กลายเป็นศึกแค้นฝังหุ่นระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เขาใช้เป็นประจำอย่าง Twitter เมื่อมีรายงานว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการายนี้ตัดสินใจลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อคุมเข้มการกระทำของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกันแล้ว
เหตุที่นำไปสู่ความบาดหมางครั้งนี้มาจากการที่ Twitter ใส่ข้อความแจ้งเตือนให้ผู้อ่าน “ตรวจสอบความถูกต้อง” หน้าทวีตของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 80 ล้านคนบนแพลตฟอร์มดังกล่าว พร้อมใส่ลิงค์ข้อมูลของ CNN เข้ามาเป็นข้อมูลประกอบ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า CNN กับโดนัลด์ ทรัมป์นั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนาน
ล่าสุด ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงมีการลงนามในคำสั่งพิเศษ Executive Order on Preventing Online Censorship พร้อมอธิบายเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่ควรยอมให้แพลตฟอร์มออนไลน์มาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
โดยในคำสั่งดังกล่าว มีการอ้างถึงชื่อแพลตฟอร์ม Twitter มาเป็นอันดับแรก (ก่อนจะตามด้วย Facebook, Instagram, Youtube) พร้อมระบุว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ ในตอนแรกก็เกิดขึ้นมาภายในความเชื่อเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้คนในการแสดงความคิดเห็น แต่นานวันไป บริษัทเหล่านี้กลับมีอำนาจมากขึ้น และเข้ามาตัดสินคอนเทนต์ว่า อะไรที่ผู้บริโภคควรเห็น และอะไรที่ผู้บริโภคไม่ควรเห็นในที่สุด
“ในฐานะประธานาธิบดี ผมสัญญาว่า การดีเบทเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยอิสระบนอินเทอร์เน็ต ไม่ต่างจากที่เราดีเบทกันในบ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพราะมันคือพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย”
ทรัมป์ยังกล่าวด้วยว่า ไม่เคยมีรายงานว่า Twitter วางเครื่องหมาย Fact-Checking หน้าทวีตของนักการเมืองคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นก็เคยทวีตข้อความที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดเช่นกัน พร้อมกันนี้เขายังได้กล่าวถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่างการรับเงินค่าโฆษณาจาก “รัฐบาลจีน” เพื่อแลกกับการเผยแพร่ข่าวที่ไม่ถูกต้อง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน (ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์) การให้ข่าว Covid-19 หรือการประท้วงในเกาะฮ่องกงด้วย
โดยเขามองว่า อำนาจที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้มี อย่างการสามารถเซนเซอร์ ปรับแต่ง ซ่อน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความ ได้ตามนโยบายของบริษัทนั้นคือสิ่งอันตราย และการเซ็นคำสั่งพิเศษดังกล่าวนี้จะช่วยให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น
เมื่อ Section 230 ไม่สามารถคุ้มภัย
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในคำสั่งพิเศษของโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งนี้ก็คือ การอ้างถึง Section 230(c) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เคยให้อำนาจแพลตฟอร์มออนไลน์ในการปิดกั้นเนื้อหาที่มีความรุนแรงออกไปจากแพลตฟอร์มว่าไม่ต้องรับผิดในแง่ของการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการมองเห็น และให้สถานะแพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็น Online Provider แทนที่จะเป็น Publisher
แต่ทรัมป์ชี้ว่า Section 230(c) นี้ไม่ได้ให้อำนาจแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้เข้ามาควบคุม หรือเซนเซอร์เนื้อหาที่พวกเขาไม่เห็นด้วย หรือไม่ชอบ แต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ การกระทำของ Twitter ที่มีต่อทวีตของโดนัลด์ ทรัมป์ จึงอาจทำให้ Twitter ไม่อยู่ในสถานะของ Online Provider ที่ Section 230 เคยให้ความคุ้มครองได้อีก แต่กลายเป็นสถานะของ Publisher และต้องรับผิดชอบต่อการเผยแพร่คอนเทนต์ไม่ต่างจากบรรณาธิการทั่วไปนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา บางส่วนมองว่านี่คือการข่มขู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของประธานาธิบดี เหตุเพราะทรัมป์มีการลงนามในเอกสารฉบับนี้ในเวลาที่สั้นมาก (ไม่ถึง 48 ชั่วโมงหลังมีกรณีพิพาทกับ Twitter)
โดยในมุมของ Ron Wyden สมาชิกรัฐสภาซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการร่าง Section 230 ให้ทัศนะว่า การกระทำของโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยการอ้างถึง Section 230 ในลักษณะดังกล่าว มีแต่จะทำให้คอนเทนต์บนโลกออนไลน์เต็มไปด้วยเรื่องผิดพลาด และอันตรายมากขึ้น
“การไม่ให้ Section 230 คุ้มครองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ได้หมายความว่า Twitter ต้องแบกรับข้อความ หรือทวีตที่สร้างความเข้าใจผิดเอาไว้ แม้ข้อความเหล่านั้นจะมาจากประธานาธิบดีก็ตาม” Wyden กล่าว