จากการเดินหน้านโยบาย Digital Transformation ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อต้องมาเจอกับวิกฤติ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกกลุ่ม “ไทยพาณิชย์” ในฐานะองค์กรที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี จึงต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือลูกค้าและผู้บริโภคกับวิถี New Normal เริ่มด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood ใช้ฟรี แก้ pain point การเรียกเก็บค่า GP สูงในตลาด Ordering Food เพราะโปรเจกต์นี้มาด้วยโจทย์ CSR
สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องกักตัวอยู่บ้าน Work from Home ธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown “ร้านอาหาร” ไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้ ต้องกระโจนเข้าสู่บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่อาจไม่ใช่ทางรอด เมื่อต้องจ่ายค่า GP หรือส่วนแบ่งจากยอดขายในอัตรา 30-35% ขณะที่ผู้บริโภคต้องเจอค่าส่ง จากการสั่งอาหารในอัตราสูงไม่ต่างกัน ถือเป็น pain point ในตลาดแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ไม่มีตัวเลือกให้ผู้ใช้มากนัก
ปั้นแอป Food Delivery สัญชาติไทย
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่าตลอดช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาของสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้านและ Work from Home พฤติกรรมที่เห็นว่าจะเป็น New Normal ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ บริการเดลิเวอรี่ทุกรูปแบบ เริ่มจาก ฟู้ดเดลิเวอรี่ ในฝั่งของผู้บริโภคเองต้องมีภาระค่าสั่งอาหารที่กลายเป็น Cost of living เพิ่มขึ้น ส่วนร้านอาหารถูกเรียกเก็บค่า GP ในอัตราสูงเช่นกัน
ในฐานะองค์กรที่เป็นเสาหลักของสังคม SCB จึงมองความพร้อมของตัวเองที่พัฒนาเรื่องดิจิทัล แพลตฟอร์มมาอย่างต่อเนื่องจากนโยบาย Transformation ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสร้าง Digital Platform ที่ทำให้ผู้บริโภคมีต้นทุนสั่ง Food Delivery ต่ำลง อีกทั้งมีลูกค้า “ร้านอาหาร” หลายหมื่นร้านค้าอยู่ในมืออยู่แล้ว จึงใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท สร้างแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ชื่อ “Robinhood” (โรบินฮู้ด) ดำเนินการโดยบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X)
Robinhood เป็นแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่สัญชาติไทย เพื่อช่วยคนไทย ที่เริ่มต้นด้วยบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ใช้เวลาพัฒนา 3 เดือน โดยจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคมนี้ อนาคตจะขยายไปสู่บริการเดลิเวอรี่อื่นๆ
ใช้ฟรี ไม่เก็บค่า GP ค่าสมัคร แถมโอนไว
คุณอาทิตย์ บอกว่าจุดเริ่มต้นของแอป Robinhood ก็เหมือนชื่อ คือต้องการช่วยสังคม เป็นชื่อที่เขาตั้งเองและขอให้ทีมงานใช้ชื่อนี้ เพราะมาจากโจทย์ขององค์กรที่ต้องการทำโปรเจกต์ CSR ช่วยเหลือร้านอาหารและผู้ใช้บริการ เมื่อมาด้วยโจทย์นี้ Robinhood จึงไม่ได้แข่งกับใคร หรือต้องการเป็นที่ 1 แต่สร้างขึ้นให้เป็นทางเลือก ของคนในสังคม
เมื่อความตั้งใจของแอป Robinhood เพื่อช่วยสังคม จึงไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP จากร้านค้า ไรเดอร์ส่งอาหารไม่ต้องเสียค่าสมัคร แอปนี้จะแบ่งปันกันใน 3 ปาร์ตี้หลัก คือ คนสั่งอาหาร คนขี่มอเตอร์ไซค์ และร้านอาหาร เพื่อทำให้ระบบเป็นธรรม โดยขอให้ร้านอาหารดูแลคุณภาพและปริมาณให้สมราคา เพราะไม่ต้องจ่ายค่า GP และมีมาร์จิ้นที่ดีแล้ว คนสั่งอาหารจะจ่ายในราคาที่ไม่สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
ส่วนการจ่ายเงินทั้งหมดผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องเป็นบัญชีไทยพาณิชย์ก็ได้ หลังลูกค้าสั่งและไรเดอร์ส่งเรียบร้อย ภายใน 1 ชั่วโมง ระบบจะโอนเงินให้ ร้านอาหารและไรเดอร์
“เมื่อโจทย์แอป Food Delivery เริ่มต้นด้วย CSR จึงไม่ต้องเก็บเงินเข้ากระเป๋า เราไม่ได้ทำแอปเพื่อแข่งขันกับใครและไม่คิดเป็นแชมป์ จึงไม่เก็บค่า GP และทุกอย่างฟรีหมด หากคิดลงสนามแข่งก็จะมีต้นทุนเรื่องโปรโมชั่นเพื่อทำให้ชนะ แต่ SCB เชื่อในหลักการความเป็นธรรมและหาก Robinhood จะมีที่ยืนในตลาดเพียงส่วนเล็ก ๆ ก็พอใจที่ได้เป็นอีกตัวเลือกให้ทุกคนได้ใช้ในสิ่งที่ควรจะเป็นและราคาที่สมเหตุสมผล”
การเปิดให้บริการแอป Robinhood ในเดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์ มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร SKOOTAR ที่มีหลายหมื่นคัน และมองหาพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่ม ส่วนร้านอาหารช่วงเปิดตัวน่าจะมีกว่า 20,000 ร้านค้า และสิ้นปีกว่า 50,000 ร้านค้า ส่วนผู้ใช้บริการต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเพื่อดึงเข้าแพลตฟอร์ม
ต่อยอดปล่อยสินเชื่อร้านค้า-ไรเดอร์
ในมุมการต่อยอดแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood สุดท้ายแล้วหากแพลตฟอร์มมีผู้บริโภค ร้านค้าและพาร์ทเนอร์เข้ามาจำนวนมาก ก็สามารถแยกออกไปเป็นสตาร์ทอัพ สร้างบิสซิเนส โมเดลที่จะสร้างรายได้ในอนาคต ส่วนธนาคารก็สามารถปล่อยสินเชื่อกับทั้ง 3 ปาร์ตี้ที่มาอยู่ในแพลตฟอร์มได้
อีกทั้งการมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีตรงใจผู้บริโภคและร้านค้า อย่างฟู้ดเดลิเวอรี่ หากได้รับความนิยมมากขึ้น ก็จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่คนอยากเข้ามาเอ็นเกจด้วยจำนวนมากและใช้เวลานานขึ้น เพราะดิจิทัลแพลตฟอร์ม SCB Easy ทำเรื่อง transaction อย่างเดียวคนใช้บริการไม่ถึง 1 นาทีก็ออกจากแพลตฟอร์มแล้ว
โปรเจกต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood ทำให้เห็นว่าองค์กรอย่างธนาคาร มีความพร้อมสามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจต่างๆ ได้ และเป็นโครงการที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้สังคม ที่ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนกับร้านค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกันในยามยาก เพื่อช่วยให้รอดพ้นได้ในทุกวิกฤติ