วิกฤติ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งเศรษฐกิจ การค้าขาย และการใช้ชีวิตของผู้คน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ไม่มีสูตรสำเร็จแก้ปัญหาจากตำรามาร์เก็ตติ้งเล่มเดิม เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น New Normal หรือ Next Normal สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ การสร้างโอกาสจากวิถีชีวิตใหม่ที่ผู้บริโภคคุ้นชิน โดยเฉพาะในธุรกิจ E-Commerce ที่ยังเติบโตได้อีกและไม่ใช่แค่ตลาดไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดสัมมนาออนไลน์ “New Normal E-Commerce” เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล แพลตฟอร์ม มาอัพเดทเทรนด์ผู้บริโภคและโอกาสต่อยอดการขายจากไทยไปตลาดโลก ยุค New Normal หลังโควิด
ในงานนี้ คุณสโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer บริษัท Rabbit Digital Group จำกัด ดิจิทัลเอเยนซี ร่วมให้มุมมองเรื่อง สูตรสำเร็จ…ค้าออนไลน์ขายทั่วไทยไปทั่วโลก โดยบอกว่าสถานการณ์โควิด ที่เกิดขึ้นมาถึงวันนี้ คำว่า New Normal ถูกใช้เยอะมาก มากพอๆ กับคำว่า Big Data, Digital Disruption, Digital Marketing ในปีก่อนๆ
ปัจจุบันมีการพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น New Normal วิถีชีวิตใหม่ Now Normal วิถีชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ Next Normal สิ่งปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้อีก หรือ No Normal ไม่มีอะไรปกติ เพราะการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เกิดจาก Digital Disruption เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว
“4 เฟส” การเปลี่ยนแปลงจากโควิด
หากดูสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค จากข้อมูลการวิจัยของหลายสถาบัน แบ่งออกเป็น 4 เฟส
เฟส 1. Lockdown เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ที่รัฐบาลประกาศ Lockdown ปิดน่านฟ้า ปิดสถานที่ต่าง ๆ ขอความร่วมมือให้คนไทยอยู่บ้าน Work from Home เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ถือเป็นภาวะ “ช็อก” ของผู้ประกอบการที่ต้องหยุดทำธุรกิจทันที!
เฟส 2. Caution ช่วงเฝ้าระวัง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ภาครัฐเริ่มผ่อนปรนให้ธุรกิจกลับเปิดอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
เฟส 3. Recovery ช่วงการฟื้นตัว ซึ่งก็คือสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ได้ผ่อนปรนให้ทุกธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้แล้ว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น แต่ยังต้องระวังการระบาดซ้ำ (Second Wave)
เฟส 4. Normal สถานการณ์ปกติ ที่เรียกว่า New Normal หรือ Next Normal การกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่พฤติกรรมไม่เหมือนเดิม
5 เมกะเทรนด์หลังโควิด
สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมๆ ของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Megatrends เกิดขึ้นมา 5 สิ่งสำคัญ
1. Health is Wealth สุขภาพเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับ Well being จะได้รับความสนใจและเติบโตอย่างมาก
2. Green is the New Back สิ่งแวดล้อมยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แม้จะหยุดไปในช่วงโควิด แต่เมื่อเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การดูแลสิ่งแวดล้อมจะกลับมา
3. Mix Work & Living คนเริ่มทำงานที่บ้านมากขึ้น และจะบาลานซ์การใช้ชีวิตที่บ้านกับการทำงาน
4. On Demand Economy ช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคต้องใช้บริการอีคอมเมิร์ซจำนวนมากและมีความคุ้นชิน หลังกลับสู่ภาวะปกติบริการจะถูกยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นอีก จากความคาดหวังของลูกค้าที่มีมากขึ้น บริการส่งของต้องเร็ว สะดวก แพ็คเกจจิ้งต้องได้มาตรฐาน ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ
5. Space is Luxury วิถีชีวิตช่วงโควิดคนอยู่บ้านมากขึ้น จึงเริ่มชินกับการทำงานที่บ้าน แม้จบโควิดแล้วหลายบริษัทในต่างประเทศ ประกาศออกมาแล้วว่าจะเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อได้ ในประเทศไทยก็จะมีคนทำงานที่บ้านบางส่วนเช่นกัน ดังนั้นพื้นที่อยู่อาศัยในบ้านจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ค่าที่ดินแพง พื้นที่อยู่อาศัยมีขนาดจำกัด หากสินค้าที่ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ดี หรือพับเก็บได้ จะได้รับความสนใจ ถือเป็นดีมานด์ใหม่ที่เกิดขึ้นหลังโควิด
จากแนวโน้มทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหลังโควิด หากผู้ประกอบการ แบรนด์ และเอสเอ็มอี สามารถหยิบเทรนด์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจก็มีโอกาสเข้าถึงดีมานด์ใหม่ๆ หลังโควิดได้
ผู้บริโภคพร้อมจับจ่ายหลังโควิด “อีคอมเมิร์ซ”คือโอกาส
หลังสถานการณ์โควิด จากการวิจัยผู้บริโภคพบว่ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายดังนี้ ใช้ชีวิตปกติทำทุกอย่างเหมือนเดิม 31%, ใช้จ่ายมากขึ้นแต่เป็นไปอย่างระมัดระวัง 25%, ใช้ชีวิตจับจ่ายเหมือนช่วงโควิด 22%, ประหยัดและลดค่าใช้จ่าย 13% และใช้จ่ายมากขึ้นเพราะอัดอั้นจากช่วงโควิด ต้องการใช้แทนช่วงที่ไม่ได้จับจ่าย 9%
เห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติและใช้จ่ายมากขึ้น นี่คือโอกาสที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมกลยุทธ์ทำตลาดเพื่อดึงกำลังซื้อเหล่านี้ โอกาสหลังโควิดที่ชัดเจนคือ ทำให้ อีคอมเมิร์ซ ที่กลายเป็นช่องทางหลัก (Mainstream) การทำธุรกิจ ก่อนโควิดหลายคนไม่เคยซื้ออีคอมเมิร์ซมาก่อนก็มีประสบการณ์ ช่วงโควิด ทราฟฟิกอีคอมเมิร์ซทั่วโลก เติบโตก้าวกระโดด จากเดิมคนเข้าเว็บอีคอมเมิร์ซ 1,200 ล้านครั้งต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ล้านครั้งต่อวัน เติบโต 20%
ข้อมูล Lazada ประเทศไทย บอกเช่นกันว่า ช่วงที่โควิดระบาด transaction เพิ่มขึ้น 100% คนใช้เวลาซื้อของนานขึ้นเฉลี่ย 11 นาทีต่อครั้ง ปกติค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 นาที มีผู้ค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 60% ใช้อีวอลเล็ตครั้งแรก 5% มีพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มขึ้น 26,000 รายใน 1 เดือน หรือ 13% รวมมีผู้ค้ากว่า 2 แสนรายในแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าหลังโควิดถนนทุกสายจะวิ่งไปที่อีคอมเมิร์ซ และผู้ประกอบการต้องตามให้ทัน
จากไทยไปตลาดโลก ต้องทำ 4 ข้อ
ในยุคอีคอมเมิร์ซที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการค้าขาย จากแพลตฟอร์มออนไลน์เจาะตลาดได้ทุกที่ ยุคนี้จึงไม่ควรมองแค่ตลาดไทย แต่ต้องไปให้ไกลในตลาดโลก มี 4 ข้อสำคัญเป็นไกด์ไลน์
1. วิเคราะห์สินค้า ว่าโปรดักท์ที่จะขาย อยู่ในหมวดหมู่ที่ตลาดต้องการหรือไม่ หากอยู่ในธุรกิจที่ตลาดยังไม่มีความต้องการในช่วงนี้ ก็อาจต้อง Diversify หาสินค้าใหม่ แตกไลน์สินค้าใหม่ หรือปรับกลยุทธ์ใหม่
ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีกรณีตัวอย่างของแบรนด์ที่ปรับตัวได้ดี เช่น แบรนด์เสื้อผ้า GQ ช่วงโควิดยอดขายเสื้อผ้าแฟชั่นลดลง จึงปรับไลน์มาผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ จึงทำยอดขายได้สูง แม้ไม่มากเท่าเสื้อผ้า แต่ก็มีรายได้เข้ามาในช่วงวิกฤติ
การทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ต้องดูว่าคนจะใช้จ่ายเรื่องไหนมากที่สุดหลังโควิด ดูได้จากวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค หรือวิธีการหาเทรนด์สินค้าผ่านเครื่องมือฟรีอย่าง google trends มาช่วยวิเคราะห์ได้
2. ศึกษาตลาดที่จะไป โดยต้องรู้ว่าประเทศไหนสนใจสินค้าที่เรามีอยู่ เมื่อเจอตลาดเป้าหมายแล้วก็ต้องไปศึกษาเรื่องการยอมรับซื้อขายอีคอมเมิร์ซ (E-commerce adoption) มาน้อยแค่ไหน ปัจจุบันอันดับ 1 ในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย สัดส่วนอยู่ที่ 88% อันดับ 2 ไทย 82% เป็นการศึกษาเพื่อดูโอกาสการทำตลาดอีคอมเมิร์ซว่ามีมากน้อยแค่ไหน
3. รู้ที่ขาย คือดูว่าประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้าไปทำตลาด ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอะไร เพราะแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน เช่น Lazada, Shopee แข็งแกร่งในตลาดเอเชีย แต่ถ้าจะไปทั่วโลกกต้อง Amazon ebay ยังเป็นเบอร์หนึ่ง ไปจีน ก็ต้อง Taobao, Tmall
นอกจากนี้ต้องศึกษาว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์จากช่องทางไหน แต่ละประเทศพฤติกรรมแตกต่างกัน ไทยเป็นประเทศที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน โซเชียล คอมเมิร์ซ เป็นอันดับต้นๆ ส่วนประเทศ อื่นๆ มีทั้ง อี-มาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์แบรนด์
4. เตรียม Scale หากต้องการขายสินค้าทั่วโลก ต้องพร้อมทั้งสต็อกสินค้า ระบบโลจิสติกส์ ออเดอร์ เพย์เมนต์ ซึ่งแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการส่งของและคุณภาพสินค้า จึงต้องเตรียมจุดนี้ให้พร้อม
การเตรียมสเกล คือการเตรียมเรื่อง Platform Universe ให้เหมาะกับอีคอมเมิร์ซแลนด์สเคปของประเทศต่างๆ ที่จะไป นอกจากสินค้าแล้วยังต้องมี เครื่องมือการทำมาร์เก็ตติ้งและซื้อโฆษณา ที่ต้องเรียนรู้ด้วย
“วันนี้เราสู้ศึกในประเทศ แต่การไปตลาดโลกเป็นคนละสนาม เหมือนการแข่งขันฟุตบอลระดับดิวิชั่น กับพรีเมียร์ลีก จึงต้องเตรียมทีมให้พร้อม อีคอมเมิร์ซเป็นตลาดที่เปิดกว้างตลาดไทยยังมีศักยภาพโตได้อีก แต่ตลาดโลกใหญ่กว่ามากและต้องออกไปหาโอกาส”