แม้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 อาจจะยังไม่จบลงในขณะนี้หรือในเร็วๆ นี้ แต่ เริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในยุค Post COVID-19 กันมากขึ้น ความสงสัยต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต พฤติกรรมผู้บริโภค หรือภูมิทัศน์ทางธุรกิจ รวมไปถึง New Normal ในมิติต่างๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป
มุมมองของ รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกวิกฤติที่เคยพบมา และเกิดเอฟเฟ็กต์ไปทั่วทั้งโลก ไม่ต่างกับการเผชิญอยู่ในภาวะสงคราม ที่แม้ว่าจะเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์มาได้ แต่ก็อาจจะสะบักสะบอม และทุกคนจะจดจำประสบการณ์ที่เจ็บปวด หรือบาดแผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันเลวร้ายที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
“มีคำกล่าวว่า There is light at the end of the tunnel หรือจะมีแสงสว่างรออยู่ที่ปลายอุโมงค์เสมอ ถ้าเราสามารถยืนหยัดไปจนถึงปลายทางได้ ก็จะได้พบแสงสว่าง และจะเป็นผู้รอด แต่วิกฤติครั้งนี้ ไม่ต่างกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพียงแต่เราไม่ได้สู้รบกันเอง เรากำลังต่อสู้กับไวรัส กับสิ่งที่มองไม่เห็น แม้ไม่ใช่ทุกคนที่ติดโรค แต่ทุกคนได้รับผลกระทบจากสิ่งเกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายแม้จะรอดพ้นเหตุการณ์มาได้ แต่ประสบการณ์ขณะที่เราอยู่ในอุโมงค์ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงตามเราออกมาด้วยเช่นกัน”
ดังนั้น ผู้ที่เหลือรอดในยุค Post COVID-19 จะไม่มีใครเป็นคนเดิม มุมมอง ทัศนคติ รูปแบบในการใช้ชีวิตทั้งของผู้คน รวมทั้งธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเกิด New Normal ในยุคที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านพ้นไป สิ่งที่เคยเป็นเรื่องแปลก หรือไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปของโลกใบใหม่ โดยคาดว่า New Normal ที่จะเกิดขึ้นในยุค Post COVID-19 คือ 4D 1H ซึ่งประกอบด้วย
Digital : ดิจิทัลจะไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งในชีวิต แต่จากนี้ไป Digital is a life ดิจิทัลจะกลายเป็นความสำคัญหลักในการดำรงชีวิต ไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและดิจิทัล แต่เป็นทุกคนในอนาคตจะสามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างคุ้นเคย
รวมทั้งจะเห็นนวัตกรรม สินค้าและบริการในกลุ่มนี้ออกมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพียงบริษัทขนาดใหญ่ แม้แต่บริษัทขนาดเล็กก็จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจเองก็จำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะการขับเคลื่อนไปสู่ Digital Transformation ของภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น
Distant : การรักษาระยะห่างของผู้คนจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในมิติของ Physical เท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของจิตใจด้วย ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ที่เคยแสดงออกมาผ่าน Human Touch จะน้อยลง คนเลือกที่จะไม่สัมผัสกันโดยไม่จำเป็น เพราะติดพฤติกรรม Keep Distant ในช่วงการเฝ้าระวัง COVID-19 วัฒนธรรมในการทักทายของผู้คน โดยเฉพาะหลายๆ ชาติในตะวันตกที่เคยจับมือ สัมผัสตัวกัน จะเปลี่ยนแปลงไป
Discrimination : การแบ่งฝักฝ่าย เลือกปฎิบัติ อาจจะไม่ใช่เรื่องผิด ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย หรือการคำนึงถึงสุขอนามัยของผู้คน ทำให้การเลือกพรรค เลือกพวก กลายเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้โดยไม่รู้สึกผิด เพราะโลกยังมีร่องรอยของความหวาดระแวง ความหวาดกลัว หลงเหลืออยู่
ส่งผลให้กฏเกณฑ์ในการข้ามเขต ข้ามแดน ทั้งสินค้าหรือผู้คนยากลำบากขึ้นกว่าเดิม ไม่ต่างกับหลังเหตุการณ์ 911 ที่การรักษาความปลอดภัยทางการบินถูกยกระดับให้เข้มข้นขึ้น แต่ครั้งนี้อาจจะส่งผลมาถึงเรื่องของสินค้า ที่อาจจะต้องดูไปถึง Country of Origin บางประเทศอาจเลือกไม่รับสินค้าจากบางแห่งโดยไม่ถูกโจมตีว่ากีดกันทางการค้า หรือการเลือกปฏิเสธคนบางากลุ่ม บางเชื้อชาติ โดยไม่ถูกข้อครหาว่าเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเคยเป็นประเด็นสำคัญในช่วงก่อนการระบาดของโควิด -19
Domestic : การหันมาพึ่งพากันเองภายในประเทศมากขึ้น ทั้งในแง่ของการกระตุ้น Domestic Consumption ด้วยการกระตุ้นการบริโภคจากคนใประเทศ หรือแม้แต่ Mindset บางอย่างที่อาจจะเปลี่ยนไป คนที่เคยส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ อาจจะมองทางเลือกในประเทศมากขึ้น ธุรกิจก็พยายามสร้างรายได้จากตลาดในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมาตรการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่อาจมีการยกระดับความเข้มข้น จากมมาตรฐานเพื่อใช้ระมัดระวังความปลอดภัยต่างๆ
Health Conscious : ความตระหนักและใส่ใจในเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยของผู้คน ที่มากกว่าแค่เรื่องของตัวเอง หรืออาหารการกิน แต่ยังมองไปจนถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น คนเริ่มมี Awareness ต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกเพราะสุดท้ายจะกระทบมาถึงสุขภาพของตัวเอง
ซึ่งประเด็นนี้ อาจจะส่งผลให้นโยบายการผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อต่างๆ การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน หรือการพัฒนาในบางมิติเป็นไปได้ยากมากขึ้น เพราะคนจะเริ่มมองผลกระทบต่อสุขภาพ สุขอนามัยของผู้คนเป็นประเด็นสำคัญ เช่น การเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่แม้ในแง่เศรษฐกิจอาจจำเป็นต้องทำ เพื่อขับเคลื่อนให้มีรายได้เข้าประเทศ ซึ่งหากเป็นยุคก่อนหน้าทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วยไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในยุคหลังโควิด-19 จะมีแรงต่อต้านจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังคงหวาดระแวงต่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องสุขภาพอนามัยของผู้คนจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็น Tragic Phenomenon เป็นปรากฏการณ์อันน่าสลดใจ ที่จะฝังใจและลืมได้ยาก แม้จะผ่านพ้นมาได้แล้ว แต่ความเจ็บปวดที่มีต่อประสบการณ์แย่ๆ ยังคงติดตามออกมาด้วยเช่นกัน ทำให้ Insight และ Mindset ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งการฟื้นฟูต่างๆ อาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น แม้จะเป็นผู้รอด แต่ก็ถือว่ารอดมาแบบสะบักสะบอม ไม่มีใครเป็นคนเดิม ไม่มีธุรกิจใดที่ยังเป็นแบบเดิม รวมทั้งมุมมองที่เคยมีต่อโลกใบนี้ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน”
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand