มูลนิธิวีซ่า (Visa Foundation) ประกาศถึงแผนงานที่จัดเตรียมเงินจำนวน 210 ล้านดอลลาห์สหรัฐ สำหรับสองโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายระยะยาวของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมความก้าวหน้าและการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรี และตอบสนองกับปัญหาเร่งด่วนของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับโครงการแรก มูลนิธิวีซ่าได้จัดสรรเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาห์สหรัฐ สำหรับการเยียวยาฉุกเฉินอย่างเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรการกุศลต่างๆ ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การบรรเทาปัญหาด้านการสาธารณสุขและอาหาร ทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคที่วีซ่าดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) อเมริกาเหนือ 2) อเมริกาใต้และแคริบเบียน 3) ยุโรป 4) เอเชียแปซิฟิก 5) ยุโรปตอนกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
“จากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ชุมชนต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” อัลเฟรด เอฟ. เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการของวีซ่า กล่าว “การที่บริษัทระดับโลกอย่างวีซ่าดำเนินกิจการเคียงข้างกับธุรกิจระดับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ทำให้เรารับรู้ถึงความต้องการเหล่านี้ โดยเราให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการฟื้นฟูในระยะยาว และจะดำเนินการมองหาหนทางต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับพันธกิจของเราที่จะช่วยให้ร้านค้า ธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และเศรษฐกิจทั่วโลกเจริญเติบโตต่อไป”
โครงการที่สองเป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปี พร้อมเงินทุนจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยทั่วโลก ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจของสตรี โครงการนี้ขยายขอบข่ายการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยทั่วโลกที่มีมาอย่างยาวนานของมูลนิธิวีซ่า กองทุนจากวีซ่าจะเป็นเงินทุนให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ และพันธมิตรด้านการลงทุนที่สนับสนุนวิสาหกิจขนาดย่อมและรายย่อย
ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยถือเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจโลก ซึ่งครอบคลุมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั่วโลก และ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน[i] ทั้งนี้ แต่ละปีมีการขาดดุลเครดิตถึงสามแสนล้านดอลลาร์สหรัฐในส่วนของแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จากสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19[ii]
“เวลานี้สำคัญอย่างยิ่งที่วีซ่าจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยจำนวนมากเป็นผู้หญิง” เคลลี่ กล่าว “การสนับสนุนครั้งนี้จึงจะสร้างผลที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสตรี ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดในการบรรลุความเสมอภาคทางเพศ ลดความยากจน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม”
จากเงินทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเพื่อช่วยเหลือเหล่าธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย มูลนิธิวีซ่าจะมอบเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ในทุกภูมิภาคที่วีซ่าดำเนินกิจการ โดยเงินอีก 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะนำไปจัดสรรในการลงทุนกับพันธมิตรของวีซ่าที่สร้างผลประโยชน์ให้สังคม และสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ดีสำหรับธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย
“เงินทุนบริจาค 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของวีซ่าเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย โดยมุ่งเน้นในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของผู้หญิงทั่วโลก เพราะเมื่อผู้หญิงประสบความสำเร็จ ชุมชนก็จะเจริญรุ่งเรืองเช่นกัน โดยเราตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” แกรห์ม แมคมิลลัน ประธานมูลนิธิวีซ่า กล่าว
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อยถือเป็นแกนหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย วีซ่าได้มีการลงทุนในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคสำหรับการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคชาวไทยถึงผลประโยชน์ต่างๆ ของการชำระผ่านระบบดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในการเดินหน้าก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างในอนาคต”
“ในช่วงเวลาที่ชุมชนทั้งในระดับโลก และท้องถิ่นกำลังเผชิญกับความท้าทาย วีซ่ายังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้การชำระเงิน ธุรกิจ และการค้าสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเรายังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับลูกค้า พันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจต่างๆ ของเราเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อสถานการณ์คลี่คลายในอนาคตอีกด้วย” คุณสุริพงษ์ กล่าวสรุป
[i] https://www.un.org/en/events/smallbusinessday/
[ii]https://www.ifc.org/wps/wcm/connect/news_ext_content/ifc_external_corporate_site/news+and+events/news/bridging-gender-gap