HomeBrand Move !!ทีวีดิจิทัลวูบ แต่ ‘เฮียฮ้อ’ RS ยังขายเก่ง ธุรกิจพาณิชย์-สื่อ ไตรมาสแรกกำไรพุ่ง 69%

ทีวีดิจิทัลวูบ แต่ ‘เฮียฮ้อ’ RS ยังขายเก่ง ธุรกิจพาณิชย์-สื่อ ไตรมาสแรกกำไรพุ่ง 69%

แชร์ :

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 รวมถึงปัญหาภัยแล้งฉุดรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร อีกทั้งความล่าช้าของการใช้งบประมาณรายจ่ายภาครัฐ มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวแรง และภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักทั่วโลก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดย “นีลเส็น” รายงานเม็ดเงินโฆษณาไตรมาสแรก ปี 2563 มีมูลค่า 28,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1%  เฉพาะเดือนมีนาคม 2563 มูลค่าอยู่ที่ 10,136 ล้านบาท ลดลง 5%  ขณะที่ธุรกิจทีวีดิจิทัล หลายช่องยังต้องเจอกับภาวะ “ขาดทุน”  แต่ RS  เจ้าของ “ช่อง 8” ที่ปรับเปลี่ยนบิสสิเนส โมเดล จากสื่อไปเป็น ธุรกิจพาณิชย์ (MPC) ตอกย้ำการเดิน “ถูกทาง” เพราะไตรมาสแรกรายได้และกำไรยังโต

บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ของ “เฮียฮ้อ” คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2563  มีรายได้จากการขายและบริการ 984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  แบ่งเป็นรายได้จาก ธุรกิจพาณิชย์ 500 ล้านบาท ลดลง 11%  ธุรกิจสื่อ 375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%  ธุรกิจเพลงและอื่นๆ  108 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 37%

ไตรมาสแรกปีนี้ RS มีกำไรสุทธิ 186 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้น 69%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 184% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน  มาจากปัจจัยรายได้เติบโตและการบริหารต้นทุนลดลง

มาดูรายละเอียดที่ละธุรกิจ เริ่มที่ ธุรกิจพาณิชย์ เป็นสัดส่วน 50.8% ของ RS ประกอบด้วย รายได้จากการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง และสินค้าจากพันธมิตร ขายผ่านช่องทาง สื่อของ RS ทั้ง ช่อง 8 ทีวีดาวเทียม วิทยุ และสื่อออนไลน์  รวมถึงร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ทั่วประเทศ ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ได้ร่วมมือทีวีดิจิทัล ช่องอมรินทร์ทีวี อีก 1 ช่อง เพื่อขยายช่องทางขายสินค้าผ่านโฮม ช้อปปิ้ง จากเดิมที่เป็นพันธมิตรกับช่องไทยรัฐทีวี และเวิร์คพอยท์ทีวี อยู่ก่อนแล้ว

รายได้จากธุรกิจพาณิชย์ ไตรมาสแรก อยู่ที่ 500 ล้านบาท ลดลง 11%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  แต่เพิ่มขึ้น 7.5%  เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2562 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าในช่วงที่ผ่านมา  แต่การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าร่วมกับโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้า  ทำให้รายได้จาก “ลูกค้าใหม่” เริ่มกลับมาเติบโต  ปัจจุบันธุรกิจพาณิชย์ มีฐานลูกค้า 1.35 ล้านราย

รายได้ธุรกิจสื่อ  เป็นสัดส่วน 38% ของ RS ไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 375  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 50% เทียบไตรมาส 4 ปี 2562  แม้ว่าอุตสาหกรรมสื่อทีวีจะทรงตัว และมีการแข่งขันด้านราคาสูงมาก

ภาพรวมธุรกิจสื่อทีวีไตรมาสแรก งบโฆษณาเพิ่มขึ้น 2%  จากการซื้อสื่อโฆษณาของโฮมช้อปปิ้ง  ซึ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19  ทำให้ประชาชนต้องใช้ ชีวิตอยู่บ้านเพิ่มขึ้น  ทำให้ผู้ชมทีวีเดือนมีนาคม 2563 เพิ่มขึ้น 9.2%

ขณะที่เรตติ้งช่อง 8 ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ กลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 4.2% และอายุ 18 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 4.6%  จากรายการหลักได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งรายการข่าว ละครไทย ซีรีส์ไทย  และกีฬามวย  อย่างไรก็ตามเรตติ้งเดือนมีนาคม ลดลงราว 4%  จากการบริหารต้นทุนรายการในสถานการณ์ Covid-19 ที่เม็ดเงินโฆษณาลดลง

ตลอดไตรมาสแรกปีนี้ ช่อง 8 ได้ปรับกลยุทธ์ด้านการขายและผลิตรายการ รวมถึงการบริหารคอนเทนต์ใหม่ โดยละครและรายการต่างๆ เสนอขายทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ (OTT)  ทำให้มีรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาและรายได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น

รายได้ธุรกิจสื่อวิทยุ เพลง และอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 11% ของ RS  ไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้ 108 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 37% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 39% เทียบไตรมาส 4 ปีก่อน  เนื่องจากโดยรวมอุตสาหกรรมสื่อวิทยุหดตัว 10%  เมื่อเทียบกับปีก่อน  วิทยุ COOLfahrenheit ยังได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม Easy Listening นอกจากรายได้โฆษณาวิทยุ ยังมีแพ็คเกจสร้างรายได้จากทุกแพลตฟอร์ม แม้ยังทำกำไรได้แต่รายได้ลดลงตามอุตสาหกรรมวิทยุ

ส่วนรายได้ธุรกิจเพลง มาจากการฟังเพลงผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น และการปรับกลยุทธ์รูปแบบ Music Marketing ทำให้การบริหารต้นทุนดีขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มจากการบริหารลิขสิทธิ์เพลงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ  อีกทั้งมีรายได้จากการจัดกิจกรรมการตลาดและคอนเสิร์ตอีกทาง

ขณะที่ต้นทุนธุรกิจทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ลดลง จากการได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 งวดสุดท้าย รวมทั้ง กสทช. ลดอัตราค่าธรรมเนียมส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ RS  วางแผนเปิดตัวช่องทางออนไลน์ขายสินค้า RS Mall เพิ่มเติม ผ่านแอปพลิเคชั่น  Coolism  ที่มีผู้ฟังกว่า 2 ล้านรายต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมทั้งนำเสนอการขายสินค้าในรูปแบบ Branded Content ผ่านช่อง 8  นอกจากนี้จะบริหารคอนเทนต์ทุกรายการช่อง 8  เจาะทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อโอกาสการสร้างรายได้ใหม่

คุณปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์

MONO ขาดทุน 390 ล้านบาท

ด้านทีวีดิจิทัล เรตติ้งเบอร์ 3 จากค่าย MONO29  คุณปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)  หรือ MONO  รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2563  มีรายได้รวม 372  ล้านบาท ลดลง 34% เทียบช่วงเดียวกับปีก่อน  ขาดทุนสุทธิ 390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 247%  เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับรายได้ MONO ไตรมาสแรกปี 2563 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน  แบ่งเป็น รายได้สื่อโฆษณา  293 ล้านบาท  ลดลง 38%  รายได้จากการสมัครรับข้อมูลข่าวสารและบันเทิง MVAS  14 ล้านบาท ลดลง 39%  และ Mono Max  รายได้ 10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%  รายได้จากสปอนเซอร์ชิป 22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%  รายได้อื่นๆ 32 ล้านบาท  ลดลง 10.8%

ภาวะขาดทุนของ MONO ไตรมาสแรกมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส Covid-19  ทำให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งโฆษณา จากการที่ลูกค้าลดการใช้งบโฆษณาและหยุดจัดกิจกรรมการตลาด ส่งผลต่อรายได้ธุรกิจหลักสื่อทีวี

อีกทั้งไตรมาสแรกปีนี้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากนโยบายปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงต้นปี หยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร จึงมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มเข้ามา 121 ล้านบาท

แผนธุรกิจปี 2563  MONO จะเน้นดำเนินธุรกิจหลักตามโครงสร้างใหม่ คือ ทีวีดิจิทัล บริการวิดีโอออนดีมานด์ (MonoMax) ปรับการทำงานใหม่ตั้งหน่วย Digital Marketing Solution ทำงานทั้งกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง เป็นตัวแทนจัดหาคอนเทนต์ให้บริการ 3BBTV


แชร์ :

You may also like