HomeSponsoredเจาะปัญหาการศึกษาไทย และ ทักษะการเรียนรู้แห่งอนาคต ผ่านมุมมอง “อนุพงษ์ อัศวโภคิน”

เจาะปัญหาการศึกษาไทย และ ทักษะการเรียนรู้แห่งอนาคต ผ่านมุมมอง “อนุพงษ์ อัศวโภคิน”

แชร์ :

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย หลายองค์กรเริ่มพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) และมีการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความแม่นยำและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น กระทั่งทำให้เกิดอาชีพและธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนมากมาย จนสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานทั้งนักศึกษาที่กำลังจบใหม่และผู้ที่ทำงานมานานว่าความล้ำหน้าของหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ไนอีกไม่ช้า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่มาถึงวันนี้ นอกจากความสามารถของหุ่นยนต์ที่มีความชาญฉลาดจนมนุษย์แรงงานต้องกลัวแล้ว ความไม่แน่นอนของโลกธุรกิจที่หมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นมา ยังเป็นโจทย์ท้าทายที่ตลาดแรงงานไม่ควรนิ่งนอนใจเช่นกัน เพราะสภาวะความไม่นอนวันนี้เกิดขึ้น “รวดเร็ว” และ “รุนแรง” กว่าเดิม จนอาจทำให้ทักษะของนักศึกษาจบใหม่ที่มี หรือแม้แต่ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานมายาวนาน ไม่สามารถตอบโจทย์องค์กรธุรกิจในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป

คำถามคือ แล้วทักษะแบบไหนที่จะทำให้มนุษย์แรงงานสามารถอยู่รอดบนสังเวียนธุรกิจยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ที่พร้อมจะงัดมาทำงานและต่อสู้ในสนามรบได้ตลอดเวลา มาถอดภาพทักษะและการเรียนรู้แห่งอนาคต ผ่านมุมมองคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่มาเผยอย่างหมดเปลือกถึงปัญหาของการศึกษาไทย และ 4 ทักษะในการรับมือกับวีถีโลกใหม่ในยุคต่อจากนี้

ความรู้ไม่เพียงพอ-ความพร้อมไม่ตรงสาย-ทำงานไม่ได้จริง โจทย์ใหญ่ตลาดแรงงานไทย

การรับคนเข้าทำงานของบริษัทต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ลำพังมีองค์ความรู้ในสายอาชีพที่ทำระดับหนึ่ง อาจเพียงพอแล้ว เพราะเมื่อบริษัทรับพนักงานเข้ามาทำงาน องค์กรส่วนใหญ่จะฝึกฝนทักษะให้พนักงานมีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ เพราะหากพนักงานมีศักยภาพ แน่นอนว่าจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น แต่ คุณอนุพงษ์ บอกว่า คงนำแนวคิดแบบนี้มาใช้กับโลกในปัจจุบันไม่ได้แล้ว

เพราะวันนี้พฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ เปลี่ยนงานเร็วมาก การจะรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ (Employee Retention) เหมือนที่ผ่านมา คงยาก ทำให้องค์กรธุรกิจในปัจจุบันโดยเฉพาะในหลายๆ สายงาน จึงต้องการรับคนมาแล้วสามารถพร้อมทำงานได้ทันที แต่สิ่งที่บริษัทส่วนมากพบในการรับคนเข้าทำงานโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่กลับกลายเป็นว่า ทำงานไม่ได้

ความรู้และความเข้าใจในสายงานที่ต้องปฏิบัติจริงไม่เพียงพอ และความพร้อมไม่ตรงสาย นำมาซึ่งความไม่พร้อมที่จะลงสนามทำงานได้จริง

“นักศึกษามีความรู้และเข้าใจในสายงานที่ต้องปฏิบัติจริงไม่เพียงพอ และความพร้อมไม่ตรงสาย นำมาซึ่งความไม่พร้อมที่จะลงสนามจริง หรือองค์ความรู้ที่รู้ก็ไม่ตอบโจทย์การทำงานปัจจุบัน ยกตัวอย่างบริษัทเราให้ความสำคัญกับการดีไซน์อย่างมาก เราพยายามผลักดันเรื่องโปรแกรม Building Information Management หรือ BIM ซึ่งเป็นโปรแกรมวิศวกรเชิงดีไซน์ ซึ่งสมัยก่อนเราใช้ AutoCAD แต่ที่สหรัฐอเมริกาใช้ BIM มาเป็น 10 ปี ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์และเวียดนามก็ใช้ BIM ในการดีไซน์ตึกเช่นกัน แต่ปรากฏว่าในเมืองไทยยังสอน BIM เป็นวิชาเลือกไม่ใช่วิชาหลัก เพราะฉะนั้นเวลาที่เรารับเด็กเข้ามา หาเด็กทำ BIM ได้แทบไม่มีเลย ทำให้บริษัทต้องทุ่มเม็ดเงินในการสอนคนของเราให้ทำเป็น อีกทั้งเมื่อสอนเสร็จยังต้องดูแลพนักงานเป็นอย่างดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกคู่แข่งดึงตัวไป” คุณอนุพงษ์ สะท้อนถึงปัญหานักศึกษาจบใหม่ที่เกิดขึ้นในวันนี้

เกือบ 40% ของตำแหน่งงานปัจจุบันจะหายไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

สำหรับต้นตอของปัญหานั้น คุณอนุพงษ์ มองว่า ไม่ควรโทษสถาบันการศึกษาเพียงฝ่ายเดียว เพราะการปรับหลักสูตรไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้เพียงข้ามคืน โดยสาเหตุหลักๆ เขามองมาจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่อง เนื้อหาคอนเทนท์ไม่อัพเดทกับโลกในปัจจุบัน, การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องความรู้ (Academic) แต่เรื่อง Soft skill หายไป และ ความรู้ความสามารถของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีมากพอที่จะสอนเด็กเพื่อให้ออกไปแล้วสามารถลงสนามการทำงานได้จริงหรือไม่

“ผมว่าโลกวันนี้มันไดนามิกเร็วมาก ผู้สอนต้องรู้ว่าสิ่งที่สอนในวันนี้โลกมันไปถึงไหนแล้ว อีกทั้งต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าในเชิง Academic ที่เรียน เมื่อเอาไปประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจจริงไม่ได้เป็นไปตามตำรา เพราะมีอะไรหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม องค์ความรู้ในแต่ละวิชาจึงต้องปรับให้ทันยุคสมัย ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะให้อาจารย์ออกไปทำงานข้างนอก เพราะถือว่าการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริงเป็นสิ่งสำคัญ”

ไม่เพียงแค่นั้น เพราะหากปรับไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้ที่เรียนมาอาจจะไม่ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันได้ สะท้อนจากข้อมูลวิจัยที่บริษัททำร่วมกับสถาบัน Oxford ระบุชัดว่า ตำแหน่งงานที่เราเห็นในปัจจุบัน เกือบ 40% จะหายไปในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจต้องการทักษะใหม่ๆ มากขึ้น นั่นหมายความว่ามนุษย์แรงงานทุกคนต้องหมั่นฝึกฝนทักษะที่อยู่ในตลาดแรงงานให้เร็วและต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่นเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลาเช่นกัน

4 ทักษะจำเป็นในโลกยุคใหม่ที่มนุษย์แรงงานต้องมี

เมื่อโลกวันนี้หมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ทักษะเดิมที่มีอยู่ไม่ตอบโจทย์ แล้วทักษะแบบไหนล่ะที่มนุษย์แรงงานในปัจจุบันต้องมีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจยุคใหม่ คุณอนุพงษ์ บอกว่า Academic ยังเป็นทักษะสำคัญอันดับแรกที่ทุกคนต้องมี เพราะหากบริษัทต้องการรับเอ็นจิเนียร์ พนักงานคนนั้นจำต้องมีทักษะด้านเอ็นจิเนียร์เป็นพื้นฐาน รวมไปถึง Mindset เป็นอีกทักษะสำคัญไม่แพ้กัน เพราะไม่ได้เป็นเครื่องบอกเพียงว่าความสามารถในการทำงานของพนักงานในวันนี้เท่านั้น แต่ยังบอกอนาคตของพนักงานคนนี้ด้วยว่าสามารถจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้หรือไหม

“Skill สำหรับยุคหน้า Mindset มีส่วนสำคัญไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว จากผลวิจัยบริษัทในสหรัฐอเมริกา พบว่า เวลาบริษัทจะรับคนเข้าทำงานประมาณ 50-60% จะดูเรื่อง Mindset ว่ามี Open Mindset หรือไม่ เพราะต่อให้เรียน Academic จบมาเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่มี Open Mindset ที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา (Relearn) ก็อยู่รอดยาก”

นอกจากการเปิดใจรับสิ่งใหม่ ไม่หยุดเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาแล้ว คุณอนุพงษ์ บอกว่า Outward Mindset และ Design Thinking ก็สำคัญมาก โดยเอพีได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรและสอนพนักงานให้เข้าใจจนผ่านพ้นวิกฤติและสามารถขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะหัวใจของ Outward Mindset ไม่ได้สอนให้มองแค่ตัวเอง แต่เป็นการมองจากมุมมองของคนคนนั้นที่เราทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นจุดมุ่งหมายของเขา เขาต้องการอะไร รวมถึงปัญหาและอุปสรรคเขาของคืออะไร และ

“Outward mindset เป็นเรื่องของการเอาใจเขามาใส่ใจเราซึ่งต้องใช้คู่กับในแง่การฝึกสิ่งนี้แน่นอนไม่ง่าย ต้องทุกวัน มีสติ ใจเย็น และค้นหาสามข้อนี้ให้ได้ ตอนผมฝึกผมใช้เวลาถึงหกเดือน จะมีหลายๆ เคสมาสร้างความท้าทายทุกวัน พอเราฝึกทุกวันมันจะได้เอง”

ส่วนทักษะสำคัญที่คนในยุคปัจจุบันจะต้องมี คุณอนุพงษ์ บอกว่า สิ่งคำคัญต้องเริ่มจากการหาเป้าหมายในชีวิตก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อให้รู้ว่าตัวเองว่าอยากทำอะไร เพราะเขาเชื่อว่า การทำอะไรที่ผิดไปจากเป้าหมายในชีวิต ย่อมทำสิ่งนั้นไม่ได้ดี เพราะไม่มี Passion ที่อยากจะทำ และหลังจากตั้งเป้าหมายในชีวิตแล้ว ทักษะแรกที่ควรมีก็คือ องค์ความรู้และความเข้าใจในสายงานนั้นๆ ที่อัพเดทตลอดเวลา ส่วนทักษะที่ 2 คือ ต้องมีความเข้าใจในกระบวนการของโลกดิจิทัล (Digital Literacies) ทักษะที่ 3 คือเรื่องของ Soft Skills ซึ่งเป็นเรื่องของการตัดสินใจ (Decision Making), การแก้ปัญหา (Problem Solving), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) รวมถึงการสื่อสารในยามพบปะผู้คน (Communication) และ Mindset และทักษะที่ 4 คือ มีแรงผลักดันที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“ผมมองว่าองค์ความรู้และความเข้าใจในสายงานนั้นๆ ที่อัพเดทตลอดเวลา และ Soft Skills เป็นสองอันดับแรกที่คนทำงานในยุคปัจจุบันควรมี เพราะถ้ามี Soft Skill คุณสามารถข้ามไปทำเรื่อง Digital Literacies ได้ แต่ถ้าไม่มี Soft Skills ข้อ 2 และ 4 คุณไม่มีวันได้มัน หรืออาจจะทำอะไรไม่ได้เลย”

จึงเรียกได้ว่า Mindset แห่งการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและพร้อมเปิดใจรับเรียนรู้สิ่งใหม่ คือทักษะสำคัญที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี หรือขาดไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วตำแหน่งงานที่เคยสำคัญ อาจจะกลายเป็นตำแหน่งไม่มีความสำคัญอีกต่อไป และวันนั้นคุณอนุพงษ์ก็เชื่อว่า “ไม่ไกลสำหรับคนที่ไม่เรียนรู้”

 

Photo – Content จากงาน The Standard Economic Forum


แชร์ :

You may also like