เรียกได้ว่าเป็นขุนพลคนใหม่ที่จะพา KBank เข้าสู่อาณาจักรแห่งไลฟ์สไตล์ในยุค New Normal ได้เลยทีเดียว สำหรับแชทบอทเหรัญญิก “ขุนทอง” บริการใหม่สำหรับแพลตฟอร์ม LINE ที่ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทกสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG พัฒนาขึ้น
โดยแนวคิดของการพัฒนาขุนทองนั้น คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิสซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เผยว่า ต้องการให้เป็นโซเชียลแชทบอท สำหรับใช้งานใน LINE เนื่องจากพบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบรวมกลุ่มตั้งกรุ๊ป LINE เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กินข้าว เก็บเงินเที่ยว ฯลฯ ซึ่งการมีผู้ช่วยเป็นเหรัญญิกเข้ามาบริหารจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แทนนั้นจะทำให้กลุ่มเพื่อนมีประสบการณ์ใช้งานในเชิงบวกมากขึ้น
การเปิดตัวขุนทองยังเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของ KBTG ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่าง Contactless Technology ด้วย โดยคุณกระทิงให้ทัศนะว่า ในโลกยุคหลัง Covid-19 ทุก ๆ ประสบการณ์ (experiences) เป็นสิ่งมีค่า การมาพบกันของกลุ่มเพื่อนก็เช่นกัน ดังนั้น เมื่อจะนัดหมายกันไปทำกิจกรรม หรือไปรับประทานอาหาร ก็อยากให้ทุกคนใส่ใจกับคนสำคัญตรงหน้าดีกว่า ส่วนเรื่องหารค่าใช้จ่ายให้เป็นหน้าที่ของขุนทองจัดการให้แทน
อยากใช้งานขุนทอง ต้องเริ่มจาก?
สำหรับการใช้งานขุนทองก็ไม่ยากเพียง add @KhunThong ไว้ใน LINE แล้วเชิญขุนทองเข้าในกลุ่มที่ตั้งไว้ โดยระหว่างที่ขุนทองอยู่ในกลุ่มเพื่อน ทาง KBTG ยืนยันว่า จะไม่มีการเก็บข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการสนทนา ขุนทองจะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่อมีสมาชิกในกลุ่มพิมพ์คำว่า “ขุนทอง” หรือคำว่า “เก็บเงิน” เท่านั้น
ความสามารถของขุนทองในเวอร์ชันปัจจุบันประกอบด้วย การหารบิลกับสมาชิกภายในกลุ่ม โดยมีทั้งแบบจ่ายเท่ากันทุกคน หรือจะเลือกจ่ายตามจริงก็ได้ ซึ่งสมาชิกเพียงพิมพ์ ขุนทอง และอัปรูปใบเสร็จเข้ากลุ่มแชท แล้วเลือกสมาชิกในกลุ่มที่จะร่วมหารบิลนั้น ๆ ก็เป็นอันจบ นอกจากนั้น ขุนทองยังรับหน้าที่ติดตามให้ ใครที่ยังไม่จ่าย ขุนทองจะคอยช่วยเตือนให้ในทุกเช้าตอน 10 โมงจนกว่าจะจ่ายกันครบ (ส่วนถ้าใครจะ Leave Group หนีหนี้ออกไปเลย ทาง KBTG บอกว่า ขุนทองจะไม่ตามไปเก็บนอกรอบแน่นอน)
โดยวิธีการจ่ายนั้น สามารถเลือกได้ 4 วิธี ได้แก่
1. ผูกบัญชี K PLUS กับขุนทอง (ข้อดี คือกดจ่ายเงินได้เลย ไม่ต้องสลับหน้าจอแอปพลิเคชัน)
2. จ่ายด้วย K PLUS ขุนทองจะพาไปยังหน้าจอ K PLUS พร้อมใส่เลขบัญชีและจำนวนเงินให้ ผู้จ่ายแค่ตรวจสอบความถูกต้องและกดยืนยันการจ่าย
3. จ่ายด้วยโมบายแบงกิ้งอื่น และส่ง e-Slip ที่มี QR Code เข้ากลุ่มแชท (ถ้าสลิปที่ไม่มี QR Code จะใช้งานไม่ได้) ซึ่งขุนทองจะตรวจสอบความถูกต้องรายละเอียดการโอนเงิน ทั้งบัญชีผู้รับเงินและจำนวนเงินจาก QR Code
4. จ่ายด้วยเงินสด ขุนทองจะบันทึกการจ่ายให้เมื่อเจ้าของบิลกดยืนยันว่าได้รับเงินแล้วเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น เรายังสามารถใช้ขุนทองในด้านการบริจาคเงินได้ด้วย เช่น การพิมพ์คำว่า #covid19 ระบบก็จะแสดงตัวเลือกของมูลนิธิ โรงพยาบาล ฯลฯ และพาเราเข้าไปบริจาคให้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ความเรียลของ “ขุนทอง”
การขับเคลื่อนบริการ “ขุนทอง” ในครั้งนี้ นับว่าเป็นความต้องการผลักดันให้ชื่อของธนาคารกสิกรไทยเบลนด์อินเข้าไปอยู่ในบทสนทนาและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ผ่านกรุ๊ปแชท ในแง่ของรายได้ “ขุนทอง” อาจจะไม่ได้สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่นี่นับเป็นอีกโปรดักท์ที่สะท้อนให้เห็นว่ากสิกรไทยเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่ทุกวันนี้ มักมีการปาร์ตี้-แฮงค์เอาท์ หรือออกเดินทางท่องเที่ยวร่วมกัน แต่เวลาหารเงินค่าใช้จ่ายกัน เป็นมหากาพย์ทุกที
จุดเด่นของ “ขุนทอง” อยู่ที่รายละเอียดของการหารที่มีทั้งกำหนดได้ว่าทุกคนหารเงินเท่ากัน หรือหารเฉพาะเมนูที่ตัวเองรับประทานเท่านั้นก็ได้
นอกจากนี้จากการใช้งานจริง จะเห็นได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาของขุนทองมาอย่างดี ทั้งการใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “น้อง” หรือการพยายามทำความเข้าใจบริบทของเนื้อหาที่สมาชิกในกลุ่ม (ในส่วนนี้อาจจะยังเข้าใจได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็สามารถโต้ตอบกับสมาชิกคนอื่น ๆ ได้อย่างน่ารักทีเดียว)
ความกวนก็คือ ถ้าหากว่าจ่ายเงินไม่ครบตามจำนวณ “ขุนทอง” ก็รู้ว่ายังจ่ายไม่ครบ – ถ้าจ่ายไม่ครบ หรือยังไม่จ่าย จะโดนทวงในกรุ๊ปรวมทุกเช้า (หรือประจานนั่นเอง ฮา…)
แต่ไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะ KBTG บอกว่า ภายในปลายปีนี้ขุนทองจะทำได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหลาย ๆ บิลพร้อมกัน, การเก็บเงินกลุ่ม หรือเงินห้อง รวมถึงการเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่นคนที่ต้องหาร Netflix กับเพื่อน ๆ ก็ได้ ซึ่งจากฟีเจอร์ที่กล่าวมา ทำให้ทาง KBTG ตั้งเป้าตัวเลขผู้ใช้งานขุนทองภายในสิ้นปีนี้ว่าควรจะแตะ 600,000 คน ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องยาก เห็นได้จากการเลือกเปิดตัวบนแพลตฟอร์ม LINE ที่มีผู้ใช้งานในไทยแล้วกว่า 45 ล้านคนก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดี นอกจากนี้ ยังพร้อมพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆ เข้ามาตามเสียงเรียกร้องของผู้ใช้งานจริง ตามสไตล์บริษัทย่อยที่มีแนวคิดสตาร์ทอัพ เพราะโจทย์สำคัญก็คือ การทำให้ “ขุนทอง” ใช้ง่ายจริง และเข้ากับกิจกรรมต่างๆ ของผู้ใช้งาน อย่างเช่นการจ่ายบิลหลายใบในเวลาเดียวกันที่ตอนนี้ยังทำไม่ได้
เกมนี้ KBank ได้อะไร
นอกเหนือจากเรื่องของการสร้างแบรนด์แล้ว “ขุนทอง” เป็นอีกหนึ่งในเครืองมือที่ช่วยผลักดันให้แอปพลิเคชัน K Plus ของธนาคารกสิกรไทย มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยทางธนาคารคาดหวังว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้งาน 13 ล้านคนจะก้าวขึ้นไปเป็น 15 ล้านคนได้ภายในสิ้นปีนี้นั่นเอง
ส่วนใครที่ทดลองใช้ขุนทองช่วยเคลียร์บิลในกรุ๊ปขั้นต่ำ 150 บาท รวมสมาชิกในบิล 3 คนขึ้นไป และจ่ายเงินครบผ่านวิธีผูกบัญชีกับขุนทอง, K PLUS หรือส่ง e-Slip เข้ากลุ่ม ตั้งแต่ 15 มิ.ย.-16 ส.ค. 63 ทาง KBTG บอกว่า จะมี e-Voucher Shopee มูลค่า 50 บาทแจกด้วย (สิทธิมีจำนวนจำกัด)