HomeBrand Move !!กลยุทธ์ Take off ธุรกิจการบินให้รอด! กับโจทย์ยาก เมื่อการเดินทางไม่เหมือนเดิมในยุค New Normal

กลยุทธ์ Take off ธุรกิจการบินให้รอด! กับโจทย์ยาก เมื่อการเดินทางไม่เหมือนเดิมในยุค New Normal

แชร์ :

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกระทบหนักจากวิกฤติ Covid-19 นับตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ กระทั่งมาตรการ Lockdown สายการบินประกาศหยุดบิน โรงแรมต้องปิดชั่วคราว แม้มาตรการปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 4 เปิดให้เกือบทุกกิจการกลับมาเปิดได้แล้ว แต่ท่องเที่ยวยุค New Normal ทำให้การเดินทางไม่เหมือนเดิม นับเป็นความท้าทายของธุรกิจการบิน เมื่อต้องเริ่ม Take off อีกครั้ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เฟซบุ๊กเพจ BU Online Workshop โดย ผศ.ดร.ศศิประภา พันธนาเสวี รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ How to ฝ่า…” กับ Opportunity Series : Airline Business Disruption Responses and Post Crisis Strategy”

โดยพูดคุยกับ ดร.นรุตน์ จีระมะกร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจการบิน บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับกลยุทธ์การ Take off ธุรกิจการบินให้ win-win-win กันทั้งในมุมสายการบิน ผู้โดยสาร บุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบิน พร้อมกลยุทธ์การ Move on ของธุรกิจการบินในยุค New Normal หลังการแพร่ระบาด Covid-19

โจทย์ยากธุรกิจการบิน เมื่อนักท่องเที่ยวยังไม่มา

ผลกระทบอย่างหนักของธุรกิจการบิน จากการปิดน่านฟ้า Lockdown ประเทศ แม้หลังมีมาตรการผ่อนปรนแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดซ้ำระลอก 2 ก็ต้องยอมรับว่ารูปแบบการเดินทางจะไม่เหมือนเดิมและถือเป็น จุดเปลี่ยนการบิน

ดร.นรุตน์ บอกว่าโจทย์ยากหลังโควิด จะมีทั้งการทำตลาด การดูแลผู้โดยสาร การปรับฝูงบิน เส้นทางการบินและการแข่งขันหลังจากนี้จะดุเดือดมากขึ้น ก่อนโควิดรูปแบบการเดินทางในประเทศ ผู้โดยสารแบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1.เดินทางเพื่อทำธุระ 54%  2. ท่องเที่ยวกว่า 20%  และ 3. เดินทางกลับบ้าน เยี่ยมญาติกว่า 20% ช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ผู้โดยสารที่หายไปก่อน คือ นักท่องเที่ยว เหลือเฉพาะการเดินทางที่จำเป็นเท่านั้น

หลังจากสายการบินเริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม กลุ่มที่จะกลับมาก่อน คือ ผู้โดยสารเดินทางไปทำธุระ ทั้งการทำธุรกิจ ติดต่อราชการ พบแพทย์  ต่อด้วยกลุ่มเยี่ยมญาติ ทั้งกรุงเทพฯ กลับต่างจังหวัด  และต่างจังหวัดมากรุงเทพ ที่เริ่มกลับมาเดินทางแล้วในเดือนมิถุนายน และนักท่องเที่ยวในประเทศ จะกลับมาท้ายสุด เพราะกลุ่มนี้ ต้องมีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง

แต่ที่กลับมายากและต้องใช้เวลา คือนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ  เพราะต้องทำตามกฎระเรียบต่างๆ ของแต่ละประเทศปลายทาง เช่นเดียวกับประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้มีเที่ยวบินเข้าออกประเทศ  การท่องเที่ยวจะกลับมาต่อเมื่อปลายทางและต้นทางเปิดพร้อมกัน

ปัจจุบันรัฐบาลในกลุ่มประเทศยุโรป เตรียมเปิดประเทศให้ได้ก่อนเดือนสิงหาคม เพราะเป็นไฮซีซัน เดินทางมาโดยไม่ต้องกักตัว โดยเริ่มเปิดให้เดินทางในภูมิภาคเดียวกันก่อน

สำหรับประเทศไทยเองภาครัฐกำลังพิจารณาให้มีการเดินทางเข้าประเทศแบบจำกัด (Travel Bubble) เริ่มจากในภูมิภาคเอเชียก่อนเช่นกัน

จัดโปรฯ แจก Voucher สร้างสภาพคล่อง

สถานการณ์ปัจจุบันภาครัฐได้ผ่อนปรนให้ธุรกิจเกือบทุกประเภทเปิดดำเนินการได้แล้ว ภายใต้มาตรการดูแลการแพร่ระบาด ในธุรกิจสายการบินจากเดิมจำกัดผู้ใช้บริการและต้องขายที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563  สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดแนวทางปฏิบัติสายการบิน เส้นทางในประเทศ ให้ยกเลิกการจำกัดจำนวนที่นั่ง โดยสามารถจำหน่ายตั๋วโดยสารได้ 100%  โดยไม่ต้องเว้นระยะห่างที่นั่งผู้โดยสารแต่ละคน  และให้ดูแลระบบหมุนเวียนอากาศภายในอากาศยานและเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ หรือ High Efficiency Particulate Air (HEPA) ตามกำหนด

แม้มาตรการผ่อนปรนปลดล็อกการขายตั๋วให้กลับมาเหมือนเดิมแล้ว แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวยังคงไม่กลับสู่ภาวะปกติเร็วนัก เพราะยังต้องเฝ้าระวังการระบาดซ้ำ

ดร.นรุตน์ บอกว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของสายการบินตอนนี้ คือ สภาพคล่อง เพราะจำนวนเที่ยวบินยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เครื่องบินจอดไว้ แต่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างยังอยู่ วิธีหารายได้ของสายการบินในช่วงนี้คือ ออกโปรโมชั่นซื้อตอนนี้บินปลายปี หรือ ปีหน้า เพื่อการดึงเงินจากลูกค้าเข้ามาก่อน และสร้างสภาพคล่องให้ธุรกิจ รอเวลากลับสู่ปกติ

“สิ่งสำคัญที่ต้องทำในช่วงวิกฤตินี้ด้วยเช่นกัน คือ ทำให้ผู้โดยสาร สะดวกทุกอย่าง หากต้องการขอเงินค่าตั๋วที่ซื้อไว้ล่วงหน้าคืน ก็อาจจูงใจด้วยการให้ voucher เพิ่มขึ้นหากยังถือตั๋วไว้ก่อน  หรือยืดหยุ่นให้สามารถเปลี่ยนตั๋วได้ยาวขึ้น เป็นปีหน้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าและสายการบินก็มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น”

การกลับมาให้บริการของสายการบิน เส้นทางในประเทศหลังผ่อนปรนมาตรการ สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ผ่านเทคโนโลยี ต่างๆ เพื่อลดการสัมผัส Contactless สามารถเช็คอินออนไลน์ด้วยตัวเอง หากเป็น tech savvy ก็พร้อมใช้งานด้านนี้ ซึ่งผู้โดยสารนกแอร์อายุ 30-50 ปี ในกลุ่มที่ยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยี ก็ต้องสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงจากการสัมผัส

แต่การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาให้บริการเป็นสิ่งที่นกแอร์ ดำเนินการอยู่แล้วเพื่อลดต้นทุนในอนาคต ปกตินกแอร์มีผู้โดยสารปีละ 10 ล้านคน หาก 50% ใช้งานผ่านมือถือจะช่วยลดต้นทุนบุคลากรที่จะมาให้บริการได้อย่างมาก และผู้โดยสารก็ปลอดภัยจากการลดสัมผัส

“บทบาทของเทคโนโลยีในช่วงโควิด ยังไม่ได้เปลี่ยนภาพสายการบินไปไปถึงจุดที่ Contactless ทั้งหมด แต่ผู้โดยสารได้เรียนรู้แล้วว่าสามารถใช้ช่องทางนี้ได้ เพราะสายการบินไม่สามารถบังคับผู้โดยสารได้  แต่การเดินทางในช่วงโควิด ที่ต้องมีการติดตามผู้ใช้บริการเพื่อการสอบสวนโรค ผ่านแอป ไทยชนะ จะช่วยสร้างความคุ้นชินให้ผู้โดยสารใช้งานกับบริการอื่นๆ ของสายการบินได้มากขึ้นด้วย”

หลังการปลดล็อกให้สายการบินในประเทศกลับมาให้บริการปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และให้ขายตั๋วโดยสาร 100% ของที่นั่งตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ช่วงแรกดีมานด์ยังไม่กลับมาปกติ การเดินทางอยู่ในกลุ่มทำธุระ แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะเห็นดีมานด์นักท่องเที่ยวที่อัดอั้นมานานออกมาเดินทางอีกครั้ง แต่ความถี่คงไม่มากนักในปีนี้ เพราะบางกลุ่มได้รับผลกระทบรายได้ที่ลดลง เชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบินจะกลับมาปกติในช่วง 1-2 ปี

ก่อนโควิดธุรกิจการบินในเอเชีย เป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็ว เพราะคนรุ่นใหม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว หากกลุ่มนี้เริ่มกลับมา จะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาเร็ว  เพราะคนที่มีประสบการณ์ท่องเที่ยวก็จะมีไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยวต่อไป ในประเทศไทยเองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตมาต่อเนื่อง  อัตราการบรรทุกของสายการบินในประเทศไทยอยู่ที่ 80% พฤติกรรมคนที่เคยนั่งเครื่องบินแล้วมักจะไม่กลับไปนั่งรถทัวร์ เชื่อว่าเมื่อคนมั่นใจกลับมาใช้ชีวิตปกติ ก็จะเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ธุรกิจการบินยังมี “ดีมานด์” แต่สิ่งที่ต้องทำคู่กันคือบริหารต้นทุนให้ดี

สถานการณ์โควิดวันนี้มองว่าประเทศไทยผ่านจุดที่เลวร้ายไปแล้ว หลังจากนี้มาตรการทุกอย่างจะผ่อนคลายและเริ่มสู่ภาวะปกติ


แชร์ :

You may also like