HomeCOVID-194 ทักษะที่นักการตลาดต้องมี เพื่อรับมือ New Normal ของโลกการตลาดยุคหลัง Covid-19

4 ทักษะที่นักการตลาดต้องมี เพื่อรับมือ New Normal ของโลกการตลาดยุคหลัง Covid-19

แชร์ :

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 (โควิด 19) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คน จนลดการเดินทางออกจากบ้าน พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสั่งสินค้าและอาหารที่ตัวเองต้องการผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น จากเดิมที่นิยมไปเลือกซื้อด้วยตนเองตามห้างสรรพสินค้า หรือนั่งรับประทานอาหารตามร้านอาหารต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้กำลังกลายเป็น New Normal หรือ สิ่งปกติที่สร้างอิทธิพลต่อการทำตลาดและการขายยุคใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ที่แบรนด์และธุรกิจต้องปรับตัวรับมือให้เท่าทัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียในไทย ได้สร้างพฤติกรรมใหม่ๆ มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหนึ่งในนั้นคือ การจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเติบโตต่อเนื่อง จึงทำให้หลายคนอาจมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในมุมมองของ คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ South East Asia Center (SEAC) มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังลุกลามไม่หยุด ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ Disruption ที่ธุรกิจต้องเผชิญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เป็นการ Disruption วิถีชีวิต ของผู้คนจากเดิมสู่การใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ

คุณอริญญา บอกว่า การกำเนิดของ New Normal ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการอยู่บ้านยาวนานขึ้น การมองหารูปแบบการรับประทานอาหารใหม่ๆ จากเดิมที่ต้องเดินทางไปนั่งรับประทานที่ร้านมาเป็นการสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่ และการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม และทำให้ธุรกิจไม่สามารถใช้ “ทักษะ” และ “วิธีการขาย” ในแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป

ในเมื่อทักษะเดิมที่มีอยู่ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่กำลังจะเปลี่ยนไปได้ คำถามที่ตามมาคือ ในยามวิกฤตแบบนี้ ธุรกิจจะพัฒนาตัวเองให้รับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร และจะมีทักษะอะไรบ้างที่ธุรกิจต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อนำพาองค์กรรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ และพร้อมวิ่งต่อหลังวิกฤต COVID-19 โดย SEAC ได้ฉายภาพ 4 ทักษะที่ต้องมีในยุค New Normal ประกอบด้วย

1.Advance Digital Marketing

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจากโลกออฟไลน์มาอยู่บนออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น หากเราต้องการทำงานได้ต่อไป ขณะที่ธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ หากจะอยู่รอดได้ การทำตลาดออนไลน์ หรือ Digital Marketing เป็นทักษะที่มีความสำคัญมากที่ทุกคนและทุกองค์กรต้องมี และไม่ใช่แค่ทักษะ Digital Marketing ในแบบเดิมๆ ที่เรารู้จัก แต่ต้องเป็น Advance Digital Marketing โดยต้องรู้จักวิธีทำการตลาดออนไลน์ให้แตกต่างและเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

2.Data Analytic

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถนำประสบการณ์เดิมๆ มาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้อีก การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytic จึงเป็นอีกทักษะสำคัญสำหรับคนทำธุรกิจในตอนนี้ เพราะจะช่วยให้เข้าใจลูกค้าและสามารถวางจุดยืนองค์กร พร้อมกับทำการตลาดได้อย่างชัดเจนและเข้าถึงลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น

3.Creative

การจะทำธุรกิจในยุค New Normal ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ต้องมี Creative อย่างมาก เพราะเราไม่สามารถนำวิธีคิดแบบเดิมๆ มาใช้ได้ โดยคำว่า Creative ในที่นี้ ไม่ได้หมายความแค่ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่ยังหมายรวมถึง วิธีคิด กระบวนการทำงาน รวมถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และต้องคิดนอกกรอบอย่างรวดเร็วให้สอดรับกับความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

4.ทักษะการขายแบบใหม่

เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ทุกธุรกิจจะเร่งทำตลาดเพื่อปั้มยอดขายให้สูญหายไปกลับมา แต่ด้วยวิถีชีวิตผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เราไม่สามารถใช้กระบวนการขายตามหน้าร้านหรือร้านค้ารีเทลเหมือนที่ผ่านมาได้อีก สิ่งสำคัญที่ธุรกิจควรทำในช่วงเวลานี้ คือ การพัฒนาทักษะการขายให้กับพนักงานให้มีความสามารถในการขายเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง การใช้บทสนทนาหรือแนะนำสินค้าน้อยลง เป็นต้น

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งสร้างผลกระทบมากมายให้กับธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน อาจจะเป็นโอกาสให้หลายองค์กรกลับมาตั้งหลักและพัฒนาทักษะพนักงานเพื่อนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตหลังวิกฤตครั้งนี้ได้เช่นกัน

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like