การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้อง “ปิดเมือง” (Lock down) เป็นระยะเวลานาน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค วิถีการทำงานและการปรับตัวทางธุรกิจที่จะกลายเป็น New Normal ในโลก Post Covid-19 ที่ต้องเจอกับ New Consumers และรูปแบบการทำธุรกิจกยุคใหม่ ซึ่งมีทั้งความท้าทายและโอกาส
“จีน” เป็นประเทศแรกที่เริ่ม Lock down จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 จากนั้นเริ่มเปิดเมืองวันที่ 8 เมษายน 2563 รวมระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง ส่วนประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ยืดระยะเวลาไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ปัจจุบันเริ่มประกาศผ่อนปรน ให้ธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย กลับมาเปิดดำเนินการได้บ้างแล้วในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ และจะทยอยเปิดเป็นเฟสๆ ในกิจการอื่นๆ เพิ่มเติม หากนับรวมเวลาการปิดเมือง ในประเทศไทยจนกว่าธุรกิจจะกลับมาเปิดได้ปกติ ก็น่าจะใกล้เคียงกับจีน
จีนเปิดเมือง ชีวิตผู้คนไม่เหมือนเดิม
ดังนั้นสถานการณ์หลังจีนเปิดเมือง จึงเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ เพื่อดูแนวโน้มสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังไทยเริ่มปลดล็อกได้ จากการวิเคราะห์ของ Ipsos บริษัทวิจัยระดับโลก โดย Ipsos China ซึ่งได้จัดทำงานวิจัย COVID-19 in China : The Road of Recovery
คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ระบุถึงงานวิจัยชิ้นว่า หลังจีนประกาศเปิดเมือง พบว่ามีบริษัทท้องถิ่นในจีน เปิดทำงานแล้ว 98.6% บริษัทจดทะเบียน 98% บริษัทขนาดกลางและเล็ก 76% โดยเริ่มจากพื้นที่เมืองหลักก่อน
แม้ว่าจีนจะเปิดประเทศแล้วและธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการแล้วเกือบ 100% แต่หากดูรายอุตสาหกรรมที่กลับมาดำเนินธุรกิจยังแตกต่างกัน คือ โรงแรมอยู่ที่ 80% ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง 85% ค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต 99% ช้อปปิ้ง มอลล์ 96% แต่การกลับมาใช้ชีวิตของชาวจีนก็ไม่ได้กลับมาเหมือนเหมือนเดิมในช่วงแรกของการเปิดเมือง เพราะในสถานที่ต่างๆ ที่เคยมีผู้คนคึกคัก อย่าง สถานีรถไฟ ห้างร้าน ก็ยังมีผู้ใช้บริการไม่มากนัก
โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในจีนครั้งแรกเดือนมกราคม 2563 นำไปสู่การปิดเมืองและเปิดเมืองหลังสถานการณ์คลี่คลาย ทุกระยะของเหตุการณ์ ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนไป ซึ่งน่าจะใช้เป็นกรณีศึกษาในประเทศไทย หลังจากเปิดเมืองได้
1. ระยะแรกแพร่ระบาดจนไปถึงการปิดเมือง ชาวจีน 98% เห็นว่าโควิด-19 เป็นเรื่องร้ายแรงและมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ โดยเปิดรับข่าวสารจากสื่อออนไลน์เป็นหลัก อันดับ 1 คือ WeChat 55% ต่างจาก 10 ปีก่อนที่รับข่าวสารผ่านสื่อทีวีเป็นหลัก
2. ช่วงกักตัวอยู่บ้าน มักทำกิจกรรมที่มีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ดูทีวี 67% ทำความสะอาดบ้าน 57% ออกกำลังกาย 44% ทำอาหาร/ขนม 44% โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นโลกยุคดิจิทัลที่แตกต่างจากยุคก่อน คือ ดูหนังออนไลน์ 56% ดูวิดีโอสั้นออนไลน์ (tiktok) 52% ช้อปปิ้งออนไลน์ 52% เล่นเกมออนไลน์ 38% Work from home 32% เรียนออนไลน์ 30%
แม้ชาวจีนใช้เวลากักตัวอยู่บ้านในช่วงที่โควิด-19 ระบาด พฤติกรรมก็แตกต่างกันไป สัดส่วน 64% บอกว่าพอใจกับการใช้ชีวิต เพราะมีเซอร์วิสต่างๆ จากโลกออนไลน์ ที่ยังตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีสิ่งที่ขาดหายไป คือ การไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้เหมือนปกติ
3. ถูก Lock down นานเริ่มเบื่อ
เมื่อเกิดภาวะ Lock down เป็นเวลานานในประเทศจีน ความรู้สึกของคนจีนแตกต่างจากช่วงแรก
– จากช่วงแรกที่รู้สึกว่ามีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เมื่อต้องกักตัวนาน เริ่มรู้สึกว่าถูกบังคับให้อยู่กับครอบครัว เริ่มเกิดความตึงเครียดในครอบครัว จะเห็นได้ว่ามีข่าวครอบครัวจีนหย่าร้างกัน เพราะต้องกักตัวอยู่บ้านด้วยกันนานเกินไป
– จากเดิมรู้สึกว่ามีเวลาพักผ่อนอยู่บ้านมากขึ้น พออยู่นานขึ้นก็รู้สึกเบื่อ
– จากเดิมเห็นว่าอยู่บ้านจะได้มีเวลาพัฒนาทักษะตัวเองมากขึ้น ทำอาหาร อ่านหนังสือ แต่พออยู่นานไปก็เริ่มไม่สนุก เหมือนถูกบังคับให้ทำและเริ่มเบื่อ
– จากเดิมที่รู้สึกสบายทำงานที่บ้านไม่ต้องแต่งตัว พอนานไป ก็รู้สึกอยากแต่งตัวออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน
4 เปิดเมือง จีนมองบวกเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว
หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปและจีนเริ่มเปิดเมืองสู่ภาวะปกติ พบว่าชาวจีนส่วนใหญ่ 66% มองมุมบวกกับภาวะเศรษฐกิจที่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงปกติเหมือนในปี 2562 ได้ในครึ่งปีหลัง ซึ่งถือเป็นมุมมองที่ดีมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อย่าง ยุโรป
แม้ว่าชาวจีนจะมองมุมบวกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ก็มีความกังวลเรื่อง “งาน” สัดส่วน 47% กลัวถูกลดเงินเดือนและถูกกดดันในที่ทำงานมากขึ้น, สัดส่วน 29% มีความกดดันจากการทำงานมากขึ้นและวิตกว่าจะถูกเลิกจ้าง สัดส่วน 41% ลดค่าใช้จ่ายเพราะกังวลว่าจะตกงาน ส่วน 42% ยังใช้จ่ายปกติ มีเพียง 17% ที่จะใช้จ่ายมากขึ้นหลังจบโควิดแล้ว
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของชาวจีนที่เปลี่ยนไปจากไวรัสโควิด-19 การทำกิจกรรมนอกบ้านลดลง เปลี่ยนการเสพสื่อจากสื่อดั้งเดิมไปสื่อออนไลน์ รวมทั้งมีการ “เปลี่ยนแบรนด์” ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ทำความสะอาด เจลแอลกอฮอล์ เลือกแบรนด์ที่รู้จักและน่าเชื่อถือ เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ ส่วนอีกกลุ่มเปลี่ยนไปใช้ “แบรนด์ราคาประหยัด”
แต่ก็มีสัญญาณบวกจากชาวจีนที่มีกำลังซื้อและต้องการจับจ่ายเช่นกัน ตัวอย่างร้าน Hermes ในเมืองกวางโจว ทำยอดขายวันเดียวได้ 70-80 ล้านบาท หลังจีนเปิดเมือง
โควิด-19 กระทบแรงกว่าซาร์ส
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบไวรัสโควิด-19 ปี 2020 กับโรค SARS ในปี 2003 พบว่ามีผลกระทบแตกต่างกัน โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 กระจายไปทั่วโลกและมีจำนวนมากกว่าซาร์ส อีกทั้งปัจจุบันระบบซัพพลายเชนผลิตสินค้าทั่วโลกผูกติดกับประเทศจีน ทำให้ในเชิงเศรษฐกิจจึงกระทบมากกว่าซาร์ส และโควิด-19 จะกินเวลายาวนานและรุนแรงกว่าซาร์สหลายเท่า
“ขนาดของเศรษฐกิจจีนวันนี้ใหญ่มากเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดซาร์ส เมื่อจีนเกิดปัญหาก็จะกระทบทั่วโลก เช่นเดียวกันหากทั่วโลกเกิดปัญหาก็กระทบจีนเช่นกัน”
ผลกระทบของภาคธุรกิจต่างๆ จากโควิด-19 ในจีน แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจจัดเลี้ยง (Catering) เสียหายกว่า 5 แสนล้านหยวน ธุรกิจท่องเที่ยว เสียหายกว่า 5 แสนล้านหยวนในช่วงไฮซีซันตรุษจีนที่ผ่านมา และคาดว่าทั้งปี 2020 จะเสียหาย 1.6-1.8 ล้านล้านหยวน ธุรกิจบันเทิง โรงภาพยนตร์สูญเสียรายได้จากช่วงเทศกาลวันหยุดยาวกว่า 7,400 ล้านหยวน ธุรกิจอื่นๆ ก็สูญเสียไม่ต่างกัน ทั้งการจัดอีเวนท์กีฬา ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ เฉพาะไตรมาสแรกยอดขายรถยนต์ลดลง 42%
ธุรกิจที่ได้ผลบวกจากโควิด-19
– ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ทั้งใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในบ้าน หน้ากากอนามัย มีอัตราการซื้อเพิ่มขึ้นสูง และยังเป็นกลุ่มที่เติบโตได้หลังจบโควิด-19 เพราะผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
– ผลิตภัณฑ์อาหารดูแลสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง สินค้าที่วันหมดอายุยาวขึ้นสำหรับเก็บไว้รับประทานได้นาน สินค้าโฮมเมดสำหรับใช้ปรุงที่บ้าน ถือเป็นสินค้าที่ยังเติบโตได้หลังจากนี้เพราะผู้บริโภคจะหันมาดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันมากขึ้น
– สกินแคร์และเพอร์ซันนอลแคร์ กลุ่มที่เติบโตได้ดีคือ เช่น ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมที่ทำได้เอง โดยใช้เทคโนโลยีช่วยเลือกสีผมที่เหมาะกับแต่ละคน เพื่อลดการเดินทางออกมาใช้บริการเปลี่ยนสีผมที่ร้านเสริมสวยนอกบ้าน
ไวรัสโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิด Digital Economy ในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจฟิตเนส ให้บริการออนไลน์ ,การเรียนการสอนออนไลน์, บริการสตรีมมิ่งในธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ทำ Virtual Tour รวมทั้งอีคอมเมิร์ซที่เติบโตสูงในสถานการณ์โควิด-19
ปรับตัวรับความท้าทายจาก New Consumers
โควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส เพราะจะทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆ (New Needs) หากมีผู้ประกอบการที่ปรับตัวตอบสนองความต้องการได้ก็จะได้เปรียบ เป็นสถานการณ์ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัว (Business Development) การให้บริการโมเดลใหม่ บริการออนไลน์ เดลิเวอรี่ และการปรับตัวรองรับความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลายในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ในสถานการณ์โควิด-19 องค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการทำ Corporate Social Responsibility (CSR) เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ชุมชน และสังคมที่กำลังอยู่ในภาวะลำบาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจะ “จดจำแบรนด์” ที่ช่วยเหลือพวกเขาในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี และรู้สึกดีกับแบรนด์ ขณะเดียวกันแบรนด์ที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการในช่วงโควิด-19 ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกัน
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็น New Normal เกิดขึ้นหลังจากจบโควิด-19 และจะมี New Consumers ที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไปจากเดิม การใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะ Cashless Payment ที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้หลังจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนานวัตกรรมและปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังต้องสร้างสมดุลสิ่งที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ที่เกิดหลังโควิด-19
7 เทรนด์เปลี่ยนโลกธุรกิจยุค Post Covid-19
แม้ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควรแล้วจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ถือเป็น “ตัวเร่ง” หลายสิ่งที่จะเกิดในอีก 10 ปีข้างหน้า ให้กลายเป็น New Normal เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ นอกจากนี้ Ipsos ยังได้สรุป 7 เทรนด์ธุรกิจ ที่จะเกิดขึ้นหลังยุคโควิด-19 จากงานวิจัยหัวข้อ Socio-economic trends that will strengthen and shape the future world ดังนี้
1. Reshoring of Supply Chains ธุรกิจดึงฐานการผลิตกลับประเทศ
จากเดิมภาคการผลิตต่างมองหาแหล่งผลิตที่มีค่าแรงถูก อย่างจีน แต่โรคระบาดที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนจากแหล่งผลิตถูกตัดขาด เริ่มเห็นปัญหาความเปราะบางในระบบซัพพลายเชน โลกหลังโควิด-19 จึงมองว่าจะต้องย้ายฐานการผลิตกลับมาที่ประเทศตัวเองส่วนหนึ่ง เพราะวันนี้เทคโนโลยีอัตโนมัติช่วยให้การผลิตมีต้นทุนต่ำลง ทำให้ราคาสินค้าไม่แตกต่างกันมาก โดยไม่ต้องพึงพาฐานการผลิตที่มีต้นทุนแรงงานต่ำอีกต่อไป
นอกจากนี้จะเห็นการต่อรองทางการค้ามากขึ้น เพราะแต่ละประเทศต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังจบโควิด-19 ดังนั้นเศรษฐกิจที่พึงพาการส่งออกเป็นหลัก อย่างประเทศไทย อาจจะเกิดภาวะ “ชะลอตัว” จากการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงและผลจากการต่อรองทางการค้า
2. Increasingly Distributed Workforce การลงทุนด้านเทคโนโลยีในภาคแรงงานมากขึ้น
บริษัทต่างๆ จะหันมาลงทุนเทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น ดังนั้นการใช้พื้นที่สำนักงาน จะเปลี่ยนรูปแบบจากพื้นที่การทำงานส่วนตัว เป็นพื้นที่ทำงานรวม (Common Spaces) เพราะคนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เห็นได้จากช่วงโควิด-19 ได้เริ่มทำงานที่บ้าน Work from home กันมาแล้ว ดังนั้นพื้นที่ออฟฟิศ จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ประชุมมากกว่าพื้นที่ทำงานตัวบุคคล ส่งผลต่อการเช่าพื้นที่สำนักงานลดลง และเช่าพื้นที่ระยะสั้น ดังนั้นราคา “ที่ดิน” ในตัวเมืองและรอบเมือง จะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วเหมือนเดิม และมีความแตกต่างลดลงกับพื้นที่นอกเมือง เพราะการทำงานที่บ้าน ทำให้การเดินทางเข้าเมืองลดลง
นอกจากนี้จะเห็นเทรนด์ Talent Pool คือการจ้างงานข้ามประเทศมากขึ้น จากเดิมที่คนเก่งจะทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ แต่ด้วยเทคโนโลยีการทำงานจากที่ไหนก็ได้ คนเก่งๆ จะอยู่ในประเทศของตัวเอง และรับงานจากทั่วโลก แนวโน้มนี้คือคนเก่งจะมีงานทำมากขึ้น แต่คนที่ไม่มีทักษะ ก็จะถูกทิ้งห่างออกไป
3. Shift from Time-based to Task-based Compensation จากทำงานตามเวลาเปลี่ยนทำงานเป็นจ็อบ
เดิมรูปแบบการทำงานจะทำงานตามตำแหน่งที่รับผิดชอบ ตามเวลาทำงานออฟฟิศ แต่การทำงานแบบ Work from home ในช่วงโควิด-19 จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าพนักงานจะทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่ การทำงานจึงเปลี่ยนรูปแบบเป็น Task-based ทำงานเป็นจ็อบๆ เมื่อเป็นรูปแบบนี้ การทำงานจึงเลือกตามทักษะที่ถนัดไม่ใช่การทำงานตามตำแหน่ง ซึ่งสามารถทำงานข้ามแผนกได้ดี
ดังนั้นรูปแบบการจ้างงานหลังจากนี้จะมีความ “ยืดหยุ่น” มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องจ้างเป็นรายเดือน (Full Time) แต่การปรับเป็น Task-based หรือทำงานเป็นจ็อบ ทำให้ความมั่นคงด้านการเงินแบบทำงานเต็มเวลาอาจลดลง ขณะเดียวกันหากมีความสามารถก็สามารถรับงานได้หลายบริษัท
4. Hollowing Out of Middle-level Jobs ตำแหน่งงานระดับกลางถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานในปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นรูปแบบจ้างเป็นครั้งๆ หรือ Gig Economy มากขึ้น ตำแหน่งงานระดับกลาง จึงไม่มีความจำเป็นเหมือนในอดีต เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ โดยงานประจำ(รูทีน) มีปริมาณลดลง แต่งานที่ไม่ใช่รูทีนเพิ่มขึ้น ดังนั้นตำแหน่งงานไม่มีทักษะและระดับกลางจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น และมีโอกาสจะถูกเลิกจ้างได้ ส่วนกลุ่มที่มีทักษะสูงจะมีรายได้มากขึ้นและหางานใหม่ได้ง่ายกว่าทักษะระดับกลาง
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเห็นแล้วว่า คนที่มีทักษะขายสินค้าออนไลน์ได้ ก็ยังมีช่องทางหารายได้และมีทางรอดในวิกฤตินี้
5. Decline of Institutional Education สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวรับการทำงานรูปแบบใหม่
ทั้งรูปแบบการจ้างการที่เปลี่ยนไปตามทักษะ การทำงานรูปแบบ Gig Economy ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาในอดีต ทั้งด้านการเรียนวิชาชีพไปสู่ทักษะตลาดแรงงานต้องการ รวมทั้งรูปแบบการเรียนออนไลน์ ที่ไม่จำเป็นต้องไปนั่งเรียนในสถานการศึกษาเท่านั้น
6. Reshaping of Business Responsibilities ธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม
รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ที่จะเกิดช่องว่างรายได้ของคนในสังคมมากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีรูปแบบการเก็บภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจัดเก็บภาษีคนรายได้สูงมากขึ้น และธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างความเท่าเทียมของคนแต่ละกลุ่ม จากการสำรวจผู้บริโภค 77% เห็นว่าธุรกิจต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น
7. Reengineering of Social Safety Nets ปรับเปลี่ยนนโยบายดูแลสังคม
โควิด-19 ทำให้คนวิตกกับเรื่องงานและรายได้ “คนกังวลเรื่องการไม่มีงานไม่มีรายได้มากกว่าเรื่องสุขภาพ” เพราะหากเสียชีวิตไปแล้วก็ไม่มีอะไรให้กังวล แต่หากยังมีชีวิตอยู่ ก็จำเป็นต้องใช้เงิน เมื่ออนาคตยังไม่แน่นอน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสังคมให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น การเก็บเงินประกันสังคมมากขึ้นหรือไม่ เพื่อดูแลลูกจ้างหากเกิดปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคมและฟรีแลนซ์ ที่ถือว่ามีปัญหามากที่สุดจากโควิด-19 นโยบายรัฐอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บเงินประกันสังคมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้ทุกกลุ่มมีหลักประกันในการใช้ชีวิตเพื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นอีกในอนาคต เช่นเดียวกับ ธนาคารก็ต้องปรับวิธีการปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มฟรีแลนซ์ เพื่อให้เข้าถึงเงินทุนในการประกอบอาชีพ และมีโอกาสรอดจากวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น
วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนไปจาก โลกยุค Post Covid-19 จึงไม่เหมือนเดิม การเรียนรู้จาก ไกด์ไลน์เปิดเมืองจากประเทศจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยเปิดเมืองสู่ภาวะปกติ จึงเป็นการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายและโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand