การมาของโควิด-19 ไม่ได้แค่คร่าชีวิตและสุขภาพของผู้คนอย่างมาก แต่ยังทิ้งบทเรียนสำคัญให้ทุกคนได้คิดในยามต้องเผชิญกับวิกฤติโดยเฉพาะคนทำธุรกิจ ทั้งในเรื่อง “ความไม่แน่นอน” และ “การปรับตัว” เพราะถึงแม้หลายธุรกิจจะมีการวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น บางครั้งแผนสำรองที่วางไว้อาจต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นเช่นกัน ดังนั้น ในยามวิกฤติ ผู้ที่อยู่รอดจึงอาจไม่จำเป็นต้องเก่งเสมอไป แต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วต่างหาก
เช่นเดียวกับธุรกิจสถานบันเทิง (ผับบาร์หรือร้านอาหารกึ่งผับ) ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนค่อนข้างมากหากเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นๆ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น สถานบันเทิงผับบาร์มักเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆ เสมอ แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าธุรกิจต้องหยุดกิจการชั่วคราวจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ร้าน นักดนตรีและพนักงานขาดรายได้ จนต้องหาวิธีพยุงกิจการให้อยู่รอดต่อไป และวิธีการหนึ่งที่ร้านอาหารกึ่งผับนิยมใช้กันอย่างมาก คือ การไลฟ์ดนตรีสดผ่านเฟซบุ๊ก เพราะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแฟนเพลงในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านให้ได้คลายเหงา ทั้งยังช่วยขยายฐานลูกค้าและต่อลมหายใจให้กับนักดนตรีในยามวิกฤตินี้อีกด้วย
จากการหารายได้ให้นักดนตรี สู่ไลฟ์ดนตรีผ่านเฟซบุ๊ก
The Cassette Music Bar ร้านอาหารกึ่งบาร์ที่เปิดเพลงยุคเทปคาสเซ็ตต์ในย่านเอกมัย เป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่ปรับตัวมาทำไลฟ์แสดงดนตรีสดให้แฟนเพลงได้ดูผ่านเฟซบุ๊ก โดย คุณภา-พิณภัสร์ สิริอัครเศรษฐ ผู้ก่อตั้งร้าน The Cassette Music Bar บอกว่า หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ปี ธุรกิจเติบโตขึ้นตลอด ถึงแม้สถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารกึ่งผับจะเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา จากสภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว แต่ร้านยังคงมีกลุ่มลูกค้าเหนียวแน่น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่ชื่นชอบการฟังเพลงยุคเทปคาสเซ็ตต์
แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดรุนแรงในปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงเริ่มกังวล เพราะพฤติกรรมลูกค้าเริ่มเปลี่ยน มีความกังวลกับการมานั่งฟังเพลง ทำให้จำนวนลูกค้าเริ่มน้อยลง จึงตัดสินใจปิดร้านทันที โดยตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะต้องปิดนานแค่ไหน และร้านจะขาดรายได้ เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าเป็นหลัก อีกทั้งไม่ต้องการเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ เพราะอาจสร้างผลกระทบในระยะยาวได้มากกว่า
กระทั่งมีการประกาศให้ธุรกิจสถานบันเทิงปิดชั่วคราว ทำให้เริ่มคิดว่าระยะเวลากักตัวน่าจะยาวนาน และส่งผลต่อรายได้ของนักดนตรีอย่างหนัก เนื่องจากไม่มีงานเลย จึงต้องการหารายได้ให้กับนักดนตรี จนเกิดไอเดีย “ไลฟ์ดนตรีสดผ่าน Facebook Page” ขึ้น แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ เนื่องจากกลัวเรื่องกระแสเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะการนำนักดนตรีมารวมตัวกัน อาจไม่ปลอดภัยได้
จนกระทั่งสปอนเซอร์ติดต่อเข้ามา และเมื่อพูดคุยกัน ทำให้พบว่าไอเดียนี้สามารถทำได้ โดยต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน อีกทั้งคนเริ่ม Panic น้อยลง จึงตัดสินใจทำไลฟ์ โดย Live วันแรกเมื่อ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ทุกคืนวันพุธ ศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์ โดยในส่วนของเพลง ยังคงคอนเซปท์และคาแรคเตอร์เพลงไทยในยุคเทปคาสเซตต์และต้องเป็นเพลงแบบ Positive ส่วนนักดนตรี ต้องคัดเลือกคนที่มีทักษะการพูดเอ็นเตอร์เทนผ่านหน้ากล้องได้ เนื่องจากการ Live เสมือนการทำรายการทีวีหนึ่งรายการ และเป็นรายการสด ทำให้นักดนตรีต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะบางคนแม้จะร้องเพลงเพราะ แต่เมื่อต้องมาพูดคุยกับผู้ชมสดๆ ควบคู่กับการไลฟ์ดนตรีไปด้วย จึงอาจมีความกังวล
“จริงๆ การทำไลฟ์อาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทำรายการ แต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรามาก เพราะไม่เหมือนการเล่นดนตรีสดที่ร้าน เนื่องจากต้องพูดคุย ตอบคอมเม้นต์ สื่อสารกับคนดูที่บ้านแบบเรียลไทม์ อีกทั้งเราไม่ได้ใช้ MC แต่ใช้นักดนตรีล้วนๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่อาชีพเขาในการเป็นพิธีกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ และปรับตัว ตอนแรกเราก็ปรับวงในฐานะลูกค้าที่อยู่ในร้าน แต่ตอนนี้เราต้องวงในฐานะคนดูอยู่ทางบ้าน”
ทั้งเชื่อมลูกค้าเก่า และต่อยอดขยายฐานลูกค้าใหม่
ถึงวันนี้ The Cassette Music Bar ของคุณภาเปิดไลฟ์ดนตรีสดผ่าน Facebook Page มาเกือบ 10 ครั้ง มีสปอนเซอร์ 2-3 ราย แต่ผลตอบรับนั้นเกินคาด แฟนเพลงชื่นชอบอย่างมากเพราะทำให้ได้คลายเครียด คลายเบื่อในช่วงเวลากักตัวอยู่บ้าน โดยปัจจุบันยอดคนเข้ามาดูขณะไลฟ์สดอยู่ที่ 2,000 คน ขณะที่คนดูต่อคลิปประมาณ 100,000 วิว และมีการเข้าถึงผู้ชมเฉลี่ยกว่า 200,000 คน
“การทำเฟซบุ๊กไลฟ์วันนี้ ไม่ได้ทำให้ร้านมีรายได้ แต่ผลพลอยได้จากการ Live คือ ทำให้นักดนตรีมีรายได้ ผู้บริโภคเห็นแบรนด์สปอนเซอร์ และ The Cassette Music Bar ก็เข้าถึงแฟนๆ ได้มากขึ้นจากเมื่อก่อนขนาดร้านค่อนข้างจำกัด ทำให้เข้าถึงคนในกลุ่มจำกัดเท่านั้น โดยการ Live เพียงคืนเดียวทำให้แฟนเพลงเห็นเรากว่าแสนคน และเกิดการจดจำ ดังนั้น แม้ร้านไม่มีรายได้ในวันนี้ แต่เมื่อร้านกลับมาเปิดในอนาคต เชื่อว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะนึกถึงและกลับมาหาเรา”
คุณภา บอกว่า พอใจกับผลตอบรับการเปิดไลฟ์ดนตรีสดผ่าน Facebook Page อย่างมาก โดยวัดได้จากความพึงพอใจลูกค้าที่เข้ามาชมในแต่ละครั้ง และถ้าวันไหนไม่มีการไลฟ์ แฟนเพลงก็จะเปิดเทปดูย้อนหลัง แต่หากวัดในแง่ตัวเลข การ Live ครั้งหนึ่งมียอดผู้เข้าชมประมาณ 200,000 คน ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างมากหากเทียบกับคอนเทนต์อื่นๆ ในเพจ รวมถึงยังขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกว้างขึ้น ทั้งในกลุ่มครอบครัวและกลุ่มคนอายุ 30-40 ปีที่ชื่นชอบเพลงในยุคคาสเซตต์แต่อาจจะยังไม่เคยมาเที่ยวเพราะคิดว่าหมดวัย รวมถึงคนที่เลิกเที่ยวไปแล้ว ซึ่งสร้างโอกาสใหม่ให้กับร้านเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
“ข้อดีของการไลฟ์คือ สามารถพรีเซ็นต์ตัวตนความเป็น The Cassette Music Bar ได้อย่างมาก เพราะการไลฟ์แต่ละครั้ง เราจะคัดเลือกเพลง และนักดนตรีที่พรีเซ็นต์ความเป็น The Cassette Music Bar ออกไปได้เต็มที่ ในตอนแรกก็กังวลเหมือนกัน แต่พอไลฟ์ออกไป คนดูชอบ ทำให้คนได้รู้จักเรามากขึ้น การไลฟ์จึงลงตัวที่สุด เพราะทำให้ลูกค้าเห็นเราชัดเจนขึ้น สปอนเซอร์ก็ได้ นักดนตรีก็ได้”
อย่ามองข้ามลูกค้าบนโลกออนไลน์
นอกจากการปรับโมเดลธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว คุณภาบอกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ยังต้อง ทำตัวให้ “เบา” หรือ “ติดลบ” น้อยที่สุดด้วย โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยช่วงที่จะตัดสินใจปิดร้าน ได้เรียกพนักงานเกือบ 60 คน รวมนักดนตรี มาพูดคุยเพื่อให้ทุกคนเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องเผชิญต่อไป โดยทางร้านยังคงการจ้างพนักงาน แต่ในช่วง 1-2 เดือนนี้มีมาตรการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานทุกคน 50% ซึ่งทุกคนก็เข้าใจและพร้อมใจกันสู้
“ปัจจุบันต้นทุนหลักๆ มีแค่พนักงาน ซึ่งพนักงานบางคนอยากให้เราทำอาหาร Delivery ด้วย แต่เนื่องจากสินค้าหลักของร้านคือ ดนตรี และบรรยากาศ รวมถึงการแข่งขันธุรกิจอาหารตอนนี้สูงมาก เราจึงเลือกสิ่งที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง และนำโมเดล Delivery มาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการเสิร์ฟบรรยากาศและดนตรีให้ผู้ชมถึงที่บ้าน ซึ่งคิดว่าน่าจะเหมาะกว่า”
สำหรับวิกฤติครั้งนี้ คุณภาถือว่าหนักสุดสสำหรับเธอ แม้ก่อนหน้านี้เคยคิดมาตลอดว่าธุรกิจสถานบันเทิงผับบาร์แต่ละร้านล้วนมีวงจรชีวิต และร้านเราคงไม่ได้อยู่ถาวรตลอดไป แถมยังเคยตั้งคำถามกับทีมว่า จุดจบของ The Cassette Music Bar จะอยู่ตรงไหน และคำตอบที่ได้คือคนที่ฟังเพลงวัยเรามาไม่ไหวแล้ว แต่ไม่เคยคิดว่าโรคโควิดจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจนี้ ที่ทำให้คนไม่อยากอยู่ใกล้ชิดกัน และคิดว่าน่าจะกระทบอีกนาน เพราะด้วยพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน กังวลในการสัมผัส”
แม้วิกฤติครั้งนี้จะสร้างผลกระทบหนักหนาสาหัส แต่วิกฤติครั้งนี้ก็สอนบทเรียนสำคัญให้กับเธอเช่นกัน โดยคุณภาบอกว่า การสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์และธุรกิจละเลยไม่ได้เลย แม้การทำสถานบันเทิงผับบาร์จะเน้นลูกค้าหน้าร้านเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้ทางร้านได้ทำโซเชี่ยลและสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางเพจมาตลอด เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น จึงทำให้ร้านมีโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้ นอกจากนี้ ยังต้อง ปรับตัวให้ไว รับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย
“ตอนนี้เราเริ่มศึกษาพฤติกรรมแฟนเพลงอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและกลับมาเปิดร้านได้ คิดว่าคงต้องเปลี่ยนรูปแบบอย่างมากโดยเฉพาะการนั่ง เพราะผู้คนอาจจะยังกังวลอยู่ โดยมองว่าภาพรวมตลาดร้านอาหารกึ่งผับน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นหลังมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังคงไม่กลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิมในสิ้นปีนี้”
ชงเจริญ “โอ-สด” Live Therapy สร้างความสุขยามกักตัวอยู่บ้านคนเดียว
ร้านชงเจริญ Groove (Central World) เป็นอีกร้านอาหารกึ่งผับซึ่งแทรกตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ปรับตัวทำ Live แสดงดนตรีสดผ่านเฟซบุ๊ก ให้แฟนๆ ได้หายคิดถึง โดย คุณกฤษฏา ธนะตระกูลวงศ์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้านชงเจริญ Groove (Central World) บอกว่า ตั้งแต่เปิดร้านเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2562 กิจการขยายตัวเร็วมาก คนเต็มร้านทุกวัน ถึงขั้นต้องจองล่วงหน้ากันเป็นเดือน โดยเฉพาะในช่วงวันพฤหัสถึงเสาร์ แต่หลังโควิดมา ลูกค้าหดและหายไปทันทีเหลือเพียง 5% เท่านั้น
กระทั่งมีประกาศให้ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารกึ่งผับปิดบริการชั่วคราว ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเหมือนหยุดชะงักทันที ซึ่งทางร้านก็ทำตามคำสั่ง และเริ่มปรับตัวทันที โดยในส่วนของพนักงานให้ใช้สิทธิ์วันลา 13 วัน โดยร้านยังคงจ่ายเงินเดือนให้เหมือนเดิม สำหรับวัตถุดิบที่เพิ่งสั่งซื้อเข้ามานั้น ได้ทำการประกาศขายในราคาต้นทุน
หลังบริหารจัดการกับวัตถุดิบและพนักงานในร้านแล้ว คุณกฤษฏาก็ได้เริ่มมองหาไอเดียที่สามารถจะต่อยอดไปทำในช่วงเวลานี้ได้ ซึ่งตอนแรกคิดจะทำอาหารส่งแบบเดลิเวอรี่ แต่ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นร้านอาหารกึ่งผับ ขายบรรยากาศ ดนตรีสด อีกทั้งอาหารของร้านก็เป็นเมนูกับแกล้มทานคู่กับเครื่องดื่ม จึงขายแบบ MK บาร์บีคิวพลาซ่าไม่ได้ จนในที่สุดก็เกิดเป็นไอเดียทำไลฟ์ดนตรีสดผ่านทางเพจ
สำหรับเหตุผลที่สนใจทำเฟซบุ๊กไลฟ์ คุณกฤษฏา บอกว่า เพราะส่วนตัวรู้สึกว่ากิจกรรมระหว่างกักตัวอยู่บ้านค่อนข้างจำกัด ไม่สั่งอาหารมารับประทาน ก็ดูทีวี Netflix หน้าจอ รวมถึงต้องการตอบสนองแฟนๆ ที่คิดถึงบรรยากาศดูดนตรีสดของชงเจริญ จึงคุยกันในทีมว่าจะทำไลฟ์ดนตรีสดผ่านทางเพจดีไหม โดยมีมาตรฐานการเว้นระยะห่างทางสังคม และระหว่างการไลฟ์ยังจัดกิจกรรมแจกเสื้อ กระเป๋า พร้อมกับชวนบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลเพื่อสู้กับโควิด-19 เพื่อให้คนกักตัวอยู่บ้านได้คลายเหงาและร่วมทำบุญด้วยกัน จึงเป็นที่มาของแคมเปญ ชงเจริญ “โอ-สด” Live Therapy ซึ่งทำการไลฟ์ 14 วัน 14 วงดนตรี และบริจาคให้ 14 โรงพยาบาล
จนถึงวันนี้ ร้านชงเจริญ ไลฟ์ดนตรีสดผ่าน Facebook 14 วันแล้ว ซึ่ง คุณกฤษฏา บอกว่า ผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะวันแรกมียอดผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบช่วงแรกจะเป็นการไลฟ์ดนตรีสดของนักดนตรีอย่างเดียว แต่ช่วงหลังๆ ได้ปรับรูปแบบด้วยการจัดสัมภาษณ์ศิลปิน ซุปตาร์ ดารามาถึงการดูแลตัวเองในช่วงกักตัวอยู่บ้านเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแปลกใหม่มากกว่าการดูไลฟ์ดนตรีอย่างเดียว
ปัจจุบันรายได้หลักของการไลฟ์ดนตรีสดผ่านเพจนั้นมาจากสปอนเซอร์ ซึ่งตอนนี้มี 2 ราย แม้ไม่ได้เป็นจำนวนมากแต่เขาก็พอใจ เพราะอย่างน้อยที่สุดสามารถสร้างรายได้ให้กับนักดนตรีในช่วงวิกฤตินี้ รวมถึงยังระดมเงินให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อสู้กับพิษโควิด แถมยังสามารถสร้างความบันเทิงให้กับแฟนๆ ชงเจริญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์และรอความชัดเจนจากนโนบายรัฐ หากแนวโน้มสถานการณ์โควิดดีขึ้น และ Live ยังได้รับความนิยมจากคนดู ก็มีแผนจะทำ Live ต่อไป
“วินาทีนี้ การเสพสื่อค่อนข้างจำกัด ไม่หลากหลาย เหมือนทุกคนดูละครเรื่องเดียวกัน ดู Netflix เรื่องเดียวกัน การไลฟ์ดนตรีสดจึงเป็นเหมือนทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ต้องกักตัวอยู่บ้านและผู้ประกอบการ ซึ่งต่อไปคนอาจจะดูไลฟ์มากขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องดู ณ ตอนนั้น เพราะสามารถกลับมาดชมย้อนหลังได้เหมือนรายการทีวี ซึ่งตลอด 14 วันที่ผ่านมายอดการชมย้อนหลังก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ถ้าอนาคตการไลฟ์สดมีสปอนเซอร์เข้า ยังไงก็ยังอยู่ในนั้น เพราะคนวนกลับมาดูอยู่ดี จึงอยู่ที่รูปแบบรายการจะทำอย่างไรให้ดึงดูดและตอบโจทย์คนดูมากที่สุด”
สำหรับวิกฤติครั้งนี้ คุณกฤษฎา ถือว่าหนักที่สุด เพราะร้านเปิดมายังไม่ครบปี ก็ต้องเจอกับสถานการณ์ไม่คาดคิดนี้ จนทำให้กิจการที่กำลังเติบโตต้องหยุดชะงักทันที ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ถึง ความไม่แน่นอน ในการทำธุรกิจ และต้องรู้จัก ปรับตัว ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพราะถึงแม้จะมีแผนไว้รองรับ แต่บางครั้งแผนก็ใช้กับสถานการณ์ตอนนั้นไม่ได้
ทั้งหมดนี้คือแนวทางการปรับตัวของสถานบันเทิงในยุควิกฤติโควิด ซึ่งส่งผลกระทบให้กับกิจการอย่างมาก แต่ก็ให้บทเรียนและสร้างโอกาสใหม่ๆ กับพวกเขาไว้เป็นภูมิคุ้มกันร่างกายชั้นดีเช่นกัน