HomeFinancialสองผู้นำหญิงแกร่งเคแบงก์ เคลื่อนทัพฝ่าวิกฤติโควิด-19 ยันไม่ปลดคน หายไข้เมื่อไหร่พร้อมออกวิ่งทันที

สองผู้นำหญิงแกร่งเคแบงก์ เคลื่อนทัพฝ่าวิกฤติโควิด-19 ยันไม่ปลดคน หายไข้เมื่อไหร่พร้อมออกวิ่งทันที

แชร์ :

หลังได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (เคแบงก์) ให้ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการ (อิสระ) ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ รวมทั้ง คุขัตติยา อินทรวิชัย ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ภายหลัง​ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย  ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นมา  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยล่าสุด สองผู้นำหญิงแกร่งแห่งเคแบงก์ คุณกอบกาญจน์ และ คุณขัตติยา ออกมาแนะนำตัวอย่างเป็นทางการพร้อมประกาศวิสัยทัศน์​ในการ​ก้าวเข้ามาคุมบังเหียนและนำทัพเคแบงก์ เพื่อสู้ศึกการแข่งขันและวิกฤติโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นความท้าทายของทั้ง 2 ผู้นำหญิง​ เพราะมาในภาวะที่เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่เพียงกระทบแค่ในธุรกิจธนาคาร แต่ยังเข้ามาฉุดภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกอีกด้วย

ตั้งรับภาวะเศรษฐกิจไทยอ่อนแรง 

คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย อ่อนแอลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ –5.0ภายใต้การประเมินว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะจบลงภายในไตรมาส 2 หรือในเดือนมิถุนายนนี้ ​ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังที่ทยอยออกมาแล้วและที่กำลังจะตามมา จะช่วยประคองกลไกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินให้สามารถดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ต้องเร่งโปรเจ็กต์การลงทุนต่างๆ ให้เริ่มดำเนินการภายในปีนี้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ

คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย

“ปัญหาคุณภาพสินเชื่อยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจธนาคาร ​อาจต้องติดตามสถานการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่พึ่งพิงตลาดในประเทศและส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยธนาคาร​จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในหลายๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ​เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า”  

ส่วนบทบาทและหน้าที่ของประธานกรรมการ ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ได้ประเมินฝ่ายบริหารและศักยภาพพื้นฐานของธนาคารแล้ว​มั่นใจว่า ยังดำรงความแข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อมั่นว่าฝ่ายจัดการจะสามารถบริหารธนาคารให้ก้าวผ่านโจทย์ธุรกิจในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อรับมือดิสรัปชั่นและความท้าทายใหม่ๆ ในฐานะตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมรับกับความท้าทายรูปแบบใหม่อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

วิกฤติ แต่ไม่หนักเท่าต้มยำกุ้ง 

​​​ด้าน คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราอยู่ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง การถูกดิสรัปชั่น ​รวมทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ​ซึ่งเป็นความท้าทายที่กระทบไปทั่วทั้งโลกและในทุกอุตสาหกรรม แต่เคแบงก์เชื่อมั่นว่าจะสามารถฝ่าฟันไปได้อย่างแน่นอน เนื่องจาก​ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์และทิศทางธุรกิจที่สอดคล้องกันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยวางแนวทางธุรกิจของเคแบงก์ที่จะเร่งทำให้มากขึ้นต่อจากนี้​ ได้แก่

  • การส่งมอบบริการทางการเงินไปถึงลูกค้ารายรายเล็กให้ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักระมัดระวังและการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ควรเร่งทำเป็นอันดับต้นเพราะจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโจทย์ของธนาคารทั้งในฐานะคนทำธุรกิจและพลเมืองของประเทศ
  • การจัดการด้านต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity management) ให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการถึงลูกค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่แค่การทำตามระเบียบของทางการ ซึ่งหากมองในระดับประเทศแล้วต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยของต้นทุนในระบบประเทศ ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อีกมาก เพื่อให้แรงงานการผลิตมีค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจนี้
  • การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องมีการยกระดับทักษะความสามารถพนักงาน ให้พร้อมรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
    • คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

“ต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้หนักมาก แต่เมื่อเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่เคยผ่านมา ครั้งนี้ถือว่าดีกว่า เพราะเมื่อเทียบกัน ครั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนของเราลอยตัวแล้ว ภาระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ก็ไม่สูงมาก ไม่มีการเก็งกำไรในหุ้นหรือภาคอสังหาริมทรัพย์มากเหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐยังมีขึ้นอย่างรวดเร็ว​ ในส่วนของเคแบงก์เองจะเข้าไปดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นการให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึงให้มากที่สุด”  

ที่สำคัญ แม้จะเผชิญวิกฤติอย่างไร แต่เคแบงก์ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายในการปลดพนักงานออกอย่างแน่นอน เพราะทรัพยากรคนเป็นสิ่งมีค่าสูงสุดในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปข้างหน้า รวมทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานและมีมาตรการที่ออกมาดูแลทั้งพนักงานและลูกค้าทุกคนให้ปลอดภัย โดยโจทย์เร่งด่วนสำคัญของเคแบงก์ในวันนี้  นอกเหนือจากแค่การนำพาธุรกิจให้รอดพ้น ยังต้องขับเคลื่อนประเทศไทย ประชาชน ลูกค้า รวมทั้งระบบการเงินการธนาคารของทั้งประเทศให้รอดพ้นผ่านไปด้วยกัน ในฐานะธนาคารหลักของทั้งประเทศไทยและในภูมิภาคด้วย

“สำหรับการขับเคลื่อนเคแบงก์​ยังคงมองไปที่เป้าหมาย Empowering Every Customer’s Life and Business เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนความสำเร็จให้ลูกค้าทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ เพื่อสามารถเข้าใจลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการทั้งโจทย์ที่อยู่ในปัจจุบัน และการประเมินถึงสิ่งที่จะกลายเป็นโจทย์ในอนาคต เพื่อให้สามารถดักทางความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ทำให้เมื่อวิกฤติการณ์ทั้งหลายผ่านพ้นไปแล้วเราจะกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแรง หรือเมื่อหายไข้แล้วก็พร้อมที่จะกลับไปวิ่งได้ทันที“​ 

เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เคแบงก์มองว่า โจทย์ที่ทางเคแบงก์กำลังเผชิญ เป็นสิ่งที่ทั้งโลกและทุกบริษัทต้องเจอ ​แต่ด้วยความแข็งแรงของกองทุนที่ธนาคารมีกลุ่ม Tier1 สูงถึง 16% รวมทั้งยังมีการติดตามภาระด้านสินเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม NPL ที่เชื่อว่าอาจจะมีจำนวนเพิ่มสูงมากขึ้น แต่ยังอยู่ในจุดที่สามารถบริหารจัดการได้ ทำให้ฐานะของธนาคารยังคงแข็งแกร่งประกอบกับศักยภาพและความสามารถของพนักงานและทีมบริหารระดับสูงทุกคนที่คอยให้คำแนะนำและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ​

ส่วนแผนการลงทุนต่างๆ ของเคแบงก์จากนี้ ยังให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ในการก้าวไปสู่การเป็นธนาคารภูมิภาค จากปัจจุบันที่สัดส่วนในต่างประเทศยังมีสัดส่วนไม่มากอยู่ที่เพียง 1 หลัก ซึ่ง 80% อยู่ในจีน แต่การขยายธุรกิจในภูมิภาคทั้งในอินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ธนาคารจะเดินหน้าต่อ

ส่วนการลงทุนอื่นๆ ยังมีการลงทุนผ่าน Venture Capital เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ ทั้งธุรกิจของคนไทย และในระดับโกลบอลหรือภูมิภาค​โดยเฉพาะในกลุ่มที่สามารถเข้ามาเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจให้กับลูกค้าได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น​

นอกจากนี้ เคแบงก์จะรักษาความเป็นผู้นำในดิจิทัลแบงกิ้ง ที่ไม่ใช่การโฟกัสอยู่แค่ในกลุ่ม Mobile Banking แต่จะพัฒนาศักยภาพในการให้บริการจากหลากหลายช่องทางที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น K PLUS บริการเอเยนต์แบ้งกิ้ง หรือบริการผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยมี K PLUS เป็นศูนย์กลางที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถเข้าใจความต้องการต่างๆ ของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มจำนวนฐานผู้ใช้งานในปีนี้ให้เติบโตได้ 24% จาก 12 ล้านบัญชี เป็น 15 ล้านบัญชี รวมทั้งการเติบโตของการทำธุรกรรมต่าง ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 37% โดยมีจำนวนรายการธุรกรรมทั้งสิ้นที่กว่า 11,600 Transaction รวมทั้งการพัฒนาด้าน Machine Learning รวมทั้งการนำ AI มาใช้ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง เป็นโจทย์สำคัญอันดับแรกในขณะนี้ ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารกสิกรไทยได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยได้จับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป้าหมายสำคัญในการฝ่าวิกฤตินี้ คือ พนักงานปลอดภัย สามารถส่งมอบบริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศต่อไป
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ธนาคารอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่าง ๆ โดยจะมีการทบทวนแผนธุรกิจและเป้าหมายปี 2563 อย่างชัดเจน หลังจากเห็นผลประกอบการของไตรมาสแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับถัดไป

แชร์ :

You may also like