แม้จะมีหลักฐานมานานแล้วว่า ทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วย Hate Speech การเหยียดเชื้อชาติ และความรุนแรง และทางแพลตฟอร์มเองก็มีการว่าจ้างทีมงานเอาท์ซอร์สจำนวนมากเข้ามาสกรีนเนื้อหาเหล่านั้น จนเคยเป็นข่าวดังว่า อดีตพนักงานบางคนออกมาเรียกร้องค่าชดเชยทางด้านสภาพจิตใจกับทางบริษัทดังอย่าง Facebook กันไปแล้ว
แต่ดูเหมือนความเคลื่อนไหวรอบล่าสุดที่แบรนด์ดังมีต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ Facebook แม้จะอยู่บนเรื่องเดิมอย่าง Hate Speech และการเหยียดผิวนั้น ก็กำลังทำให้ยักษ์ใหญ่รายนี้สั่นคลอนได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Unilever ได้ออกมาประกาศแล้วว่า จะยุติการลงโฆษณาในสหรัฐอเมริกาบนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Instagram และ Twitter ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ร้อนแรงในขณะนี้ พร้อมบอกด้วยว่า การให้แบรนด์อย่าง Dove หรือ Lipton ปรากฏตัวบนแพลตฟอร์มในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้คน หรือสังคมแต่อย่างใด
แม้จะไม่มีข้อมูลตัวเลขจาก Unilever ว่าบริษัทจะใช้เงินโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปีนี้เท่าไร แต่ข้อมูลจาก Pathmatics ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์ด้านการลงโฆษณาระบุว่า ในปี 2019 Unilever ใช้เงินโฆษณาไปกับแพลตฟอร์มดิจิทัลในสหรัฐอเมริการาว 42.4 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
อีกค่ายที่ออกมาประกาศยุติการลงโฆษณาคือ Honda America แต่จะยุติแค่บน Facebook และ Instagram เท่านั้น ซึ่งทาง Honda บอกว่า เป็นการตัดสินใจที่จะเลือกยืนข้างประชาชนในการยุติความเกลียดชังและการเหยียดผิวด้วยเช่นกัน
ส่วน Coca-Cola ก็ออกมาประกาศว่าจะยุติการลงโฆษณาเช่นกัน แต่เป็นการยุติบน “ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั่วโลก” เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้
อีกรายที่ใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ Verizon ที่ Pathmatics อ้างว่าใช้เงินโฆษณาบน Facebook มากถึง 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็ออกมาประกาศหยุดลงโฆษณาเช่นกัน
ก่อนหน้าแบรนด์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังมี The North Face, Patagonia และอีกหลายแบรนด์ที่กระโดดเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ แคมเปญรณรงค์หยุดการลงโฆษณาบน Facebook และ Instagram มีขึ้นภายใต้ชื่อ Stop Hate For Profit ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของ The Anti-Defamation League, The NAACP และอีกหลายองค์กรจับมือกัน โดยตอนนี้มีมากกว่า 100 แบรนด์แล้วที่ลงชื่อเห็นด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งของการประท้วงนี้ ยังรวมถึงการที่ Facebook ไม่ยอมทำอะไรกับโพสต์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่หลายครั้งส่อถึงความรุนแรงด้วยนั่นเอง
ผลจากการร่วมแรงร่วมใจกันประท้วง Facebook ครั้งนี้ทำให้หุ้นของ Facebook ตกลงถึง 8.31% ในช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ Twitter ที่หุ้นตกลงเช่นกัน 7.39% (อ้างอิงจาก MarketWatch) แม้ว่าซีอีโออย่าง Jack Dorsey จะออกมาใส่ Fact Check หน้าข้อความของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาจนได้รับเสียงปรบมืออย่างท่วมท้น แต่ก็ไม่รอดพ้นจากการแบนในครั้งนี้ไปได้
มีการรายงานด้วยว่า ตัวแทนของ Facebook ได้ออกมาชี้แจงต่อกรณี Unilever ถอดโฆษณาว่า ที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุนนับพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเพื่อทำให้คอมมูนิตี้นี้ปลอดภัย และมีการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกเพื่อปรับนโยบายให้เหมาะสม แต่ทาง Facebook ก็ยอมรับว่า ยังมีงานต้องทำอีกมากในการพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับ Hate Speech และความรุนแรงบนแพลตฟอร์ม