหารขวัญและกำลังใจของพนักงาน เป็นหัวใจสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ การพิชิตใจพนักงานได้ในช่วงเวลานี้ จะทำให้เกิด Deep Engagement หรือการกระชับความผูกพันระหว่างพนักงานและองค์กรแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อพนักงานมั่นใจว่า แม้ในสถานการณ์ย่ำแย่เพียงใด องค์กรยังพร้อมให้การดูแลพนักงานอย่างถึงที่สุด ก็จะมีทั้งความเชื่อมั่นและความพึงพอใจ จนเกิดความรู้สึก Unite และ Spiritual หรือความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับองค์กร พร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ว่าในอนาคตจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ใดก็ตาม
“เมื่อพนักงานรู้สึกมีความเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร แม้ว่าในอนาคตสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น มาตรการต่างๆ อาจจะขยับเข้มข้นขึ้น แต่พนักงานก็จะมีความเข้าใจสิ่งที่องค์กรทำและอาจจะกลายมาเป็นผู้ปกป้องหรือคอยปลอบใจองค์กรเอง อาจจะกลายเป็นผู้เสนอตัวให้หักเงินเดือนตัวเองด้วยความยินดีก่อนที่องค์กรจะมีมาตรการออกกมาก็ได้ หรือหากจำเป็นต้องลดหรือตัดเงินเดือนพนักงานลงบางส่วน ก็จะไม่เป็นการไปตัดใจหรือไม่บั่นทอนความรู้สึกพนักงานที่มีต่อองค์กรลงไป”
เห็นได้ว่า การดูแลทุกข์สุขของพนักงานจะเป็นอีกหนึ่งเกราะป้องกันธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะเมื่อพนักงานอยู่ในองค์กรอย่างมีความสุข ก็พร้อมให้ความร่วมแรงร่วมใจที่จะเป็นกำลังสำคัญในการนำพาให้ธุรกิจสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาได้ ดังน้ัน ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลด้าน Crisis Management จึงไม่สามารถละเลยที่จะเรียนรู้กลยุทธ์ด้าน Employee Engagement เพื่อให้สามารถได้ใจพนักงานได้อย่างแท้จริง
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand