HomeBrand Move !!อะไรก็เกิดขึ้นได้ Grab ขอ “รัดเข็มขัด” ด้วยการให้พนักงานหยุดโดยไม่รับค่าตอบแทนแล้ว

อะไรก็เกิดขึ้นได้ Grab ขอ “รัดเข็มขัด” ด้วยการให้พนักงานหยุดโดยไม่รับค่าตอบแทนแล้ว

แชร์ :

เกิดอะไรกับ Grab คำถามนี้อาจผุดขึ้นในใจหลายคนหลังมีข่าวว่า Grab Singapore ได้มีการร้องขอให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง นัยว่าเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงก่อนหน้านี้ยังมีข่าวลดค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับซีเนียร์ราว 20% ด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองของ Grab Singapore เพราะเป็นครั้งหนึ่งเลยที่ Andrew Wong หัวหน้าฝ่าย Transport ของ Grab Singapore ออกมาบอกว่า บริษัทอาจไม่สามารถจ่ายเงินพิเศษเพื่อสนับสนุนไดร์เวอร์ได้อีกหากมาตรการ Circuit Breaker ยังคงยืดเยื้อต่อไป

สาเหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศขยายช่วงเวลาออกไปจนถึง 1 มิถุนายน เพื่อตอบสนองกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริการแบบ On-Demand ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนหลักของรายได้ Grab ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัส Covid-19 เนื่องจากความต้องการเรียกรถลดลง และไม่เพียงแต่ Grab เพราะ Lyft ธุรกิจ Ride-Hailing ในสหรัฐอเมริกาก็ประสบปัญหาเช่นกัน และได้มีการลดตำแหน่งงานลง 1,000 คนหรือประมาณ 17% ของพนักงานทั้งหมดที่มีไปแล้วเรียบร้อย

ด้านซีอีโอ Grab อย่าง Anthony Tan ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ไวรัส Covid-19 ได้สร้างความท้าทายต่อธุรกิจของ Grab อย่างมาก และอาจต้องทำให้บริษัทตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบาก นั่นคือ ลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ ตามมา โดยในตอนนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการหาทางรักษาเงินสดเอาไว้ให้ได้ดีที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจเลย์ออฟพนักงาน

สำหรับมูลค่าล่าสุดของ Grab ตามการรายงานของสำนักข่าว Bloomberg อยู่ที่ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีพนักงานราว 6,000 คน

ส่วนในประเทศไทย ทีมงาน Brandbuffet ได้มีการสอบถามไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Grab แล้วว่ามีนโยบายดังกล่าวหรือไม่ และหากได้รับคำตอบจะนำมารายงานต่อไปค่ะ

ใครที่ยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ชื่อของ Grab ได้เคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเทศไทย กรณีที่บริษัทมีการขึ้นค่าธรรมเนียม (บริษัทใช้คำว่า Gross Profit หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GP) กับร้านอาหารจาก 30% เป็น 35% นัยว่าเพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากบริการ Food Delivery ที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งถึงแม้การขึ้นค่า GP จะทำขึ้นก่อนช่วงเกิดไวรัส Covid-19 ระบาด แต่ดราม่าที่เกิดขึ้นก็ทำให้บริษัทต้องเสียชื่อเสียงไปไม่น้อย และต้องประกาศว่าจะลดค่า GP ลงมาเหลือ 30% เท่าเดิม รวมถึงประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นค่า GP อีกต่อไป รวมถึงจะบริหารจัดการต้นทุนที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพที่สุดแทน

Source

Source


แชร์ :

You may also like