เป็นสถานการณ์ช็อกโลกที่ยังควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก สำหรับโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 มาตรการดูแลเหตุการณ์ในประเทศไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เริ่มจำกัดการเดินทาง ขอความร่วมมือให้ “อยู่บ้าน” work from home ทำให้เวลานี้ “ทีวี” กลายเป็นสื่อที่คนไทยหันมาเปิดดูมากขึ้น เพื่ออัพเดทข้อมูลภาครัฐ ที่ยกระดับคุมเข้มกันแบบรายวัน ต้องเรียกว่า “รายการข่าว” เป็นคอนเทนท์ฮีโร่ โกยเรตติ้งทีวีในจังหวะนี้
ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย มีเดียเอเยนซี่ รายงานตัวเลขค่าเฉลี่ยการอยู่หน้าจอโทรทัศน์ของผู้ชมช่วงวิกฤติโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 10% หรือคิดเป็น 30-40 นาที เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
สถิติเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา AGB Nielsen สรุปเรตติ้งรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ขยับขึ้นสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 7.5 สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 50% และเรตติ้งยังคงแรงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ถัดมา คือวันที่ 28-29 มี.ค.ทำเรตติ้งสูงสุดในรายการข่าว
นอกจากนั้นรายการข่าวเด่นเย็น เสาร์-อาทิตย์ ก็ทำเรตติ้งสูงขึ้น 14% เช่นเดียวกัน สำหรับรายการข่าวในช่องไทยรัฐทีวี, Workpoint TV, Mono29 และ ONE ทำเรตติ้งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 2 สัปดาห์หลังจากคนกรุงเทพฯ อยู่บ้านมากขึ้น
ปิดห้างคนกรุงอยู่บ้านเรตติ้งเสาร์-อาทิตย์ขึ้นยกแผง
นอกจากรายการข่าวแล้ว เรตติ้งตลอดทั้งวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ก็สูงขึ้นตามทั้งหมด โดยจะเห็นได้จากกลุ่มรายการวาไรตี้เกมส์โชว์ต่างที่เรตติ่งขยับขึ้นเช่นกัน เริ่มตั้งแต่รายการศึก 12 ราศี ที่ทำเรตติ้งได้สูงสุดที่ 6.8 ในวีคแรกของการประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ตามด้วย สามแซ่บ, ตีท้ายครัว, ทูเดย์โชว์ และ The couple or not เรตติ้งขึ้นเฉลี่ย 20% สำหรับวีคถัดมานั้นเรตติ้งก็คงที่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของรายการนั้นๆ ในเวลาปกติ
คาดการณ์ว่าหลังจากนี้คนกรุงเทพฯยังใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น เนื่องจากมีประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ยาวไปถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็น โอกาสทองของการลงสื่อโฆษณาทางทีวี ในการเพิ่มโอกาสการรับรู้ให้กับสินค้า พร้อมกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถกระจายการออกอากาศได้ทั้งวัน ทั้งรายการข่าว รายการวาไรตี้ เกมโชว์ รวมทั้ง ละคร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนดูให้มากที่สุด
“ข่าว”ปรับตัว LIVE From Home
สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ การขอความร่วมมืองดกิจกรรมรวมกลุ่ม และการทำ Social Distancing ส่งผลให้ กองถ่ายรายการและละคร ก็ต้องงดการถ่ายทำหรือปรับแผนเช่นกัน จึงเห็นทีวีช่องต่างๆ นำคอนเทนต์มา “รีรัน” มากขึ้น
ส่วนรายการข่าว ถือเป็นคอนเทนท์ฮีโร่ ในเวลานี้ ทั้งช่วงเวลาข่าวหน้าจอทีวี และสื่อออนไลน์ของแต่ละช่อง ที่มีผู้ชมสนใจติดตามสถานการณ์โควิด-19 ตลอดวัน แต่รูปแบบการจัด “รายการสด” ของข่าวก็ต้องปรับตัว work from home เช่นกัน
อย่างล่าสุดรายการ “ข่าว 3 มิติ” ที่ออกอากาศ วันจันทร์ – วันศุกร์ 22.35 – 23.05 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ 22.30 – 23.00 น. ทางช่อง 3 ดำเนินรายการโดย คุณกิตติ สิงหาปัด ประกาศเป็นรายการข่าวรายการแรกของเมืองไทยที่ LIVE From Home ถ่ายทอดสดรายการจากบ้าน เป็นการปรับตัวตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ทุกคนทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
อมรินทร์ปรับโฉม-ขยายเวลาข่าว
ส่วน อมรินทร์ทีวี ขอเขย่าผังข่าวใหม่ “ปรับโฉม-ขยายเวลา” เกาะติดเหตุการณ์สำคัญและกระแสโควิด-19 แบบยาวไป รายการเรตติ้งสูง “ทุบโต๊ะข่าว” ปกติจันทร์-ศุกร์ ออกอากาศเวลา 20.15-22.30 น. ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.นี้ เพิ่มเวลาออกอากาศ ขยับมาเร็วขึ้น จันทร์-พฤหัสบดี ออนแอร์ เวลา 19.00-22.30 น. ดำเนินรายการโดย พุทธ อภิวรรณ และจิตดี ศรีดี เสริมทัพด้วย “นภจรส ใจเกษม” อดีตคนข่าวช่อง 3
ส่วนวันศุกร์ ดำเนินรายการโดย พุทธ อภิวรรณ และจิตดี ศรีดี เวลาเดิม 20.15 – 22.30 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ ดำเนินรายการโดย พุทธ อภิวรรณ และ ธนญญ์นภสสร์ น้อยเวียง เวลาเดิม 20.15 – 22.00 น.
นอกจากนี้ยังปรับโฉมใหม่ทุกรายการข่าวของช่อง ไมว่าจะเป็น ข่าวอรุณอมรินทร์ วันจันทร์–ศุกร์ เวลาเดิม 5.30 – 8.00 น. ข่าวอรุณอมรินทร์ สุดสัปดาห์ วันเสาร์-อาทิตย์ ขยับเวลาเป็น 6.00 –9.00 น. (จากเดิม 5.30 – 8.30น.) เริ่ม 4 เม.ย.2563 รวมทั้งข่าวเที่ยงอมรินทร์ และข่าวบันเทิง Apop ปรับโฉมใหม่และเวลาใหม่
เริ่ม 13 เม.ย.นี้
ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะจบเมื่อใด ขณะที่การผลิตรายการทีวีประเภทอื่นๆ เริ่มมีข้อจำกัดด้านการผลิตเพราะออกกองถ่ายทำได้ลำบาก “ข่าว” น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะหากเปรียบเทียบกับคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ ถือว่ามีต้นทุนน้อยกว่าอีกด้วย แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่น้อยมีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาทต่อปี มาเป็นอันดับ 2 รองจากละคร หลายช่องจึงให้น้ำหนักไปที่รายการข่าวในช่วงนี้