มีงานวิจัยจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชี้ว่า เทคโนโลยี Facial Recognition หรือระบบจดจำใบหน้าที่มีการใช้งานนั้น มีโอกาสระบุตัวตนคนที่ไม่ใช่ชาวผิวขาวผิดพลาดสูง ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาแบนการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยเฉพาะในการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกาในเวลานี้
โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนในชื่อ the American Civil Liberties Union (ACLU) เกรงว่า ความผิดพลาดหรือความลำเอียงของระบบ Facial Recognition อาจทำให้เกิดการจับผิดตัว หรือทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นการประท้วงต่อการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำรายล่าสุดที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำรุนแรง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า สำนักงานศุลกากรและตระเวนชายแดนของสหรัฐอเมริกา (US Customs and Border Patrol agency : CBP) มีการส่งโดรนซึ่งปกติจะใช้บินสำรวจตามชายแดน มาบินในเมืองมินนิอาโปลิส ซึ่งเป็นเมืองหลักของการประท้วงด้วย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่า เป็นนโยบายตอบโต้ผู้ชุมนุมของทางการสหรัฐฯ ด้วยการใช้เทคโนโยลีเข้ามาสอดส่องความเคลื่อนไหว
เว็บไซต์ข่าว The Star รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วสหรัฐอเมริกานั้นสามารถเข้าถึงระบบจดจำใบหน้าได้ รวมถึงสามารถเข้าถึงกล้องวงจรปิดต่าง ๆ และโซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาบุคคลที่ต้องการได้ เพียงแต่อัลกอริธึมที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี Facial Recognition นั้นมีข้อจำกัด นั่นคือมันถูกเทรนผ่านชุดข้อมูลจำนวนหนึ่งเท่านั้น ทำให้มันอาจไม่ฉลาดพอที่จะระบุตัวตนบุคคลได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะใบหน้าของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว ที่ระบบอาจมีชุดข้อมูลไม่มากนัก
หนึ่งในบริษัทที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนประท้วงก็คือ Amazon เพราะเป็นบริษัทที่ออกมาแสดงจุดยืนต้านการเหยียดผิว แต่ในอีกด้านหนึ่งพบว่า Amazon เป็นบริษัทที่เปิดให้หน่วยงานภาครัฐจำนวนมากเข้าถึงระบบ Amazon Rekognition ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการวิเคราะห์ภาพ และคลิปต่าง ๆ เพื่อระบุตัวบุคคล หรือสิ่งของได้ ไม่เพียงเท่านั้น Amazon Rekognition ยังสามารถเปรียบเทียบ ค้นหา วิเคราะห์ภาพถ่ายใบหน้าได้อีกด้วย
ไม่เฉพาะ Amazon บริษัทเทคโนโลยีอีกหลายแห่งก็กำลังถูกกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้รักษาคำมั่นสัญญาในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงออกมาสนับสนุนลอย ๆ ด้วยคำพูดสวยหรูบนโซเชียลมีเดียอย่างเดียว