สายการบินแอร์เอเชีย เพิ่งเผยโฉมยูนิฟอร์มใหม่ของลูกเเรือ ที่ดูไปคล้ายชุด PPE( personal protective equipment) ของบุคลากรทางการแพทย์ซะมากกว่า โดยชุดดังกล่าวออกแบบโดยดีไซเนอร์ Puey Quiñones ดึงเอาเอกลักษณ์สีแดง-ขาว ของแบรนด์ Air Asia มาใช้ได้อย่างลงตัว แถมยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานของสายการบินได้เป็นสองเท่า ชุดดังกล่าวถูกใช้เป็นครั้งแรกในเที่ยวบิน กรุงเทพ-มะนิลา
Sheila Romero รองประธานของ แอร์เอเชีย ฟิลลิปปินส์ อธิบายถึงแนวคิดการออกแบบด้วยคำว่า “Chic and Sporty” คล้ายกับชุดนักแข่ง F1 ที่สำคัญก็คือหน่วยงานด้านสาธารณสุข (The Department of Health) ของฟิลิปปินส์ให้การรับรองชุดดังกล่าว ซี่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกเรือ และยังมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
นอกเหนือจากเรื่องไอเดียการออกแบบชุดที่เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกเรือทั้งความปลอดภัยและภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายการบินต้นทุนต่ำ ที่เรียกกันติดปากว่า Low-Cost Airlines ซึ่งจะพลิกโฉมไปอาจจะตลอดกาล หรืออย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้
ใกล้แค่ไหนคือไกล?
สายการบินในสหรัฐอเมริกา เช่น United, Delta, EasyJet ประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่า จะยกเลิก “ที่นั่งตรงกลาง” คงเหลือแต่ตั๋วสำหรับที่นั่งติดริมทางเดิน และที่นั่งริมหน้าต่างเท่านั้น เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้โดยสาร สำหรับลูกค้าอย่างเราๆ ก็คงชอบที่มีพื้นที่ให้เหยียดขาเพิ่มขึ้นไม่อึดอัดเหมือนเคย
แต่เดี๋ยวก่อน!!! ที่นั่งที่ถูกเว้นว่างไว้ นั่นกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ขายได้น้อยลงของสายการบิน คาดการณ์ว่าจำนวนที่นั่งของสายการบินต่างๆ จะหายไปราว 30% เพราะนอกจากที่นั่งตรงกลางแล้ว ที่นั่งส่วนท้ายเครื่องจะต้องถูกเว้นว่างเอาไว้ ในเส้นทางการบินระยะใกล้ๆ สายการบินอาจให้บริการโดยงดเสิร์ฟน้ำและอาหาร เพื่อให้ผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ที่นั่งในส่วนท้ายจึงสงวนเอาไว้ เพื่อสร้างระยะห่างให้กับผู้โดยสารบางคนที่จำเป็นต้องดื่มน้ำ เช่น นักเดินทางที่ต้องทานยา รวมทั้งผู้โดยสารที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยจำนวนที่นั่งที่หายไปขนาดนี้ จึงเป็นไปได้ยากที่โลว์คอสต์แอร์ไลน์จะขายตั๋วในราคาถูกเหมือนเคย เมื่อจุดเด่นไม่จูงใจเช่นเดิม โจทย์ใหญ่ของสายการบินเซกเมนต์นี้จึงยากอย่างยิ่ง
Ed Bastian ซีอีโอของสายการบิน Delta ระบุใน memo ที่เขากล่าวกับพนักงานเป็นการภายในว่า “เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การฟื้นฟูจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า ผมคาดว่าอาจจะใช้เวลา 2-3 ปี เลยทีเดียว”
เมื่อไหร่หนอ ที่เธอจะกลับมา
นอกเหนือจากเรื่องจำนวนที่นั่งแล้ว จำนวนผู้โดยสารก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่มีเรื่องไวรัส Corona บริษัทวิเคราะห์ Cirium ประเมินว่าสายการบินในสหรัฐอเมริกามีที่นั่งว่างถึง 70% และ International Air Transport Association ก็สำรวจพบว่า นักเดินทาง 40% บอกว่า จะเลื่อนการเดินทางออกไปอีก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย
ถึงแม้ว่าสายการบินในสหรัฐอเมริกายังไม่เริ่มต้นใช้ชุดเท่ๆ อย่างที่แอร์เอเชียใช้ แต่ก็ต้องเพิ่มแว่นตา หน้ากากอนามัย ถุงมือให้พนักงาน รวมทั้งตรวจสุขภาพของพนักงานถี่ขึ้น นับว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกลับมีพื้นที่สร้างรายได้ลดลง แถมลูกค้าที่ไม่มีเหตุจำเป็นก็ชะลอการเดินทาง
สายการบินต้นทุนต่ำ มักจะชาร์จค่าบริการส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าโหลดกระเป๋า ค่าอาหารบนเครื่อง ที่นั่งพิเศษ เพื่อเพิ่มรายได้หรือทำกำไร แต่กฎเกฎฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาในโลกยุคหลังโควิด-19 ไม่เอื้อกับสายการบินโลว์คอสต์ ทำให้รายได้เพิ่มเติมในส่วนนี้หายด้วย
ทั้งหมดนี้บีบให้ Low Cost Airlines ไม่สามารถทำราคาให้ต่ำเหมือนเช่นเคย จากเดิมที่อาศัย “ปริมาณ” ผู้โดยสาร แล้วบีบต้นทุนค่าดำเนินการให้ต่ำลง เช่น สายการบินต้นทุนต่ำมักใช้รันเวย์ที่ไกลจากตัวอาคารผู้โดยสาร แล้วนั่งรถเวียนไปอีกต่อหนึ่ง อีกทั้งยังต้องเร่งออกบิน เพื่อให้ประหยัดค่าจอดบนรันเวย์ แต่นับจากนี้ Capacity และ Utility ของอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกบังคับให้ใช้ได้จำนวนต่ำลง แม้แต่บนรถเวียนไปส่งที่ตัวเครื่องสนามบิน ก็ต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสาร มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เครื่องบินต้องจอดทำความสะอาดนานขึ้น
นี่คือ New Normal ที่ท้าทายธุรกิจสายการบินอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “สายการบินต้นทุนต่ำ” ที่ตอนนี้ต้นทุนไม่ต่ำอย่างที่เคยซะแล้ว…