กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ จัดแถลงข่าวงานประกวดรางวัลธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ปี 2563 (Thailand Franchise Award : TFA 2020) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาเพิ่มสมรรถนะขีด ความสามารถและยกระดับให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ก้าวสู่การแข่งขันสอดรับเทรนด์วิถีชีวิตปกติแบบใหม่ New Normal พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ร่วมโครงการ
ภายในงานมีเสวนพิเศษ หัวข้อ “ แนวคิดสร้างสรรค์อัตลักษณ์ของแบรนด์(Brand identity)ในธุรกิจ แฟรนไชส์ไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านเครปและแพนเค้ก N&B บริษัท เอ็นบี กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด คุณกฤษฏ์ กาญจนบัตร เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์พรีเมี่ยมคาร์แคร์ Moly Care บริษัท คาร์แลค(ไทย- เยอรมัน)จำกัด คุณทินกฤต สินทัตตโสภณ เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านชานมไข่มุก Kamu บริษัท คามุ คามุ จำกัด
คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านเครปและแพนเค้ก N&B บริษัท เอ็นบี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องแบรนด์ของธุรกิจแฟรนไชส์ว่า ประสบการณ์ของลูกค้าจะสร้างการจดจำแบรนด์ ทั้งนี้ ด้วยระบบแฟรนไชส์จะทำให้เราขายชื่อแบรนด์ได้ เราต้องเข้าใจในธุรกิจแฟรนไชส์และมุ่งมั่นพัฒนาตนเองไปอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจเกือบทุกประเภทสามารถเป็น แฟรนไชส์ได้ถ้าเราพัฒนาระบบให้ดีตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขาย เพื่อลดอัตราการเสี่ยงในธุรกิจ
“ สำหรับเรื่องของการลดอัตราการเสี่ยงของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีหลายสาเหตุที่ต้องนำมาพิจารณา เช่น การลดความคาดหวังของผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ หลายรายต้องการตัวเลขการันตีรายได้ แต่เราไม่ควรสร้างความคาดหวัง สาเหตุเพราะทำเลที่ตั้งของร้านค้าแฟรนไชส์แต่ละที่มีทำเลแตกต่างกันความสามารถในการให้บริการและรายได้ย่อมต่างกัน การเลือกคู่ค้า หรือแฟรนไชส์ซี่ เลือกผู้ที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจก็เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะคู่ค้าต้องมีจุดยืนที่เหมือนกัน และเราต้องรู้จัก Core Strength ของตนเองว่าธุรกิจของเราว่าจุดขายคืออะไร เช่น ถ้าทำเลที่ตั้งคือจุดขาย เราก็ต้องช่วยคู่ค้าในการเลือกร้าน และควรต้องมีการแบ่งปันข้อมูลด้านการขายควบคุมทีมงานของเราในการให้บริการที่ดีกับคู่ค้า และต้องเป็น แฟรนไชส์ที่เข้าใจแฟรนไชส์ ด้วยกัน
“ ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นวิกฤตคือโอกาสของเรา ยกตัวอย่างเช่น หลังจากโควิด-19 มีลูกค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีความต้องการเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่จะทำอย่างไรให้มีรายได้ขึ้นมาและยั่งยืน เราต้องปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้ ถ้าเราตัวเล็กเราเคลื่อนไหวได้คล่องและเร็ว ที่สำคัญสร้างระบบให้ดี ถ้ามีความเสี่ยง แนะนำลดความเสี่ยงด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ 1.เลือกคู่ค้า 2.เลือกทำเลให้คู่ค้า และ 3. มีทีมสนับสนุนให้คู่ค้า”
ด้าน คุณกฤษฎ์ กาญจนบัตร เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ พรีเมี่ยมคาร์แคร์ Moly Care บริษัท คาร์แลค(ไทย-เยอรมัน)จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจล้างรถพรีเมี่ยมของ Moly Care เปิดมาแล้ว 15 ปี โดยเน้นให้บริการคุณภาพโดยเริ่มจากการเลือก แฟรนไชส์ซี่ ที่ต้องมีความรักความหลงใหลและแรงผลักดันมุ่งมั่นในธุรกิจ ต่อมาคือการฝึกอบรมซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในธุรกิจแฟรนไชส์ และติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ถ้าไม่มีระบบ ไม่มีการจัดการ ไม่มีการติดตาม จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ เสียหายได้ และหากคิดว่าจะทำแฟรนไชส์เพราะคิดว่าอยากทำแต่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความมุ่งมั่นและไม่มีแรงผลักดัน ควรกลับไปทบทวนใหม่ เพราะจะทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในธุรกิจ
สำหรับหลักในการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์พรีเมี่ยมคาร์แคร์ ให้มีประสิทธิภาพ คือ เรื่องของ “คน” ควรต้องมีคนของเจ้าของอยู่ประจำร้าน ในกรณีที่เรายังไม่มีความพร้อมในเรื่อง “ระบบ” เรื่องที่ตั้งสถานที่ของร้านก็ต้องเหมาะสมทั้งในด้านราคาค่าเช่าและทำเลที่ตั้งของคู่ค้า เพราะจุดอ่อนของธุรกิจคาร์แคร์ คือสถานที่ ที่ต้องสะดวกมีพื้นที่สำหรับจอดรถ ในอนาคตข้างหน้ารูปแบบการให้บริการอาจต้องปรับเปลี่ยนเป็น Quick n Go มาเร็ว ล้างเร็ว และไปเร็ว” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
ทุกครั้งที่มีวิกฤตินั่นคือโอกาส ปัจจุบันวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายคนไม่อยากลงทุนทำอะไร แต่ตนมองว่ามีข้อดี 2 อย่าง คือ 1.คู่แข่งปิดตัวเร็วขึ้น และ 2.คนที่มีงานทำกำลังจะตกงาน และต้องมองหางานทดแทนมากขึ้น คนเหล่านี้ได้รับเงินก้อนจากการออกจากงานกะทันหันทำให้เรามีโอกาสมหาศาลที่ไร้คู่แข่งเพราะเขาไม่เคยทำธุรกิจจึงต้องมองหาธุรกิจรองรับ ดังนั้นการขยายสาขา และจัด Open House อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้แน่นอน พร้อมให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์คาร์แคร์ คือต้อง ทำธุรกิจแบบ S M L S คือ Service Mind มีใจรักการให้บริการ M คือ Money ต้องมีเงิน และ L คือ Location ต้องมีทำเลที่ดี
และปิดท้ายทางด้าน คุณทินกฤต สินทัตตโสภณ เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านชานมไข่มุก Kamu บริษัท คามุ คามุ จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการแฟรนไชส์ชานมไข่มุก Kamu ที่เปิดมาแล้ว 9 ปี ขยายสาขา 100 กว่าสาขา ทั้งในไทยและต่างประเทศ สำหรับจุดแข็งของ Kamu คือ “ความต่าง” เพราะว่าธุรกิจนี้มีคู่แข่งมาก ดังนั้น เราต้องเป็นคนที่ มีครีเอทีฟคิดเมนูใหม่ๆ ออกมาตลอด และเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการพัฒนา พยายามหาจุดแข็งและจุดต่างของแต่ละแบรนด์ และของเราเพื่อที่จะไม่ต้องไปอยู่ใน red ocean นอกจากนี้ต้องควบคุมเรื่องของคุณภาพซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อให้ธุรกิจยั่งยืน จากวิกฤติโควิดนี้ทำให้เราต้องปรับตัว ยอดขายช่วงวิกฤตินี้มาจากการบริหารจัดการด้าน Delivery เพราะคนอยู่บ้านไม่ออกไปไหนทำให้ Kamu มียอดขายที่เลี้ยงตัวได้
ความท้าทายของธุรกิจแฟรนไชส์มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจัยภายใน คือตัวเราและแฟรนไชส์ซีต้องมีความใส่ใจธุรกิจ มีการพัฒนาและควบคุมคุณภาพ ส่วนปัจจัยภายนอกคือสิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมยาก เช่นทำเลที่ตั้งจากที่เคยดี กลับกลายมาเป็นไม่ดี หรือการเกิดโรคระบาดวิกฤติโควิด เป็นต้น”
คุณทินกฤตมองธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคตว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ยังไปได้ดี แต่ถ้าจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของธุรกิจ ว่าเราทำเพื่ออะไร และต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยคิดถึงเป้าหมายของธุรกิจเป็นสำคัญ
วิทยากรทั้งสามท่านต่างให้มุมมองที่สอดคล้องกันในแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ที่สำคัญคือ “การพัฒนาตนเองและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” รวมทั้ง “การปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์” จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถไปต่อได้ แม้ในยามวิกฤติที่หลายคนยังไม่กล้าคิดที่จะก้าวต่อไป
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://bit.ly/Register_Thailand_FranchiseAward2020 ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 10 สิงหาคม 2563