ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ กับปรากฏการณ์ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในสหรัฐอเมริกา “ติดลบ” เป็นครั้งแรก โดยที่มาของเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น มาจากการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากพิษไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง “สหรัฐอเมริกา”
โดยสำนักข่าว BBC เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ต่างจากการที่ผู้ซื้อได้น้ำมันออกมาฟรี ๆ แต่ทางผู้ผลิตยังแถมเงินให้กับผู้ที่มาซื้อด้วย ประหนึ่งขอบคุณที่มาช่วยเอาน้ำมันออกไปจากคลังดีกว่าจะปล่อยให้คลังน้ำมันเต็มจนเกิดวิกฤติที่หนักกว่านี้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในสหรัฐอเมริกาดิ่งลงอย่างหนักนั้น หลัก ๆ คือการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนธุรกิจต่าง ๆ ต้องระงับกิจกรรมไปจนหมด ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อไม่มีการนำน้ำมันออกมาใช้ แต่กำลังการผลิตยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จะมีผลทำให้คลังน้ำมันในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มว่าจะเต็มได้ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ส่วนการซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในเดือนมิถุนายนนั้น พบว่าราคาลดลงเช่นกัน โดยการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่ง Stewart Glickman นักวิเคราะห์จาก CFRA Research ชี้ว่า ราคาน้ำมันในเดือนมิถุนายนอาจได้รับผลกระทบมากกว่านี้ หากการล็อกดาวน์ยังคงเกิดขึ้นต่อไป
ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันเสี่ยงล้มละลายนับพันแห่ง
นอกจากนั้น ข้อมูลจาก Rystad Energy ยังชี้ว่า ถ้าหากการซื้อขายน้ำมันยังอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อไปนั้น บริษัทผู้ผลิตและขุดเจาะน้ำมันราว 533 แห่งในสหรัฐอเมริกาจะ “ล้มละลาย” ภายในปี 2021 แต่ถ้าราคาซื้อขายน้ำมันลดลงไปอยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 แห่งเลยทีเดียว
“ราคาที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลถือว่าแย่มากแล้ว แต่ถ้าลดลงมาจนเหลือ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นั่นคือฝันร้ายของจริง” Artem Abramov หัวหน้าฝ่ายวิจัยจาก Rystad Energy กล่าว
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้อาจไม่เกิดผลกระทบที่เป็นรูปธรรมนักสำหรับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากคลังน้ำมันในภูมิภาคอื่น ๆ ยังมีพื้นที่สำรองมากพอที่จะรองรับกำลังการผลิตได้อยู่ ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่คลังน้ำมันสำรองใกล้จะเต็มเต็มทีแล้ว และเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางโอเปคได้ออกมาประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกลง 10% และถือเป็นครั้งแรกที่มีการลดกำลังการผลิตในระดับนี้ด้วยเช่นกัน