ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ทำให้พฤติกรรมและวิถีชีวิตประจำวันของคนเปลี่ยนไป ทว่ายังทำให้รูปแบบการทำงานและการดำเนินธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม จนเกิดเป็น New Normal หรือความปกติใหม่ เมื่อประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาอำนวยความสะดวก จนสามารถจะทดแทนงานบางอย่างได้อย่างมาก ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ “ตลาดแรงงาน” เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะทักษะการทำงานเดิมๆ ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในโลกปัจจุบันอีกต่อไป และทำให้คนทำงานยุคใหม่ต้องเร่งปรับตัวพัฒนาทักษะทั้งการพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Upskill) และเสริมทักษะความรู้ใหม่ๆ (Reskill) ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและรองรับงานหรือหน้าที่ใหม่ที่ต่างจากเดิมให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะกลายเป็นคนตกยุคและตกงานเอาได้ง่ายๆ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี สร้างความท้าทายให้กับภาคธุรกิจและภาคแรงงานค่อนข้างมาก เนื่องจากทักษะองค์ความรู้ที่แรงงานมีอยู่ อาจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ และอาจนำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงทั้งต่อภาคธุรกิจเอง จากประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจเปลี่ยนไป ความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่เข้ามาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจให้เพิ่มขึ้น และ พึ่งพาแรงงานลดลง อาทิ เช่น AI (ปัญญาประดิษฐ์) Robot (หุ่นยนต์) ระบบ Automation (เครื่องจักรอัตโนมัติ) และ Big Data (ข้อมูลจำนวนมาก) ซึ่งส่งผลให้ ผู้บริโภคมีความคาดหวังต่อสินค้าและบริการในระดับที่สูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจ จำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน การที่เทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาจนมีต้นทุนต่ำลงส่งผลให้ ผู้ประกอบการ SME บางส่วนก็เริ่มหันมาปรับใช้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ธุรกิจมีความต้องการบุคลากร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญรองรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีมาตรการ Lockdown และมาตรการ Social Distancing ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย ทำงานจากที่บ้าน งดการเดินทาง ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หรือปิดธุรกิจบางประเภท ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอหรือหยุดลง หรือปรับรูปแบบ ธุรกิจใหม่ และคาดว่าภายหลังการระบาดยุติลง การดำเนินธุรกิจต่างๆ อาจไม่กลับมาเป็นรูปแบบเดิม จากพฤติกรรมประชาชนที่เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยี อาทิ การจับจ่ายสินค้าบนโลกออนไลน์ การติดต่อรับบริการผ่าน วิดีโอคอลล์ รวมถึงภาคธุรกิจที่จะปรับรูปแบบนำเทคโนโลยีมาใช้
การทำงานผ่าน Work From Home ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็น New Normal ของธุรกิจ และจะเป็นปัจจัย เร่งให้ภาคธุรกิจหลายรายต้องเข้าสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เร็วขึ้น และส่งผลให้ ภาคธุรกิจและแรงงานต้องปรับตัวสอดคล้องกับกระแสดังกล่าว
ด้วยเหตุผลทั้งสองด้าน จนเป็นที่มาของการที่แรงงานจำเป็นต้องได้รับการ เพิ่มทักษะ เพื่อมุ่งไปสู่งานที่เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรอัตโนมัติยังไม่สามารถทดแทนได้สมบูรณ์ สอดคล้องกับการศึกษาของ World Economic Forum พบว่า ร้อยละ 54 ของแรงงานทั่วโลก จำเป็นต้องได้รับการ เพิ่มทักษะ และส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับทำงานร่วมกับเทคโนโลยี หรือเครื่องจักรอัตโนมัติ โดย 10 ทักษะการทำงานใหม่ที่ภาคธุรกิจต้องการหลังยุคโควิด-19 ประกอบด้วย
- Data Analysts and Scientists : นักวิเคราะห์ข้อมูล
2. AI and Machine Learning Specialists : ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
3. General and Operation Manager : ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ
4. Big Data Specialists : ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูล
5. Digital Transformation Specialists : ผู้เชี่ยวชาญระบบดิจิทัล
6. Sale and Marketing Professionals : ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาด
7. New Technology Specialists : ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่
8. Organization Development Specialists : ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาองค์กร
9. Software and Applications Developers and Analysts : นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น
10. Information Technology Services : ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศองค์กร
จากสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้อาจสรุปได้ว่า มี 4 ทักษะ ที่คนทำงานจำเป็นต้องมี ในยุคนี้
1.ทักษะทางด้านเทคโนโลยี ทั้งเครื่องจักร และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลาย เพื่อนำมา ประยุกต์ใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การควบคุมหุ่นยนต์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า รวมถึงคลาวด์ เทคโนโลยี เป็นต้น
2.ทักษะที่รองรับด้านการค้าออนไลน์ ที่ถือเป็น New Normal หลังการระบาดของโควิด-19 อาทิ ทักษะทางด้านภาษาเพื่อสนับสนุนการค้าบนโลกที่ไม่มีพรมแดน รวมถึงทักษะทางด้าน Digital Marketing และ ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ และโซเซียลมีเดีย (โฆษณา การสื่อสาร Chat Bot E-mail marketing) การเขียนคอนเทนท์ ทักษะการใช้กราฟฟิกต่างๆ เช่น Photoshop การทำรูป การตัดต่อวิดีโอ รวมถึงการออกแบบ เว็บไซต์
3.ทักษะในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและความเข้าใจที่ต้องใช้ทักษะของคน เพื่อมาเสริมการใช้เทคโนโลยี AI และระบบอัติโนมัติ
4.ทักษะรองรับการ Work From Home ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาสักระยะ และบางองค์กร มีการนำไปปฏิบัติ แต่จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ยังไม่มีแผนด้านนี้มาก่อน เริ่มหันมาวางแผน เพื่อรองรับ อาทิ ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมสนับสนุนการทำงาน เช่น การเก็บไฟล์บน คลาวด์ และทักษะทางด้านการประชุมและการนำเสนอการประชุมผ่านออนไลน์ เป็นต้น
ในส่วนของ “ผู้ประกอบการ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจต้องปรับตัว และผลักกดันแรงงานของตัวเอง โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. การวางตำแหน่งธุรกิจของตนเอง ว่าจะปรับตัวไปอยู่ในจุดไหน จะใช้เทคโนโลยีแบบใดภายใต้ความพร้อมหรือศักยภาพของธุรกิจที่มี รวมถึงต้องสำรวจว่าบุคลากรมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะตอบโจทย์และรองรับธุรกิจในระยะข้างหน้าได้มากน้องแค่ไหน ถ้าหากว่ายังไม่พร้อมก็ส่งไปฝึกเพิ่มเติม
2. การกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรเห็นความสำคัญของการเพิ่มทักษะความรู้ที่จำเป็นต่องาน โดยชี้ให้เห็นถึงองค์ความรู้ที่ยังขาดในด้านใด ขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเกิดความสนใจเรียนรู้
3.ร่วมมือกับองค์กรภายนอก พัฒนาหลักสูตรที่ต้องการและใช้ได้จริง ควบคู่ไปกับการพัฒนารูปแบบการเรียนนอกเหนือจากในห้องเรียน มาเพิ่มการเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะคอร์สการเรียนสั้นๆ ที่เหมาะกับแรงงานหลากหลายวัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต